วิสัยทัศน์ 10 ปีของบิล เกตส์ กับโลกของไอที
ในช่วงที่ผ่านมา เผอิญผมได้อ่านบทสัมภาษณ์แบบเจาะใจเจ้าพ่อวงการซอฟต์แวร์ของโลกตัวจริงเสียงจริง ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก บิล เกตส์ ประธานบริหารของกลุ่มบริษัทไมโครซอฟท์ ที่เขาได้ให้สัมภาษณ์รอบพิเศษในช่วงปีใหม่ถึงแนวคิดของเขากับธุรกิจของไมโครซอฟท์ในรอบปีที่ผ่านมากับอนาคตของโลกไอทีในมุมมองของเขาให้กับนิตยสารฟอร์จูน โดยมี Brent Schlender มานั่งคุยกับเขาถึง 90 นาทีเลยทีเดียว
ประเด็นใหญ่ๆ ก็จะมุ่งเน้นไปยังเรื่องของผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาของไมโครซอฟท์ ที่สามารถฟันฝ่าช่วงวิกฤตของอุตสาหกรรมไอทีของตลาดโลก พร้อมกับมีการนำเอาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเสริมทัพผลิตภัณฑ์ให้กับธุรกิจที่มีบางอย่างทำได้ไม่ถึงเป้าหมายโดยเฉพาะในเรื่องของระบบปฏิบัติการวินโดวส์
หลังจากได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้ว ทำให้ผมต้องคิดใหม่ กับบิล เกตส์ คนนี้จริงๆ ที่เขามักจะมีมุมมองอะไรที่แบบว่ามองได้ไกล และถ้าทำตลาดได้แล้ว ก็จะกินยาวไปอีกนาน เหมือนกับที่เขาเคยทำได้มาแล้วกับวินโดวส์หรือว่าชุดโปรแกรมออฟฟิศ
ผมจึงถือโอกาสนี้ นำเอาคำถามบางคำถามและบทสรุปที่คิดว่าน่าจะทำให้หลายคนมองเห็นภาพแนวโน้มของธุรกิจไอทีว่าจะเป็นอย่างไร มาวิเคราะห์และเล่าสู่กันฟัง ไม่ว่าคุณจะเป็นคนใช้พีซีแบบโฮมยูสหรือว่าในแบบองค์กรก็ตาม
ยักษ์ใหญ่ขยับ กลไกตลาดเปลี่ยน
ก่อนอื่นผมอยากจะให้เข้าใจกันก่อนว่า ตลาดไอทีของโลกนั้นไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์หรือว่าฮาร์ดแวร์ นั้นมีกลไกควบคุมอยู่หลายชั้น และกลไกแต่ละชั้นก็จะมีการเชื่อมต่อไปสู่เครือข่ายไอทีย่อยๆ อีกมากมาย สุดท้ายกลไกทั้งหมดจะเชื่อมต่อเข้าหากันเป็นวงกลม โดยมีตัวจักรเชื่อมสำคัญคือ กลุ่มผู้บริโภค นั่นเอง ซึ่งทุกวันนี้ถ้าสังเกตให้ดี จะเห็นว่า วงการพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพื่อไล่ให้ทันเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะในเรื่องการพัฒนาชิปความเร็วสูงในบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์มือถือ โทรศัพท์มือถือรุ่นไฮเทค หรือเครื่องเล่นเกมรุ่นใหม่ๆ เราจึงเห็นซอฟต์แวร์อัพเดตกันแบบถี่ยิบ เรียกว่าไม่ถึง 3 เดือน ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็จะต้องอัพเกรดซอฟต์แวร์ของตนให้ยูสเซอร์เข้าไปดาวน์โหลดกันแล้ว พอครบปีก็จะออกนิวซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ที่มีฟีเจอร์ลูกเล่นใหม่ๆ มากมาย มากระตุ้นให้ผู้บริโภคได้น้ำลายไหล ต้องยอมควักกระเป๋าซื้ออยู่ได้ทุกปี
นอกจากนั้น ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อกลไกตลาดไอทีอย่างมากก็คือ ปัจจัยในเรื่องของระบบปฏิบัติการวินโดวส์นี่เอง อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ครับ เพราะเครื่องพีซีทุกเครื่องถ้าไม่มีซอฟต์แวร์ตัวนี้ มันก็เหมือนกับม้าที่ไม่มีจ๊อกกี้
