บางคนมีคูปองสามารถจดโดเมนเนมได้ในราคาไม่กี่สิบบาท หรือร้อยกว่าบาท บางคนซื้อโดเมนเนมเมื่อใกล้หมดอายุราคาถูกมากๆก็มี บางคนได้ฟรีจากการร่วมเล่นเกมส์ชิงโชค เหล่านี้ถือเป็นการเริ่มต้นแบบประหยัดต้นทุน สำหรับบางคนนั้นต้องการทำโครงการใหญ่ เปรียบเหมือนจะทำคอนโดมิเนียมหรูระดับห้าดาวกลางเมือง เขาก็ต้องซื้อที่ดินกลางเมืองในทำเลที่ราคาสูงลิบลิ่ว คนทำเว็บก็เหมือนกันถ้าแผนใหญ่ก็ต้องเลือกซื้อชื่อโดเมนเนมระดับห้าดาว จำง่าย ออกเสียงง่าย สะกดง่าย บอกต่อกันได้ง่าย ความหมายดี เพราะการได้ชื่อที่ดีมีความเข้ากันได้กับธุรกิจอย่างลงตัว เหมือนกับว่าได้เข้าใกล้จุดหมายแห่งความสำเร็จมากกว่าการใช้ชื่อโดเมนเนม ยาว จำยาก หรือมีข้อด้อยนาๆประการ บางคนอาจมองว่าเขาบ้า นั่นเป็นมุมมองแบบคนมองไม่เห็นโอกาสเหมือนคนอื่นๆทั่วๆไปมอง แต่ผู้ลงทุนเขารู้ทางได้ ทางเพิ่มรค่าอีกนับสิบๆร้อยๆเท่า ดังที่เคยๆเห็นข่าวการขายชื่อต่างๆ
จากนี้มาดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นสากลในการพิจารณาคุณค่าของโดเมนเนมในด้านราคาซื้อขาย… ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจจะไม่มีความจำเป็นหรือไม่ต้องคิดถึงเลยก็ได้ หากผู้จะจดชื่อหรือซื้อชื่อแค่มีความชอบหรือพอใจในชื่อหนึ่งๆ แต่ถ้าจะให้เป็นการยอมรับโดยทั่วไปต้องยึดหลักต่อไปนี้
ปัจจัยราคาโดเมนเนม 27 ข้อ เป็นแนวทางหลักๆในการพิจารณาราคาซื้อขาย
1.) ออกเสียงได้ หรือง่ายไหม
2.) สั้นยาวกี่ตัวอักษร เป็นคำเดี่ยว คำคู่ สามคำขึ้นไป หรือเป็นประโยค
3.) ถ้าใช้ตัวอักษรน้อยๆ เป็นตัวอักษรที่นิยมหรือมีค่าสูงไหม *นิยมใช้กับภาษาอังกฤษตามด้านล่างนี้ ที่ต้องมีกำหนดแบบนี้ก็เพราะมีชื่อโดเมนเนมตัวอักษรน้อยๆเช่นสาม สี่ ตัว ถ้ามี ตัวอักษรสวยๆใช้เป็นชื่อย่อบริษัท ทั่วไปบ่อยๆก็ได้ราคาดี เช่น AEC ย่อมแพงกว่า XQY …แต่ไม่แน่นะ แล้วแต่คนซื้ออีกแหล่ะ แต่พอใช้เป็นเกณฑ์หลวมๆตีราคาชื่อได้
A, B, C, D, E, F, G, H, I, L, M, N, O, P, R, S, T กลุ่มยอดเยี่ยม
J, K, U, V, W กลุ่มดี
Q, X, Y, Z กลุ่มพอใช้
4.) ใช้เพื่อทำเว็บและกำลังทำอยู่หรือไม่ หรือจดเก็บไว้ขายเฉยๆ
5.) ถ้ากำลังทำเว็บ ทำกี่หน้า
6.) ถ้ากำลังทำเว็บ เนื้อหาสร้างเอง หรือก๊อปปี้มาใส่
7.) โดเมนเนมเคยเอาไปทำเว็บมาก่อนหรือไม่
8.) โดเมนเนมก่อให้เกิดรายได้ในปัจจุบันทางไหน อย่างไร เท่าไหร่
