กูเกิลปักธง ลุยแดนมังกร

กูเกิลปักธง ลุยแดนมังกร

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 มิถุนายน 2547

   [b]สำนักข่าวเอพีรายงานการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในบริษัทเสิร์ชเอนจินสัญชาติจีน ไบดูดอทคอม (Baidu.com Inc.) จากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนว่า ตามแผนการขยายอาณานิคมไปทั่วโลกของกูเกิล ที่เริ่มส่งกูเกิลเวอร์ชันภาษาจีนออกมาเมื่อข่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดกูเกิลเดินหน้า เริ่มซื้อหุ้นบางส่วนใน Baidu.com เสิร์ชเอนจินชั้นนำของจีนไปแล้วเรียบร้อยแล้วเมื่อวานนี้ (15 มิย. 47)[/b]
   
   โรบิน ลี (Robin Li) ผู้บริหารของ Baidu.com ออกมากล่าวยืนยันการรายงานข่าวของสำนักข่าวในสหรัฐฯ ที่ระบุว่ากูเกิลเป็นหนึ่งในบรรดานักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัทสัญชาติจีนนั้นเป็นความจริง แต่ลีปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องสัดส่วนในการเข้าถือหุ้นของนักลงทุนแต่ละราย
   
   "การเข้าถือหุ้นของกูเกิลนั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงสิทธิในการบริหารควบคุม Baidu.com” ลีกล่าวกับนักข่าวผ่านโทรศัพท์ ต้นทางจากสำนักงานใหญ่ของ Baidu ในกรุงปักกิ่ง
   
   [b]แต่ทางด้านกูเกิล กลับปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใดๆ[/b]
   
   [b]Baidu นั้นเป็นเสิร์ชเอนจินที่ใหญ่ที่สุดของจีน จุดที่สำคัญก็คือ การเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของกูเกิลในประเทศจีน จุดเด่นของ Baidu นั้นอยู่ที่เครื่องมือเสิร์ชเพลง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือเสิร์ชเบอร์หนึ่งของจีนเลยทีเดียว[/b] แต่เมื่อการแข่งขันที่ดุเดือดระหว่างบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตด้วยกันเกิดขึ้น อย่างเช่น Sohu.com และ Sina.com ทั้งสองต่างก็ผันองค์กรของตัวเองมาเป็นบริษัทมหาชนด้วยการนำหุ้นของบริษัทออกสู่ตลาดแนสแดค (Nasdaq) ซึ่งครั้งนี้เท่ากับว่าถึงคราวของ Baidu ที่จะปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อความอยู่รอดบ้าง
   
   ลีกล่าวย้ำอีกครั้งว่า การลงทุนครั้งนี้ของกูเกิล จะไม่มีผลต่อการบริหารงานของ Baidu แต่อย่างใด
   
   เขาบอกว่า [b]Baidu หวังว่าการเป็นพันธมิตรกับกูเกิลนั้นจะช่วยให้ Baidu สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเสิร์ชให้ดีเยี่ยมมากขึ้น แถมยังช่วยส่งชื่อ Baidu ให้ติดตลาดโลก ซึ่งจะทำให้มาร์เก็ตแชร์หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย[/b]
   
   "กูเกิลนั้นคร่ำหวอดในวงการเสิร์ชเอนจินมานาน ย่อมต้องรู้ระดับศักยภาพของเราดีกว่าใครๆ” 
   
   กูเกิลนั้นเพิ่งออกเวอร์ชันภาษาจีน และเริ่มให้บริการโฆษณา AdWords ในประเทศจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง
   
   คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่า เสิร์ชเอนจินจากแคลิฟอร์เนียอย่างกูเกิลจะสามารถเจาะตลาดเสิร์ชเอนจินในจีนได้หรือไม่อย่างไร