ส่วนอานม้า หรือเครื่องประดับต่างของม้าและจ๊อกกี้ ก็เหมือนกับซอฟต์แวร์มัลติมีเดียอื่นๆ ที่เข้ามาเสริมการทำงานของวินโดวส์ให้ดูน่าใช้ มากขึ้น แต่ทั้งหลายทั้งปวง การจะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยได้หรือไม่นั้น ก็ต้องอยู่ที่ม้าและการควบคุมม้าของจ๊อกกี้เป็นหลักว่า สามารถควบคุมให้วิ่งได้ความเร็วและเข้าจังหวะกันได้สม่ำเสมอไปตลอดเส้นทางหรือไม่ นั่นคือประเด็นที่สำคัญ
ทุกครั้งที่ไมโครซอฟท์ประกาศจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์รุ่นใหม่ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ตัวใหม่ อย่าง Tablet PC ที่เพิ่งเปิดตัวไปล่าสุดนั้นล้วนแล้วแต่เป็นการส่งสัญญาณให้ตลาดไอทีได้รับรู้แล้วครับว่า ตอนนี้ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ของวงการไอทีไปอีกหนึ่งขั้นแล้ว โดยมีไมโครซอฟท์เป็นคนนำร่องและผู้นำตลาด ผลที่ตามมาขนาดใหญ่ก็คือ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ประเภทเสริมเขี้ยวเล็บให้วินโดวส์และฮาร์แวร์ทั้งหลาย ต่างก็ต้องมีการปรับตัวตามทันทีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ !
เมื่อยักษ์ใหญ่ขยับ รายย่อยก็ต้องแข่งขันกันขยับให้ทัน ก่อนที่จะตกรถไฟ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตรงนี้ก็เป็นข่าวดีสำหรับคนในวงการไอทีทั้งในแง่ผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะว่าวงการไอทีจะซบเซาลงในทันทีถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆออกมากระตุ้นตลาด ยอดขายก็จะตกลง รายได้ที่คาดการณ์ก็จะตกลง เหมือนกับที่ตลาดโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประสบมา เมื่อยอดขายพีซีตกลง ยอดขายของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ก็ไปไม่รอดเหมือนกัน ส่วนซอฟต์แวร์รายย่อยนั้นไม่ต้องพูดถึง เปิดตลาดไม่ได้ ก็ต้องขายได้แต่ลูกค้าเก่า แต่นั่นย่อมไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกับยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ !
ไมโครซอฟท์ประสบความสำเร็จหรือเปล่ากับธุรกิจอื่นๆ ?
คำถามนี้ยิงเข้าหาบิล เกตส์ โดยตรง เพราะเขาเป็นคนต้นคิดโปรเจ็กต์ทั้งหมดของไมโครซอฟท์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ยอดขายของวินโดวส์ตัวใหม่ๆ มีแต่ตกลงฮวบๆ เพราะคนไม่ค่อยสนใจที่จะซื้อวินโดวส์ใหม่มากนัก ตราบเท่าที่วินโดวส์เดิมก็ยังใช้ได้ และวินโดวส์ใหม่ๆ ยังไม่มีฟีเจอร์เด็ดๆ จูงใจให้คนหันมาเปลี่ยนใช้ในทันที
การที่ไมโครซอฟท์หันไปลงทุนในเรื่องของเครื่องเล่นเกมคอนโซล Xbox เพื่อแข่งขันกับเจ้าตลาดอย่างโซนี่ , การพัฒนาโปรเจ็กต์กล่องอัจฉริยะ Set-top boxes , เข้าไปสร้างเครือข่ายของ MSN ให้เป็น Web-service ยังมีการเข้าไปพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับในองค์กรขนาดเล็ก ( Small businesses ) และล่าสุดก็เข้าไปลงทุนในเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กอย่างพวกคอมพิวเตอร์พกพา และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทั้งหมดที่ทำไปก็เพื่อการชดเชยรายได้ที่หายไปของบริษัท เป็นการพยุงราคาหุ้นของไมโครซอฟท์ และเป็นการวางรากฐานใหม่ให้กับบริษัทในอีก 10 ปีข้างหน้า