9.) มีทางที่จะปรับปรุงหรือเพิ่มค่าอีกบ้างอย่างไร เช่นบอกทางเลือกได้ว่าเหมาะเอาไปทำเว็บอะไร อย่างไร ถึงได้ตังค์ดี หรือดูว่ามีคนรอรับซื้อแน่ๆไหม กี่ราย ประมาณว่าจะได้เท่าไหร่
10.) กลุ่มลูกค้าที่จะขาย หรือกลุ่มลูกค้าจะเข้าเว็บคือประมาณไหน
11.) โดเมนเนมนี้เป็นคีย์เวิร์ดค้นหาชนิดกี่ดาว คนค้นกันกี่ครั้งต่อเดือน แนวโน้มเป็นอย่างไร ค้นเพิ่มเรื่อยๆหรือลดลงเรื่อยๆ
12.) มีคีเวิร์ดคู่แข่งอะไรบ้าง เช่นจักรยานยนต์ ก็มีคู่แข่งเป็นมอเตอร์ไซด์ อันไหนคนค้นมากกว่าอันนั้นมีค่ามากกว่า
13.) ถ้าทำเว็บมีคู่แข่งสำคัญคือเว็บไหน แข็งแกร่งอย่างไร พอจะสู้หรือมีแผนธุรกิจดีกว่าอย่างไร … เืรื่องนี้ใช้แนวคิด และฝีมือ การโค่นยักษ์มีความเป็นไปได้เสมอ อิชิตันยังโค่นชาเขียวโออิชิมาแล้ว…
14.) สถิติหรือคะแนนในเว็บ Alexa เป็นอย่างไร
15.) ค่า PageRank (PR) ได้เท่าไหร่
16.) เป็นคำในพจนานุกรมหรือดิกชันนารี่ไหม
17.) โดเมนเนมเป็นภาษาอะไร
18.) ภาษาของโดเมนเนมเหมาะกันดีกับนามสกุลหรือไม่ อันนี้ถ้าเป็นโดเมนไทยให้ข้ามไปได้ไม่ต้องพิจารณา
19.) มีแบ๊คลิ้งค์เข้าโดเมนเนมนี้เท่าไหร่ ถ้าจดใหม่ๆจะไม่มีเลย
20.) โดเมนเนมที่ชื่อคล้ายๆกันขายได้ไหมที่ผ่านมา หรือชื่อเหมือนต่างนามสกุล
21.) เป็นแบรนด์หรือติดเป็นเทรดมาร์คเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการหรือไม่
22.) โดเมนเนมอยู่ในเทรนด์หรือมีโอกาสตกกระแส… เช่นตุ๊กตาเฟอบี้ก็ตกระแสแล้ว หรือคำว่าออกเทป ก็ไม่ได้แล้ว เพราะเดี๋ยวนี้เป็นแผ่นซีดี ดีวีดี …
23.) จดมานานเท่าไหร่ ก็คืออายุเท่าไหร่ ถ้าแก่หน่อยจะดี เด็กๆไม่ดี แต่ก็ไม่แน่เสมอไป แก่ๆเก่าๆแต่โดนกูเกิ้ลแบนไว้ก็ไม่ดี
24.) โดเมนเนมนี้ในนามสกุลอื่นๆถูกจดไปแค่ไหนแล้ว ถ้ามีคนจดไปเยอะๆดี
25.) โดเมนเนมนี้ตั้งเป็นยี่ห้อได้ไหม ใช้เป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการได้ไหม… ส่วนใหญ่ได้ ก็มันมีอันเดียวในโลก เช่น ดอท.net ก็กลายเป็นชื่อบริษัท แปลงเป็นภาพโลโก้ก็คือเครื่องหมายการค้าหรือบริิการ จดกับกรมทรัพย์ฯผ่านแน่
26.) โดเมนเนมนี้ มีคนพิมพ์เรียกเข้ามาเองจากบราวเซอร์ไหม… เช่นคนจะค้นหาน้ำมันพืช เขาก็พิมพ์คำว่าน้ำมันพืชในช่องยูอาร์แอล โปรแกรมก็ใส่ .com ต่อท้ายให้อัติโนมัติ พอเปิดหน้าขึ้นมาก็มีหน้าแสดงข้อมูล อาจไม่ใช่เรื่องน้ำมันพืชก็ได้ แบบนี้เรียกว่าโดเมนเนมมี traffic ยิ่งมีมากยิ่งดี
27.) ถ้ามี traffic มีมาจากไหน เหมาะกับโดเมนเนมหรือไม่ ถ้าต่างภูมิภาคหรือมีความเป็นไปได้น้อยว่า พวกที่เข้ามาไม่สามารถก่อให้เกิดรายได้ก็ไม่ดี