ปีนี้เราจะมีข้าวกินตลอดปีเย้ๆๆๆ

TDRIจี้รัฐเลิกจำนำข้าวแบกขาดทุนพุ่ง

“ทีดีอาร์ไอ” จี้รัฐทบทวนนโยบายรับจำนำข้าว หลัง 4 เดือนราคาต่ำไม่ถึงเป้า แบกสต็อกอ่วมขาดทุนพุ่ง ระบุระบายสต็อกยาก เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่งแถมกดราคาภายในประเทศตกต่ำ “ปราโมทย์” เผยออเดอร์ข้าววูบ 70% ผู้ส่งออกดิ้นซื้อข้าวพม่า ปากีสถานส่งออกแทน “ภูมิ” โบ้ย “บุญทรง” ทบทวนนโยบายจำนำข้าว ยันพร้อมรับหาก รมว.พาณิชย์ดึงงานจำนำข้าวไปกำกับดูแลเอง

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลดำเนินนโยบายรับจำนำมาประมาณ 4 เดือน ขณะนี้ สถานการณ์ราคาข้าวในประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำอยู่ที่ตันละ 12,000 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ตันละกว่า 500 ดอลลาร์

รัฐบาลต้องแบกภาระขาดทุน เพราะระบายข้าวออกจากสต็อกไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ ขณะที่ผู้ส่งออกก็มีปัญหาไม่สามารถแข่งขันส่งออกข้าวได้ เพราะราคาสูงกว่าคู่แข่ง ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนนโยบายรับจำนำข้าวดังกล่าว เพราะไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ ที่ต้องการให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศสูงขึ้นตันละ 15,000 บาท และราคาส่งออกรวมต้นทุนอยู่ที่ตันละ 800 ดอลลาร์

นายนิพนธ์ เชื่อว่า มีทางเดียวที่รัฐบาลจะขายข้าวได้ในราคาสูง ต้องรอให้เกิดภัยพิบัติและผลผลิตข้าวในโลกเสียหายเหมือนในปี 2551 ที่ขณะนั้น ราคาข้าวในตลาดโลกทะยานถึงตันละ 1,000 ดอลลาร์ แต่ขณะนี้ รัฐบาลไม่สามารถระบายข้าวออกได้ และต้องแบกภาระขาดทุนงบประมาณ ขณะที่ภาคเอกชนก็ไม่สามารถส่งออกได้เช่นเดียวกัน ส่วนชาวนาก็ไม่ได้ราคาสูงตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้ โดยข้าวเปลือกนอกโครงการวันนี้ราคาตันละ 8,000 บาทเท่านั้น

“ผมไม่อยากให้รัฐบาลคิดว่าการเป็นพรรคเพื่อไทย จะนำนโยบายของพรรคการเมืองอื่นมาใช้ไม่ได้ หากนักการเมืองไม่คิดถึงวิธีแสวงหาเงินมาหล่อเลี้ยงในทางการเมือง ทุกคนก็เห็นกันอยู่ว่านโยบายรับจำนำมันมีแต่ข้อเสีย” ดร.นิพนธ์กล่าว

ชี้ออเดอร์ข้าวหาย 70%

นายปราโมทย์ วานิชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวส่งออกไทยที่สูงขึ้นกว่าตันละ 500 ดอลลาร์ จากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ที่ดำเนินการมาประมาณ 4 เดือน ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม ราคาข้าวอยู่ที่ตันละกว่า 400 ดอลลาร์ ทำให้ขณะนี้ ผู้ส่งออกไทยต้องประสบปัญหาคำสั่งซื้อข้าว จากลูกค้าต่างประเทศหายไปถึง 70% จึงต้องปรับตัว โดยการไปซื้อข้าวจากประเทศปากีสถาน และพม่า ซึ่งมีราคาถูกมาส่งออกต่ออีกทอดหนึ่ง เพื่อรักษาลูกค้าไม่ให้หันไปซื้อข้าวจากคู่แข่ง

ตามที่นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่าข้าวไทยขายได้ราคาดีตันละ 610 ดอลลาร์ ทั้งที่ราคาดังกล่าวเป็นราคาเสนอซื้อขายกดดันกันในตลาด แต่มีการซื้อขายกันจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ ขณะที่เวียดนาม มีราคาข้าวถูกกว่าไทยตันละประมาณ 50 ดอลลาร์ แต่ขายข้าวได้หมด ปีที่แล้ว ก็ทำสถิติของประเทศส่งออกข้าวได้มากถึง 7 ล้านตัน

โรงสีจ่ายใต้โต๊ะขอจำนำข้ามเขต

นอกจากนี้ ยังมีโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำหลายราย พยายามวิ่งเต้นกับข้าราชการและนักการเมืองบางราย ยอมจ่ายเงินนับล้านบาท เพื่อให้ได้รับจำนำข้าวข้ามเขต เพราะขณะนี้ หลายพื้นที่ของประเทศไม่มีข้าวขาย เพราะถูกน้ำท่วมเสียหาย เฉพาะโรงสีในภาคกลางที่ต้องการข้ามเขตไปรับจำนำข้าวในภาคอีสาน มิฉะนั้น จะไม่มีงาน ไม่มีรายได้

เขายังคาดว่า โรงสีจะวิ่งเต้นขอรับจำนำข้าวข้ามเขตไปถึงประมาณช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่จะถึงนี้ เพราะผลผลิตข้าวในประเทศจะเริ่มออกสู่ตลาดอีกครั้ง

