ข้าวแกงข้างทาง50 บาทแล้วนะตัวเธอว์

ในยุค “ข้าวยากหมากแพง” สินค้าต่างๆ ขยับขึ้นราคากันเป็นทิวแถว อย่างไม่เกรงใจเศษเงินในกระเป๋าของคนธรรมดาที่หาเช้ากินค่ำ หากจะแวะเข้าตลาดสดเพื่อซื้อของสดไปหุงหาอาหารประทังชีวิตสักเมนูก็แทบกุมขมับ เพราะข้าวของทุกอย่างแพงขึ้นจนน่าใจหาย… “ยิงลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี อ้างว่า ข้าวของที่แพงขึ้นทุกวันนี้ เป็นผลพวงจากวิกฤติน้ำท่วมที่ผ่านมา คล้ายๆ จะให้ทำใจยอมรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น

             ไม่น่าเปลกใจเลยว่า "ข้าวแกง" หลังถูกสั่งให้ตรึงราคาไว้จานละ 25-30 บาท ไม่อาจสนองต่อความปรารถนาดีของหน่วยงานรัฐบาลที่อยากจะช่วยเหลือประชาชนให้ซื้ออาหารต่อมื้อถูกลงได้  "คม ชัด ลึก" สำรวจราคาข้าวแกงตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านข้าวแกงริมถนน ร้านข้าวแกงที่เปิดจำหน่ายอยู่ในปั๊มน้ำมัน อาคารพาณิชย์ ในตลาดสด และในศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า แทบทุกร้านมีการปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้นตั้งแต่ 5-10 บาทต่อจาน

  

             อย่างร้านขายข้าวแกงริมถนน ตั้งราคาเริ่มต้นที่ 30 บาท หากต้องการราดแกง 2 อย่าง ราคาขยับมาอยู่ที่ 35-40 บาท หากเพิ่มไข่ทอดหรือไข่ต้ม ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกจานละ 10 บาท หรือตกประมาณ 45-50 บาทต่อจาน ขณะที่ข้าวเปล่าปรับราคาขึ้นจากจานละ 5 บาท เป็น 7 บาท ส่วนแกงต่อถ้วยหรือต่อถุง ปรับราคาจาก 25 บาท เป็น 30-40 บาท ถ้าเป็นแกงส้มใต้ หรือแกงเหลือง ราคาจะเริ่มที่ถ้วยละ 30-60 บาท

   

             "ป้าพร" แม่ค้าขายข้าวราดแกงในตลาดสดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งย่านสายไหม บอกว่า จำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายข้าวราดแกงสูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ยจานละ 5-10 บาท เพราะวัตถุดิบที่ซื้อมาใช้ทำแกงประเภทเนื้อ หมู ปลา และอาหารทะเล รวมถึงแกงที่ปรุงยาก ราคาวัตถุดิบดังกล่าวมีราคาเพิ่มสูงขึ้นแทบทุกชนิด

  

             "หมู เกรดธรรมดากิโลกรัมละ 120 บาท หอยแมลงภู่กิโลกรัมละ 120 บาท จากเดิมแค่ 40 บาท ราคาปรับเพิ่มมา 3 เท่า มะนาวขณะนี้ลูกละ 8-10 บาท หากลูกโต 12 บาท ไก่สดกิโลกรัมละ 90 บาท ไข่ไก่เบอร์ 3 หากซื้อยกแผงตกราคาฟองละเกือบ 3 บาท หากซื้อไม่กี่ฟองตกฟองละ 5 บาท ผักก็แพงถั่วฝักยาว 50 บาทต่อกิโลกรัม คะน้ากิโลกรัมละ 40 บาท หอมแดง กิโลกรัมละ 80 บาท หากคุณภาพดีหน่อยกิโลกรัมละ 100 บาท พริกกิโลกรัมละ 80 บาท น้ำมันปาล์มขวดลิตร 43-45 บาท ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองนี่เลิกใช้มานานแล้วใช้น้ำมันปาล์มแทน" ป้าพรแจกแจงรายการสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น

  

             สุดท้ายราคาสินค้าที่สูงขึ้นก็ย่อมมาตกที่ผู้บริโภค ป้าพร ยอมรับว่า มีลูกค้าบ่นว่าขายแพง ก็ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าต้นทุนมันสูง ราคาอาหารสดก็แพงขึ้นทุกชนิด ค่าแก๊สก็ปรับขึ้นจากเดิมเคยซื้อถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาแค่ 280 เดี๋ยวนี้ถังละ 300 บาท หากเป็นขนาดถัง 48 กิโลกรัม เดิมถังละ 900 บาท เดี๋ยวนี้ 920 บาท ตอนนี้ได้ข่าวว่าแก๊สหุงต้มจะปรับเพิ่มอีก 2 เท่าตัว คงต้องขึ้นราคาข้าวแกงอีก