เรามาว่ากันในเรื่องของซอฟต์แวร์ก่อน บิล เกตส์ บอกว่า เขาเองนั้นตั้งใจที่จะขยายขอบเขตของซอฟต์แวร์ออฟฟิศของไมโครซอฟท์ที่ในด้านโฮมยูสนั้นหายห่วง เพราะยังไม่มีคู่แข่งรายไหนเข้ามาแข่งขันกับเขาได้ในตอนนี้ แต่ว่ายังมีอีกตลาดหนึ่งที่เขาเองเห็นว่ามีศักยภาพมากในด้านการขยายตัวทั้งในปัจจุบันและอนาคต นั่นคือ ตลาดซอฟต์แวร์การบริหารออฟฟิศขนาดเล็กที่มีขีดความสามารถมากมายนอกเหนือไปจากงานด้านสเปรดชีตหรืองานด้านการนำเสนอที่มีใช้กันอยู่แล้ว
ตลาดที่ว่านี้หมายถึงซอฟต์แวร์ตระกูล Customer relationship management (CRM) หรือซอฟต์แวร์ในกลุ่ม Enterprise resource planning (ERP) ที่มีมูลค่าการตลาดมหาศาล และเขาคิดว่าในอนาคตบริษัททั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ก็จะหันมาใช้ซอฟต์แวร์บริหารองค์กรกันมากขึ้น ที่สำคัญราคาค่าติดตั้งของมันนั้นมหาศาลครับ ผมจำได้ว่าเคยเห็นองค์กรในประเทศไทยเรานี้ มีการนำซอฟต์แวร์ชุดนี้มาใช้ ต้องจ่ายเงินไปนับร้อยล้านบาทเลยทีเดียว แต่ผลที่ได้นั้นเห็นว่าทางองค์กรที่ยอมลงทุนไปคงจะเห็นว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว
เห็นตัวเลขแบบนี้ บิล เกตส์ก็เลยตั้งใจว่าจะพัฒนาโปรแกรมออฟฟิศของไมโครซอฟท์ให้มีการเพิ่มขีดความสามารถมากขึ้น นัยว่า คนทำงานในออฟฟิศต่างๆ จะสามารถนำเอาข้อมูลธุรกิจมาติดต่อสื่อสารกันได้ในแบบ 4 มิติ คือระหว่างบริษัทด้วยกัน และแต่ละบริษัทก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างครบวงจรในทุกส่วนขององค์กร รวมถึงในแง่ของผู้ซื้อกับผู้ขายของวงจรธุรกิจ
ส่วนธุรกิจที่เหลือนั้น บิล เกตส์ เขาบอกเลยว่าที่ผ่านมายังไม่มีกำไรอะไร เพราะว่าในการลงทุนของเขานั้น เขาต้องทุ่มเทเม็ดเงินไปกับแผนกวิจัย R&D ของบริษัทค่อนข้างมาก ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ในเรื่องที่จะให้ฟื้นทุนได้ภายในเวลาอันสั้นนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับเครื่อง PDA นั้นเขาก็บอกว่า ตลาดโลกทุกวันนี้มีคนใช้ซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือของไมโครซอฟท์ถึง 20 ล้านเครื่อง แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของการลงทุนวิจัยและพัฒนาสินค้าแล้ว มันก็ยังไม่ถึงจุดที่จะได้กำไร ทุกอย่างต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในกลุ่มนี้เหมือนกับคนที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของเขา มันเหมือนกับช่วงเวลาของการเรียนรู้ ที่เวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์
