ญี่ปุ่นทุ่มพัฒนามาตรฐานเน็ตใหม่ เชื่อเป็นเจเนอเร..

ญี่ปุ่นทุ่มพัฒนามาตรฐานเน็ตใหม่ เชื่อเป็นเจเนอเรชั่นถัดไปของอินเทอร์เน็ต

โดย ผู้จัดการออนไลน์

  แม้ WWW (World Wide Web) เพิ่งจะเกิดมาได้เพียง 15 ปี แต่เพราะมีความต้องการใช้สูงและเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดูได้จากอัตราการจดทะเบียนอินเทอร์เน็ตแอดเดรสใหม่ อีกทั้งการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้เริ่มมีคำถามเกี่ยวกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน
   
   ตัวอย่างของความหลากหลายในการใช้งานอินเทอร์เน็ตก็เช่น การสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์โมบายล์อื่นๆกับตู้เย็น, สวิตช์ไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่สำคัญคือต้องง่ายและปลอดภัย แม้เรื่องนี้จะยังไม่เกิดขึ้น แต่เชื่อว่าไม่นาน
   
   การทำงานหลายๆลักษณะสามารถทำได้บนเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่คนในวงการบอกว่า มาตรฐานอินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่นปัจจุบัน ไม่มีศักยภาพพอจะตอบสนองการทำงานบางอย่างที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ...

  [b]ถึงเวลาต้องอัพเกรด[/b]
   
   กลุ่มบริษัทซึ่งนำโดยบริษัทเอ็นทีที (Nippon Telegraph and Telephone Corp; NTT) และบริษัทเคดีดีไอ (KDDI Corp) เชื่อว่า โซลูชั่นที่จะมาช่วยแก้ปัญหาได้ก็คือ มาตรฐานใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน “Internet Protocol version 6” (IPv6)
   
   [b]IPv6 ช่วยให้มีอินเทอร์เน็ตแอดเดรสใช้งานแทบไม่จำกัด เทียบกับ 4 พันล้านแอดเดรสสำหรับเวอร์ชั่นปัจจุบัน[/b] อาจกล่าวได้ว่าเพียงพอสำหรับทุกๆอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน
   
   [b]IPv6 มีประสิทธิภาพสูงกว่า แต่กลับมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายกว่า[/b] ขณะที่เวอร์ชั่นปัจจุบันต้องการผู้ดูแลที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านซีเคียวริตี้ เช่น การเข้ารหัสข้อมูล (Encryption) จะถูกพัฒนาติดมาในตัว ต่างจากเวอร์ชั่นปัจจุบันที่เพิ่มเข้ามาทีหลัง
   
   “เร็วๆนี้บรอดแบนด์จะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเราเชื่อว่ามันจะเปิดประตูสู่อุปกรณ์และบริการใหม่ๆ ซึ่งต้องการเครือข่ายที่มีความปลอดภัยสูงกว่าในปัจจุบัน” ซาโตชิ อิชิยามา (Satoshi Ishiyama) รองประธานเอ็นทีทีคอมมิวนิเคชั่นส์ (NTT Communications) ผู้รับผิดชอบงานด้านบรอดแบนด์ของเอ็นทีที กล่าว
   
   [b]ทั่วโลกยอมรับ[/b]
   
   ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่เห็นความสำคัญของ IPv6 ในเอเชียมีจีน, ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ที่แสดงเจตนารมณ์ว่าจะทำการอัพเกรดเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตไปเป็น IPv6 ในอนาคต
   
   [b]ในสหรัฐอเมริกา กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Department of Defense) ประกาศว่า จะเลิกสั่งซื้ออุปกรณ์เครือข่ายที่ซัพพอร์ตมาตรฐานปัจจุบัน และเปลี่ยนไปใช้มาตรฐาน IPv6 ในปี 2008[/b]
   
   อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นคือผู้นำในฟิลด์นี้ อันได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลจากโครงการ “e-Japan” ซึ่งมุ่งสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อให้ทุกๆอุปกรณ์สามารถสื่อสารกันได้
   
   [b]คาดว่าอุปกรณ์ที่ซัพพอร์ต IPv6 จะเริ่มมีวางจำหน่ายในตลาดภายในปีนี้[/b] ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นประเมินว่าตลาด IPv6 จะมีมูลค่าสูงถึง 84.3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 31 ล้านล้านบาท) ในปี 2010
   
   “อุปสรรคใหญ่ของอินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่นปัจจุบันคือข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างเครือข่าย” จุง มูราอิ (Jun Murai) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเคโกะ (Keio University) ผู้นำการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศญี่ปุ่นและหัวหน้าทีมพัฒนา IPv6 กล่าว
   
   “โครงสร้างการสื่อสารควรได้รับการพัฒนาโดยประชาชน ... งานของเราคือการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นและเปิดกว้างสำหรับทุกสาขาอาชีพและทุกๆลักษณะการใช้งาน”
   
   [b]ยากที่เริ่มต้น[/b]
   
   สิ่งที่เอ็นทีทีและเคดีดีไอต้องผ่านไปให้ได้ในขณะนี้คือ การปลุกกระแส
   
   เอ็นทีทีและเคดีดีไอกล่าวว่า พวกเขาพร้อมแล้วสำหรับมาตรฐานเครือข่าย IPv6 บริษัทเอ็นทีทีได้เริ่มเปิดให้บริการ IPv6 ไปแล้ว ส่วนเคดีดีไอยังอยู่ระหว่างการทดสอบขั้นสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้กลางปีนี้
   
   อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าบริการที่สูงและการขาดแคลนซึ่งแอพพลิเคชั่น ทำให้ยากที่จะประเมินได้ว่าความต้องการมีมากน้อยแค่ไหน ยิ่งกว่านั้นการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ที่ซัพพอร์ตและพื้นที่ให้บริการที่จำกัด ยังส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคด้วย “ถ้าไม่ถูกและมีประโยชน์คุ้มค่า พวกเขาคงไม่ซื้อ” โทรุ มารุตะ (Toru Maruta) ผู้จัดการฝ่ายเครือข่ายไอพี บริษัทเคดีดีไอ กล่าว
   
   ทั้งเคดีดีไอและเอ็นทีทีพูดเหมือนกันว่า พวกเขากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้มาตรฐานอินเทอร์เน็ตเวอร์ชั่นเก่าและเวอร์ชั่นใหม่คอมแพ็ตกัน (ความสามารถในการทำงานร่วมกัน) เพื่อความราบรื่นของการทำงานในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี
   
   เคนจิ ทาซากิ (Kenshi Tazaki) นักวิเคราะห์จากการ์ตเนอร์ (Gartner) ให้ความเห็นว่า แม้เทคโนโลยีใหม่จะมีศักยภาพสูง แต่เขาไม่คิดว่าจะเป็นที่ยอมรับหรือมีการใช้งานอย่างแพร่หลายก่อนปี 2010
   
   [b]“กลุ่มผู้บริโภคที่เจาะยากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มคอร์ปอเรท เพราะพวกเขาจะอัพเกรดเครือข่ายก็ต่อเมื่อมันช่วยให้พวกเขาทำเงินได้มากขึ้น”[/b] ทาซากิกล่าวและว่า “ถ้าเพียงอัพเกรดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว พวกเขาคงไม่สน แต่ถ้ามันเกี่ยวกับยอดขาย พวกเขาเอาแน่”