    

             เช่นเดียวกับ "สมยศ" เปิดร้านข้าวราดแกงพ่วงกับอาหารตามสั่ง ซึ่งเช่าอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งย่านวัชรพล ยอมรับว่า ปรับขึ้นราคาอาหารเพิ่มอีกจานละ 5 บาท มาได้ประมาณ 2 อาทิตย์ จากเดิมขายข้าวราดแกงอย่างเดียวจานละ 25 บาท ต้องปรับขึ้นเป็น 30 บาท หากราด 2 อย่างเดิม 30 บาท ปรับเป็น 35 บาท ไข่ทอด ไข่ต้ม จากเดิมฟองละ 5 บาท ปรับเป็น 10 บาท เพราะทนแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว

  

             "เห็นใจผมเถอะ มันไม่ไหวจริงๆ วัตถุดิบทุกอย่างแพงขึ้นหมด ทั้งผัก ทั้งเนื้อ ก่อนปรับราคาขาย ผมทำทุกทางแล้ว อย่างเช่นเมื่อก่อนผมมีน้ำพริกกับผักสดไว้ให้ลูกค้าทานฟรี ก็ต้องเลิกไป เพราะมะนาวมันแพง จะไปใช้มะนาวสังเคราะห์ก็ไม่อร่อย นี่ได้ข่าวว่าแก๊สหุงต้มจะปรับเพิ่ม 2 เท่าตัว ผมยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี อาจต้องปรับราคาขายขึ้นอีกอย่างน้อยเฉลี่ยจานละ 2-3 บาท" สมยศกล่าว  

  

             แม้ว่าการขายข้าวแกงของสมยศจะได้กำไรจากการลงทุนซื้ออาหารสดครึ่งต่อครึ่ง แต่หากรวมค่าใช้จ่ายหลักๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าลูกจ้าง ค่าแรงงาน และค่าอื่นๆ เรียกได้ว่า "เท่าทุน" แต่บางครั้งก็แทบ "ขาดทุน"

   สมยศ ยกตัวอย่างร้านของเขาปัจจุบันมีลูกจ้างภายในร้าน 4 คน ต้องจ่ายค่าแรงบวกค่ากินและค่าที่พักเฉลี่ยคนละ 1 หมื่นบาท รวมลูกจ้าง 4 คน เป็นเงิน 4 หมื่นบาท ค่าเช่าพื้นที่ร้านอีก 1 หมื่นบาท หมายความว่าในแต่ละเดือนเขาจะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเลี่ยงได้แน่นอน 5 หมื่นบาททุกเดือน นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายหลักในการซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารอีกไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันในการไปจ่ายตลาดเดือนละประมาณ 2 หมื่นบาท รวมเบ็ดเสร็จต้นทุนเฉลี่ยเดือนละ 1.2 แสนบาท หากจำหน่ายข้าวจานละ 30 บาท ต้องจำหน่ายให้ได้ถึง 4,000 จานจึงจะพอคุ้มทุน

  

             "ลองคำนวณดูนะ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในร้านของผมเฉลี่ยเดือนละ 1.2 แสนบาท ผมต้องขายให้ได้เดือนละ 4,000 จานถึงจะพอคุ้มทุน หมายความว่าวันหนึ่งต้องขายให้ได้อย่างน้อย 115 จาน แต่หากต้องการกำไรต้องขายให้ได้มากกว่านั้นอีกเท่าตัว ต้องแลกกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นอีก" นายสมยศขยายความ

  

             นอกจากปัญหาราคาต้นทุนอาหารสดที่ขยับราคาสูงขึ้น จนทำให้ร้านขายข้าวแกงต้องปรับราคาสูงขึ้นแล้ว ปัจจัยเรื่องค่าเช่าสถานที่ก็ยังมีส่วนทำให้ราคาข้าวแกงขยับสูงขึ้นไปตามค่าเช่าสถานที่ด้วย อย่างร้านขายริมถนนต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ย 2,000-3,500 บาท หากเป็นอาคารพาณิชย์บางแห่งสูงถึง 1 หมื่นบาท เช่นเดียวกับตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้าต่างๆ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน!!

(หมายเหตุ : อั้นไม่อยู่…'35-50’ข้าวแกงริมถนน : ทีมข่าวรายงานพิเศษรายงาน)

komchadluek.net/detail/20120319/125769/อั้นไม่อยู่…ข้าวแกงริมถนน3550.html