กับกรณีศึกษาครั้งสำคัญของเขาคือ การพัฒนากล่องอัจฉริยะนั้น ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ ก็เพราะว่า การเติบโตของธุรกิจด้านเคเบิลทีวี ไม่โตไปอย่างที่เขาตั้งใจไว้ เขาเตรียมความพร้อมทางด้านซอฟต์แวร์เอาไว้ แต่ในด้านรายการทีวี กลับไม่สามารถตอบสนองให้เป็นไปในทิศทางที่คาดหวังไว้ นั่นจึงเป็นบทเรียนที่ทำให้ไมโครซอฟท์ต้องหันมามองตลาด Interactive TV ใหม่ โดยอาจจะต้องลดขีดความสามารถของกล่องทีวีนี้ลง เพื่อให้ตลาดเคเบิลทีวีสามารถรองรับการทำงานได้ทันที เพราะการพัฒนาธุรกิจนี้ต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ในด้านวงการบันเทิงอีกมาก และนั่นเป็นสิ่งที่เขาควบคุมไม่ได้ ก็เลยต้องปล่อยให้ค่อยๆ โตไปตามกระแส ส่วนเขาก็ได้แต่พัฒนากล่องนี้ ให้มันทำงานได้แบบสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้นเอง
หรืออย่างกรณีเครื่อง Xbox นั้น การที่จะเอาชนะโซนี่กับเครื่องเพลย์สเตชัน 2 นั้นก็เป็นเรื่องไม่ง่ายและต้องใช้เวลาอีกเช่นกัน เพราะปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากด้านฮาร์ดแวร์ที่เขาสามารถควบคุมได้นั้นก็คือเรื่องของซอฟต์แวร์ เพราะถ้าไม่มีซอฟต์แวร์เกมดีๆ เครื่องเล่นเกมคุณภาพสูง ก็ไม่สามารถเปล่งอานุภาพออกมาได้ ทุกอย่างต้องสอดคล้องกัน ขณะเดียวกันค่ายโซนี่เองก็มีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้งเช่นเดียวกัน ดังนั้น การแข่งขันในภาพของเกมคอนโซล ก็คงต้องต่อสู้กันต่อไปโดยที่ยังไม่อาจบอกผลสรุปได้ในตอนนี้
กรณีนี้ ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ผมก็ยังเห็นว่า เครื่องเล่นเกม Xbox ถ้าจะขึ้นมาเทียบชั้นในด้านยอดขายกับโซนี่แล้ว ต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปีเป็นอย่างน้อย ดูอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้จะหาซื้อเครื่องเล่นเกม Xbox ในเมืองไทยนี่ยังหาได้ยากเลย ไม่รวมถึงซอฟต์แวร์ที่ไม่มีคนนำเข้ามาขายอย่างเป็นทางการ ตลาดของเครื่องเล่นเกมชนิดนี้ก็เลยค่อนข้างจะดับสนิทในโซนเอเซีย แม้กระทั่งในญี่ปุ่น ที่คนแดนปลาดิบส่วนใหญ่ก็ยังชาตินิยม นิยมเครื่องเล่นเกมของโซนี่ และนินเทนโดเป็นหลัก
ตอนนี้ตลาดของ Xbox ก็เลยต้องพุ่งเป้าไปยังโซนอเมริกาเหนือ และยุโรปเป็นตลาดหลัก ที่พยายามหาซอฟต์แวร์ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร พูดง่ายๆ คือ เกมในเครื่อง Xbox จะต้องพยายามไม่ให้มีซ้ำกับเครื่องเล่นเกมเครื่องไหนให้ได้ เพราะถ้าเกมที่ซ้ำกันแล้ว (ถึงแม้ว่าจะทำมาหลายเวอร์ชันก็ตาม) ก็จะไม่ทำให้เครื่องเล่นเกมขายได้ เพราะคนจะมีทางเลือกไปเล่นเครื่องที่ตนเองมีอยู่แล้วเป็นหลัก อย่างเช่นเกม Halo นั่นไงครับ บอกได้เลยว่าเกมนี้เป็นเกมดังสุดขีดที่ผลักให้ยอดขายของ Xbox เบียดกันมากับเครื่องนินเทนโดมาได้ ตอนนี้ก็เลยจะออกมาเกมภาค 2 ออกมา ซึ่งเรียกว่าเป็นความลับสุดยอดที่กะว่าออกมาเมื่อไหร่ ไมโครซอฟท์จะทำการผลักดันด้านการตลาดอย่างเต็มที่เลยทีเดียว
สินค้าของไมโครซอฟท์ในอนาคตเขามองที่อะไร ?