“โรงสีที่ทำงานโปร่งใส ส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าร่วมโครงการรับจำนำกับรัฐบาล เพราะลงทุนโรงสีมารายละ 200 ล้านบาท ก็อยากจะเป็นเถ้าแก่เอง คุยกับเกษตรกรโดยตรง เพราะคุยง่ายและได้กำไรมากกว่าการเข้าร่วมโครงการรับจำนำ ที่โรงสีมีบทบาทเป็นลูกจ้างของรัฐ ต้องเก็บข้าว และแปรสภาพข้าว ถึงความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ได้กำไรน้อยกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่าช่วงต้นโครงการรับจำนำ มีโรงสีเข้าร่วมโครงการน้อย นักการเมืองก็จะเข้ามาบีบข้าราชการว่าทำงานได้ไม่ตรงเป้า ข้าราชการก็ต้องมาหาวิธีแก้ เปิดให้โรงสีรับจำนำข้ามเขตบ้าง ให้โรงสีที่ถูกขึ้นบัญชีดำบางราย กลับมาร่วมโครงการได้ใหม่บ้าง” นายปราโมทย์กล่าว

อัดตั้งเป้าส่งออก 9 ล.ตันขาดข้อมูล

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้า จะส่งออกข้าวในปีนี้ ให้ได้ 9-10 ล้านตัน ใกล้เคียงกับที่ทำได้ในปีก่อน เป็นการตั้งเป้าที่ผิดไปจากพื้นฐานจริง และขาดข้อมูลสนับสนุน เพราะปี 2554 ไทยส่งออกข้าวได้มากถึง 10 ล้านตัน ไม่ใช่ข้าวที่มาจากการผลิตใหม่ทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งมาจากการระบายข้าวในสต็อกรัฐ ในราคาถูกตันละ 400 ดอลลาร์ ออกมาเป็นมากถึง 4,000,000 ตัน ในสมัยของนางพรทิวา นาคาศัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งขณะนั้น ทำให้เอกชนที่ซื้อข้าวต่อจากรัฐได้กำไรกันนับพันล้านบาท เพราะนำไปส่งออกในราคาสูงกว่าที่ซื้อมาจากรัฐราคาตันละ 580 ดอลลาร์ อีกทั้งปี 2554 โครงการรับจำนำที่ทำให้ราคาส่งออกข้าวสูงขึ้น ยังไม่ส่งผลมาก เพราะเปิดโครงการช่วงปลายปี

นายปราโมทย์ กล่าวว่า ปลายปี 2554 กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า รัฐขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งตนมองว่าในอนาคตยังไม่มีใครรู้ว่ารัฐจะขาดทุนน้อยลงหรือไม่ เพราะยังไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ มาเพิ่มเติม หากนำเงินจำนวนนี้ มาตั้งเป็นงบประมาณพัฒนาพันธุ์ข้าว พัฒนาเทคโนโลยีการปลูกข้าว เพื่อให้ประเทศไทยมีข้าวคุณภาพสูง ขายให้ลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้สูง ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวนาไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยากจนอยู่แล้วปลูกข้าวคุณภาพไม่ดี และขายในราคาถูกให้ประเทศยากจนด้วยกัน

เวียดนามประกาศท้าชิงส่งออกข้าว

ปี 2558 ไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แต่ขณะนี้ ยังไม่เห็นท่าทีของรัฐบาล ในการกำหนดแนวทางการพัฒนาการผลิตข้าวไทย เพื่อรองรับศักยภาพการแข่งขัน ขณะที่เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามที่เป็นคู่แข่งโดยตรง ประกาศตั้งงบประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท เพื่อวิจัยพัฒนาข้าวเวียดนาม ในการส่งออกข้าวเกรดดี

“พูดง่ายๆ ก็คือ เวียดนามประกาศท้าชิงตลาดข้าวกับไทยแล้ว ส่วนข้าราชการไทยยังใช้งบประมาณสูญเปล่า เรียกชาวนามานั่งอบรมในห้องแอร์ของโรงแรม 5 ดาว ชาวนาก็เซ็นเอกสารรับเบี้ยประชุมแล้วกลับบ้านไป ผมว่าปัญหาเหล่านี้ต้องแก้ไข ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน” นายปราโมทย์กล่าว

“ภูมิ” โบ้ย “บุญทรง” ทบทวนจำนำข้าว

นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตนไม่ต้องการให้ทุกฝ่ายเร่งรีบสรุปว่าโครงการรับจำนำข้าวจะขาดทุนมาก เพราะขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนของการระบายสต็อก และยังไม่มีการสรุปค่าใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ

ทั้งนี้ ราคาภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากปีก่อน โดยปีนี้ ราคาที่ชาวนาขายได้อยู่ที่ 1.2 หมื่นบาทต่อตันจากปีก่อนราคา 8-9 พันบาทต่อตัน แม้จะยังไม่ถึงเป้าหมายราคารับจำนำที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตันก็ตาม ซึ่งต้องยอมรับว่ามีการหักค่าความชื้นตามสภาพข้าว

ส่วนโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ว่า จะมีแนวนโยบายอย่างไร จะทบทวนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งจะดึงงานกำกับดูแลการจำนำข้าวไปดูแลด้วยตัวเองหรือไม่ ซึ่งตนไม่มีปัญหา หากเป็นความต้องการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

คลิ๊กรายละเอียดอ่านข่าวจาก

TDRIจี้รัฐเลิกจำนำข้าวแบกขาดทุนพุ่ง

ส่งออกไม่ได้ต้องกินเอง

ที่บ้านทำนาน ได้กินตลอดปีครับ

เดี่ยวรอ รวยๆ จะเดิน Fiber มากลางทุ่งนา วางเครื่อง นอนเฝ้ากลางนาเลย

แบบนี้ราคาตอนชื้อมากิน น่าจะถูก