เทรนด์ไมโครรอบปีนี้มุ่ง 3 แนวทางหลัก เชื่อระบบ

เทรนด์ไมโครรอบปีนี้มุ่ง 3 แนวทางหลัก เชื่อระบบ “ยูทิลิตี้คอมพิวติ้ง” กำลังมา

โดย ผู้จัดการออนไลน์

  นายใหญ่ “เทรนด์ไมโคร” ประกาศวิสัยทัศน์รอบปีนี้ มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจใน 3 แนวทางหลักคือ Network Integrating, EPS และ Service Enabling เชื่อระบบยูทิลิตี้คอมพิวติ้งกำลังมา โดยมี 6 รูปแบบของธุรกิจไอทีที่แนวโน้มมาแรง พร้อมแจ้งเกิด
   
   นายสตีฟ ชาง หัวหน้าฝ่ายบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทรนด์ไมโคร อิงค์ ผู้ให้บริการและผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสและระบบรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ เปิดเผยว่า แนวโน้มของเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการคอมพิวเตอร์หรือ Utility Computing ที่จะมาและน่าจะเกิด หลักๆ มีด้วยกัน 6 รูปแบบคือ
   
   [b]1. IP Service[/b] ที่จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
   
   [b]2. salesforce.com IPO[/b] ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงิน และเรื่องหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
   
   [b]3. IBM-On-Demand Computing[/b]
   
   [b]4. ไมโครซอฟท์ .NET[/b] ซึ่งเป็นเว็บเซอร์วิส
   
   [b]5. บริการประเภทความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์[/b] และเทคโนโลยีมือถือในการสื่อสารยุคที่ 3 หรือ 3G
   
   [b]6. ผู้ค้าอุปกรณ์เครือข่าย[/b] จะมีการพัฒนาระบบความปลอดภัยให้สอดคล้องกับยูทิลิตี้มากขึ้น
   
   [b]จากมุมมองและสิ่งที่ชางเชื่อ วิสัยทัศน์ที่จะดำเนินธุรกิจของเทรนด์ไมโครรอบปีนี้จึงมุ่งเน้นใน 3 แนวทางหลักคือ การให้บริการเกี่ยวกับ[/b]
   
   1. Network Integrating ซึ่งเป็นการให้บริการหลังระบบคอมพิวเตอร์มีการบูรณาการกันมากขึ้น
   
   2. Enterprise Protection Strategy (EPS) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ป้องกันไวรัสสำหรับองค์กร
   
   3. Service Enabling ที่จะให้บริการตามความต้องการของลูกค้า
   
   สำหรับบริการ EPS เป็นบริการควบคู่ไปกับการใช้ผลิตภัณฑ์ของเทรนด์ไมโคร ในการป้องกันไวรัส และการรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลแบบครบวงจร เนื่องจากไวรัสคอมพิวเตอร์ได้มีการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น จากช่วงชีวิตของการแพร่กระจายไวรัส (Outbreak Lifecycle) ได้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ เทรนด์ไมโคร จึงได้นำเสนอบริการครอบคลุม 3 ระดับโดยแบ่งการบริการออกเป็น 3 บริการ ประกอบด้วย 
   
   1. บริการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส (Outbreak Prevention Service)
   
   2. บริการโต้ตอบไวรัส (Virus Response Service)
   
   3. บริการประเมินความเสียหายและกู้ระบบ (Assessment and Restoration Service)
   
   บริการป้องกันการแพร่กระจายไวรัส เป็นบริการสร้างระบบป้องกันไวรัสก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด โดยมีการนิยามไวรัสเฉพาะตัวที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนั้น และออกนโยบายในการป้องกันการแพร่ระบาดให้องค์กรต่างๆ นำไปใช้งานเพื่อหยุดยั้งและจัดการการแพร่ระบาดไวรัสได้อย่างทั่วถึงทั้งเครือข่าย โดยนโยบายดังกล่าวนี้ออกโดยศูนย์วิจัย TrendLabs ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้บริการตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง (24x7 วัน)
   
   บริการโต้ตอบไวรัส เป็นขั้นตอนการสแกนไวรัสเฉพาะตัวที่นิยามไว้ในตอนแรกเท่านั้น ทำให้สแกนไวรัสได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว และสามารถตรวจจับไวรัสได้ โดยเทรนด์ไมโคร เป็นผู้ให้บริการรายแรกในอุตสาหกรรมที่เปิดบริการ การรับรองการโต้ตอบไวรัส (Virus Response Service Level Agreement) ภายใน 2 ชั่วโมง นับตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสนั้น โดยเทรนด์ไมโครส่งแพตเทิร์นไฟล์ไปให้ลูกค้าเพื่ออัพเดตระบบและป้องกันไวรัสตัวใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ได้อย่างทันท่วงที
   
   บริการประเมินความเสียหายและกู้ระบบ บริการนี้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 2 ผลิตภัณฑ์ คือ Damage Cleanup Server และ OfficeScan โดยการนิยามไวรัสและกำจัดไวรัสรูปแบบต่างๆ ได้ ทั้งไวรัส หนอนไวรัส และไวรัสม้าโทรจัน ที่อาจยังหลงเหลือในเครือข่ายซึ่งอาจกลับมาโจมตีได้อีกครั้ง รวมถึงกำจัดไฟล์ที่น่าสงสัยต่างๆ เช่น ไฟล์ล็อกอินเกสต์, รีจิสทรี้ในระบบ และหน่วยความจำบางส่วน ซึ่งเป็นไฟล์ที่ไวรัสแก้ไขเพิ่มเติมระบบ 
   
   นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันในการคัดเลือกจุดที่น่าสงสัย หรือจุดที่เป็นช่องโหว่ของระบบเครือข่ายเพื่อสแกนหาไวรัส และกำจัดให้สิ้นซาก ทั้งนี้ บริการประเมินค่าและกู้ระบบ ช่วยให้ฝ่ายบริการไอทีลดค่าใช้จายด้านระบบป้องกันรักษาความปลอดภัยลงได้ จากการจัดทำรายงานและแสดงผลการติดตามไวรัส และในส่วนของ Office Scan นั้น ผู้บริหารระบบสามารถสแกนและกำจัดไวรัสเครื่องเดสก์ทอปทุกเครื่องบนเครือข่ายจากเซิร์ฟเวอร์ส่วนกลางเพียงจุดเดียว
   
   พร้อมกันนี้ เทรนด์ไมโครยังมี Control Manager ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์จัดการจากศูนย์กลางในการประสานการทำงานของผลิตภัณฑ์ป้องกันไวรัสและระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลให้เข้ากับบริการทั้ง 3 บริการ
   
   ทั้งนี้ ส่วน Control Manager สามารถแสดงกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และทำหน้าที่เหมือนศูนย์สั่งการในการบริหาร และนำนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสมาใช้ได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสามารถทำรายงานแสดงการเกิดไวรัส และสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นบนเครือข่าย ในรูปแบบของกราฟที่ช่วยให้ผู้บริหารระบบสามารถวิเคราะห์และติดตามไวรัสได้ง่าย
   
   ที่ผ่านเทรนด์ไมโครได้มีการดำเนินการมาแล้ว 3 เฟสคือ 1.การให้บริการเพียงอย่างเดียว (Service Enablement) 2.การล่มสลายของระบบเครือข่ายภายในองค์กร (Death of The Intranet) 3.เป็นช่วงที่ระบบไอทีมีการผสมผสานเข้าด้วยกันมากขึ้น (Network Integration) ซึ่งเป็นเฟสที่เทรนด์ไมโครกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้