คำถามนี้ เขาอยากจะรู้ว่า ไมโครซอฟท์ในฐานะเป็นหนึ่งในกลไกหลักของตลาดของโลกซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ นั้น เขาคิดว่าจะเป็นอย่างไร คำตอบของบิล เกตส์ ก็คือ เขาบอกว่า ปัจจัยของธุรกิจไอทีในอีก 10 ปีข้างหน้านั้น ทั้งธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่จะมีการเคลื่อนตัวไปด้วยกันอย่างมีมิติเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนในด้านของสินค้านั้น ขอให้มองในเรื่องของ 5 ปัจจัยหลักคือ Wall-sized , Desk-sized , tablet - sized , Pocket -sized และก็ Wrist-sized พูดง่ายๆ ก็คือ สินค้าไอทีในอนาคตนั้น จะอยู่ในรูปแบบไลฟ์สไตล์แบบโมเดิร์นของคนรุ่นใหม่คือ มีรูปแบบสวยเก๋ ติดผนังได้แบบจอทีวีพลาสม่าติดผนัง พร้อมเครื่องเสียงติดผนังครบชุด อย่างนี้ เป็นต้น
สำหรับขนาดตั้งโต๊ะนั้น ก็ยังคงเป็นพีซีตั้งโต๊ะทั่วๆไป เพียงแต่ว่ามีการพัฒนาในเรื่องของรูปแบบให้ดูเพรียวบางลง ขณะที่ขีดความสามารถนั้นสูงขึ้น ส่วนในแบบ Tablet sized นั้นไม่ต้องพูดถึง เขากำลังจะบอกถึงเทคโนโลยีใหม่ของคอมพิวเตอร์พกพาที่จะมาแทนโน้ตบุ๊กในอนาคต คุณสามารถควบคุมการทำงานทุกอย่างได้โดยใช้ปากกา เหมือนกับสมุดออแกไนเซอร์ทั่วๆ ไป อย่างที่เขาเปิดมาแล้วใน Tablet PC
Pocket sized คือสิ่งที่เราเรียกว่าคอมพิวเตอร์มือถือ ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง PDA หรือว่าเครื่องโทรศัพท์มือถือ ล้วนแล้วแต่ยังจะต้องได้รับการพัฒนาไปอีกอย่างมาก เพื่อให้สมกับคำว่า Easy to use
ลองมาดูนี่ครับ Wrist sized หรือของไฮเทค แต่ว่ามีขนาดเล็ก ใช้สวมข้อมือ เขาก็ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าเขามีอุปกรณ์ไฮเทคที่สวมอยู่บนข้อมือคล้ายกับนาฬิกาข้อมือ ที่สามารถบอกสภาวะการจราจรให้ทราบได้ในแบบเรียลไทม์โดยที่ไม่ต้องถามคุณเลยด้วยซ้ำ เพราะมันจะรู้ว่าคุณกำลังจะเดินทางไปไหน เครื่องมือนี้ก็จะรายงานสภาพการจราจรให้คุณทันทีอัตโนมัติ ลองคิดดูแล้วกันว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ชีวิตของคุณทำงานได้ง่ายขึ้นแค่ไหน
สุดท้ายในประเด็นของเว็บเซอร์วิส นั้น บิล เกตส์ มองว่ามันก็เป็นธุรกิจที่ต้องมองในเรื่องของความแตกต่างของสินค้าเพื่อสร้างระบบให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการแล้วติดใจ ไม่อยากไปใช้บริการที่อื่น เหมือนกับสมัยก่อนที่เครื่องพีซีของ IBM นั้นดังสุดๆ เพราะว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของ IBM นั้นมีการออกแบบที่ไม่เหมือนใคร แตกต่างไปจากเครื่องพีซีที่ขายในร้าน Radio Shack ก็เลยทำให้ยอดขายของเครื่อง IBM กลายเป็นยอดขายมหาศาลเป็นอันดับหนึ่ง เช่นเดียวกันกับการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นซึ่งเป็นตลาดของการซื้อมาขายไป ดังนั้น สิ่งที่เขาต้องการก็คือ การสร้างความแตกต่างให้ลูกค้าเกิดความภักดีต่อบริการของเขา เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับ IBM
ปีแพะ บทพิสูจน์แรกที่ต้องคอยดู
มาดูที่ตลาดในเมืองไทยเราบ้าง ในภาพรวมแล้ว ผมว่าคงจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การเข้ามาของจอ LCD ที่มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนจอเดสก์ทอปของเครื่องพีซีแบบตั้งโต๊ะกันมากขึ้นพร้อมกับราคาที่ถูกลง พร้อมกับการรุกตลาดของเครื่อง PDA โดยเฉพาะเครื่องในตระกูลพ็อกเก็ตพีซี ที่นับวันยิ่งจะมีการแข่งขันรุนแรง ในราคาเครื่องที่ถูกลง แต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กที่ตอนนี้ราคาเริ่มจะต่ำจนถึงเพดานล่างแล้ว ตลาดเมืองไทยเรานั้นอิงตลาดเมืองนอกอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการนำเข้ามาขายในเมืองไทยเราเร็วหรือช้าเท่านั้น รวมทั้งเรื่องซอฟต์แวร์นั้น 90 เปอร์เซ็นต์เราก็ยังคงต้องพึ่งซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ปัจจัยทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นในตลาดไอทีบ้านเราก็ต้องจับตาดูตลาดอเมริกา เกาหลี ไต้หวัน และสิงคโปร์เป็นหลัก เพราะเป็นแหล่งผลิตสินค้าไอทีและเป็นแหล่งศูนย์กลางนำเข้าอุปกรณ์ที่สำคัญ