ไอซีทีเปิดเทสต์ World IPv6 Launch ตั้งเป้าให้บริการได้ภายในปีนี้
ไอซีที เชิญร่วมทดสอบ World IPv6 Launch ตั้งเป้าให้บริการอินเทอร์เน็ตโปรโทคอลรุ่น 6 หรือ IPv6 ได้ภายใน ปี 55…
เมื่อ วันที่ 30 พ.ค. นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า ภายหลังกระทรวงฯ ประกาศนำประเทศไทยสู่ IPv6 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2554 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการหมดลงของหมายเลข IPv4 ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคแรกของโลก ที่จะทำให้การขยายตัว และการบริการอินเทอร์เน็ตในภูมิภาคนี้ประสบปัญหาอย่างมากในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตยุคหน้า (Next Generation Internet หรือ IPv6) ทั้งนี้ เพื่อให้การขยายตัวของอินเทอร์เน็ตในอนาคตสามารถทำงานร่วมกันบนเครือข่าย IPv6 และ IPv4 ได้
“การเข้าสู่ IPv6 นับเป็นการอัพเกรดอินเทอร์เน็ตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ซึ่งการดำเนินการปรับเปลี่ยนเครือข่ายไปสู่ IPv6 ให้ได้ผลที่ดีนั้น จำเป็นที่จะต้องเตรียมการและวางแผนอย่างเป็นระบบ” ปลัดไอซีที กล่าว
โดย ตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ฉบับที่ 2 ของประเทศไทย ปี 2552 - 2556 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การใช้ไอซีที เพื่อสนับสนุนการสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารและบริการของภาครัฐ มาตรการ 4.1 การสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบการผลักดันการใช้ไอซีทีใน การบริหารและบริการของภาครัฐ รวมถึงการพัฒนาบริการอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐแบบบูรณาการ โดยกำหนดกรอบนโยบายที่เกี่ยวกับข้อมูลและการสื่อสารข้อมูลที่สอดคล้องกับ มาตรฐานสากล เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างมีเอกภาพ และประสิทธิภาพ รวมถึงกำหนดกรอบนโยบาย และแผนการดำเนินงานเพื่อให้โครงข่ายภาครัฐสามารถรองรับการใช้งาน และให้บริการอินเทอร์เน็ตโปรโทคอลรุ่น 6 หรือ IPv6 ได้ภายใน ปี 2555 รวมทั้งประกาศนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติด้วย
ดังนั้น จึงร่วมกับสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย และผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารโทรคมนาคมต่างๆ วางแผนการดำเนินการ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เตรียมการ (ปี 2554 - 2555) ดำเนินการประเมินความพร้อมของเครือข่าย สร้างเครือข่ายการทดสอบ IPv6 ของประเทศ ดำเนินการทดสอบ IPv6 และดำเนินการฝึกอบรมแก่บุคลากร รวมถึงผู้ให้บริการการสื่อสารอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตลอดจนประกาศแผนปฏิบัติการ IPv6 ซึ่งยึดตามแผนปฏิบัติการ IPv6 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ
ระยะที่ 2 ดำเนินการ (ปี2556 - 2558) จะดำเนินการเปลี่ยนถ่ายจากเครือข่าย IPv4 ไปยังเครือข่ายที่สนับสนุนได้ทั้ง IPv4 และ IPv6 ในเครือข่ายและบริการภาครัฐ รวมถึงดำเนินการให้เครือข่าย IPv6 เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และจัดให้ทดสอบบริการอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่าย IPv6 เพื่อให้แน่ใจว่าอินเทอร์เน็ตของประเทศไทยมีมาตรฐานและความมั่นคง
ใน การดำเนินการระยะที่ 1 เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมานั้น ได้จัดการทดสอบในงาน World IPv6 Day ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าทุกภาคส่วนตระหนักในปัญหาการขาดแคลนหมายเลข IP โดยผู้ร่วมงานครั้งนั้นให้ข้อมูลว่า หน่วยงานส่วนใหญ่พร้อมและจะเริ่มใช้งาน IPv6 ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากอุปสรรคในด้านความพร้อม ด้านบุคลากร อุปกรณ์ และโปรแกรมประยุกต์ใช้งาน ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่หน่วยงานต่างๆ ถึง70% มีความกังวลว่าอาจจะไม่รองรับการทำงานบนเครือข่าย IPv6
สำหรับ ในปีนี้ทั่วทั้งโลกได้พร้อมใจกันให้บริการผ่านเครือข่าย IPv6 ในวันที่ 6 มิ.ย. 2555 ภายใต้ชื่อว่า World IPv6 Launch โดยในวันดังกล่าวทั้ง Google Facebook Yahoo และผู้ให้บริการรายอื่น ๆ รวมถึงผู้ค้าอุปกรณ์ และองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลกจะเริ่มให้บริการผ่านเครือข่าย IPv6 ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่เป็นเพียงการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นก็ปิดการใช้งาน IPv6
ขณะที่ ส่วนของรัฐบาลจะนำบริการภาครัฐเข้าร่วมทดสอบความพร้อมในวัน World IPv6 Launch ดังกล่าวด้วย โดยมีเข้าร่วมทดสอบแล้วจำนวน 33 หน่วยงาน ทั้งนี้ หลังจากวันเริ่มทดสอบ World IPv6 Launch 2012 แล้ว จะจัดให้มีงาน Thailand IPv6 Conference Day 2012 ในวันที่ 26 มิ.ย.2555 เพื่อนำผลและประสบการณ์ในการทดสอบดังกล่าวมาเสนอและแลกเปลี่ยนร่วมกัน ทั้งนี้ กระทรวงฯ ขอเชิญเข้าร่วมการทดสอบ IPv6 ได้ในวันที่ 6 มิ.ย. 2555 โดยติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.ipv6.ega.or.th และ http://www.worldipv6launch.org