ไอซีทีลุยตลาดกลางอีเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระดมกำลัง

ไอซีทีลุยตลาดกลางอีเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ระดมกำลังกว่า1,000คนหวังฟื้นอี-คอมเมิร์ซ

โดย ผู้จัดการออนไลน์

  [b]กระทรวงไอซีทีเดินหน้าลุยโครงการอี-เล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เตรียมกำลังคนที่สังกัดทศท คอร์ปทั่วประเทศกว่า 1,000 คน โดยมีกลุ่มธุรกิจมัลติมีเดียเป็นแกนหลัก หวังกระตุ้นอี-คอมเมิร์ซที่ยังไปไม่ถึงไหน[/b] เผยพร้อมซอฟต์ลอนช์ปลายเดือนพ.ค.นี้ ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการและยิ่งใหญ่พร้อมบัตรสมาชิกกิตติมศักดิ์ในขั้นต่อไป
   
   นายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ด้านอี-คอมเมิร์ซ กล่าวว่า หลังจากที่มีการส่งแผนงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีเกี่ยวกับโครงการอี-เล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Marketplace) เพื่อฟื้นการทำธุรกิจด้านอี-คอมเมิร์ซเสร็จ และรมต.เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ความคืบหน้าของโครงการอยู่ระหว่างการจัดทีมงานที่จะดำเนินการ และคาดว่าลงตัวภายในสัปดาห์หน้า เพราะขณะนี้เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนแล้ว
   
   [b]"เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาเราเซ็ตกำลังคนขณะนั้นยังไม่ลงตัว เพราะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายกันหลายฝ่าย รวมถึงเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือด้วย จึงทำให้โครงการล่าช้าออกไปบ้าง แต่ขณะนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว คาดว่าจะเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการได้ปลายเดือนนี้ เพื่อให้รู้ว่าเราทำอะไร และมีอะไรบ้าง"[/b]
   
   การดำเนินงานโครงการดังกล่าวยจะอยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจมัลติมีเดียของทศท คอร์ปอเรชั่น เป็นหลัก เพื่อจะผลักให้เกิดทั้งตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส), การประมูลออนไลน์ (อี-ออกชัน), อี-วิดีโอ ออนดีมานด์ และวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ซึ่งคาดว่าจะใช้กำลังคนจากส่วนต่างๆ ของทศททั่วประเทศประมาณ 1,000 คน
   
   เหตุผลที่กระทรวงไอซีทีจัดทำโครงการนี้ เพราะต้องการลุยเรื่องอี-คอมเมิร์ซที่ยังไปไม่ถึงไหน เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนเหตุผลหลักและสำคัญที่ทำให้อี-คอมเมิร์ซไม่โต เพราะผู้ดำเนินการซึ่งเป็นภาคเอกชนไม่สามารถควบคุมได้ เนื่องจากนโยบายต่างๆ อยู่ที่รัฐบาล
   
   [b]ตามแผนงานของทศทในการปลุกกระแสอี-คอมเมิร์ซคือ ทศทจะเป็นทั้งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพี, เป็นทั้งแอปพลิเคชัน เซอร์วิสโพรวายเดอร์ (เอเอสพี), ทำวอยซ์ โอเวอร์ ไอพีทั้งในและนอกประเทศได้ทั้งหมด[/b] ซึ่งปลายปีนี้คาดว่าจะเริ่มมีผลงานออกมา โดยการสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ของอี-คอมเมิร์ซ และจะเป็นอะไรที่ต่างจากเดิม ที่มีเพียงการทำเว็บไซต์แล้วหารูปมาใส่ ตั้งราคาสินค้า เพราะการทำลักษณะนี้เป็นเพียง 10-20% ไม่ใช่คอมเมิร์ซเต็ม 100% เนื่องจากการทำอี-คอมเมิร์ซที่เต็มรูปแบบต้องเตรียมช่องทางการขาย และการตลาดด้วย ทศทจึงมีศักยภาพและความพร้อมมากที่สุดขณะนี้ เพราะมีทั้งเทคโนโลยี มีงบในการลงทุน และมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
   
   แผนของกระทรวงไอซีทีคือการใช้ทศทเป็นหัวรถจักรกระตุ้นอี-คอมเมิร์ซให้กลับมาอีกครั้ง ซึ่งการทำตรงนี้จะไม่มองแค่เรื่องเทคโนโลยี จะต้องหาช่องทางอื่นๆ มาเสริมให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโปรดักส์ ช่องทางการตลาด โปรโมชัน กลยุทธ์ต่างๆ จะมีการนำมาใช้หมด และต้องการสร้างให้มีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่บนหน้าเว็บ ซึ่งโครงการนี้ต้องมีออฟไลน์เข้ามาเสริมด้วย เพราะหากตรงนี้สำเร็จโครงการ "e" ต่างๆ ของรัฐบาลก็จะเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย
   
   ส่วนงบในการดำเนินการคาดว่าจะใช้ไม่มากนัก เนื่องจากทศทมีการลงทุนไว้พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์ด้านโทรคมนาคม บุคลากรด้านต่างๆ 
   
   เมื่อมีการฟื้นอี-คอมเมิร์ซให้กลับมา กระทรวงไอซีทีมีแผนจะทำให้แต่ละหมู่บ้านที่ได้เงินกองทุนจากรัฐบาลหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ค้าขายเป็น โดยนำระบบเหล่านี้เข้าไปปลั๊ก เนรมิตให้เกิดการค้า มีการสนับสนุนสินค้าหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หรือโอทอปอย่างจริงจัง เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่นอกจอคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องออฟไลน์ที่จะเข้ามาเสริมอีกมาก
   
   [b]"ด้านออฟไลน์เราเตรียมไว้กว่า 20 รายการ เช่น เกี่ยวกับสินค้าโอทอป และบัตรสมาชิกกิตติมศักดิ์ หรือ privilege card ที่จะทำให้กับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของบริษัทต่างๆ"[/b]
   
   หลังจากมีการซอฟต์ลอนช์โครงการเพื่อให้ตลาดรู้ว่าทศทมีบริการอะไรบ้างแล้ว จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการและยิ่งใหญ่พร้อม privilege card ในขั้นต่อไป โดยจะเชิญนายกฯเป็นประธาน และเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย เพื่อที่จะทำให้เกิดกิจกรรมหรือธุรกรรมที่เป็นแอ็คชันต่อไป