ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยฟลัดชิ่งจาก ศปภ. แฉรัฐบาลขอตรวจข้อมูลก่อนแถลง

ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยฟลัดชิ่งจาก ศปภ. แฉรัฐบาลขอตรวจข้อมูลก่อนแถลง ลั่นไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อ อัดยับ ศปภ.บริหารจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพ!

เมื่อวันที่ 22 ต.ค. ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยฟลัดดอทคอม (Thaiflood.com) และกรรมการผู้จัดการบริษัท บัณฑิต เซ็นเตอร์ (Kapook.com) ที่มา ช่วยงานภาครัฐกับ ศปภ. ที่กองอำนวยการร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับบริจาคสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเปิดให้ผู้มีจิตอาสามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือ และรับเรื่องราวต่างๆ ในการที่จะบริจาคนั้น ได้เกิดความขัดแย้งกันในการจัดการกับ ศปภ. ภาคประชาชน ทำให้นายปรเมศวร์ ผู้ที่ดูแลและมีหน้าที่ในส่วนของการให้ข้อมูลข่าวสาร เหตุการณ์น้ำท่วมไม่พอใจการทำงานของ ศปภ. ในการห้ามนำเสนอในข้อมูลดังกล่าว และมีการปิดบังข้อมูลในเรื่องความไม่พอใจในการทำงานของกองอำนวยการ จึงขอแยกกองหน่วยงานข้อมูลข่าวสารน้ำท่วมและผู้ประสบภัยไปตั้งที่อื่น

ปรเมศวร์ มินศิริ

นายปรเมศวร์ ยอมรับว่าถอนตัวจากศูนย์ ศปภ.จริง พร้อมให้เหตุผลว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ต่อ เพราะถูกกีดกั้นด้านข้อมูล ไม่ยอมรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ถึงขนาดมีการโทรศัพท์มาขอเซ็นเซอร์ และตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะแถลงข่าว รวมทั้งการบริหารจัดการที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่มีการแจ้งข้อมูลต่อประชาชนอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้กลุ่ม “ไทยฟลัด” ต้องขอแยกตัวไปที่สำนักงาน “ไซเบอร์เวิลด์” ที่รัชดาฯ พร้อมเตือนว่า ภัยธรรมชาติเมื่อบวกกับการบริหารจัดการที่ไม่เป็นระบบ ก็จะกลายเป็นภัยพิบัติ

นายปรเมศวร์ กล่าวต่อว่า ไทยฟลัดได้มาตั้งศูนย์อยู่ที่ดอนเมือง ตามคำเชิญชวนของรัฐบาลตั้งแต่ต้น ช่วงสัปดาห์แรกยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการให้การสนับสนุนข้อมูล เพื่อเตือนภัยแก่ประชาชนเป็นอย่างดี แต่พอสถานการณ์น้ำท่วมหนักขึ้น ได้ขอเสนอตัวเป็นตัวแทนภาคประชาชนที่จะเข้าไปร่วมให้ข้อมูลแก้ปัญหากับภาครัฐ กลับได้รับการปฏิเสธ แค่ให้ทำหน้าที่ “พีอาร์” (ประชาสัมพันธ์) ข้อมูลที่ ศปภ. จัดมาแถลงเท่านั้น

“ทางไทยฟลัดเห็นว่า ข้อมูลช่วงหลังจากภาครัฐเริ่มไม่พอที่จะนำมาวิเคราะห์ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่มีการคิดและทำ จึงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่ไทยฟลัดจะต้องแบ่งกำลังมาอยู่ตรงนี้ รวมทั้งดอนเมืองเองก็มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมสูง และถึงย้ายไปผมก็ยังมีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่รัฐ พอที่จะขอประสานข้อมูลกันได้ เรามาอยู่ที่นี่คือต้องการช่วยผู้ประสบภัยอย่างเดียว ไม่ได้ต้องการที่จะเป็นขั้วการเมืองขั้วใด มีความพยายามจะขอเซ็นเซอร์ข้อมูลของไทยฟลัด ทั้งที่เราพยายามเตือนประชาชนด้วยข้อเท็จจริง ไม่ใช้คำที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการให้ข้อมูลจริงที่นำไปสู่การตัดสินใจได้” ผู้ดูแลเว็บไซต์ไทยฟลัด กล่าว

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า มีเหตุการณ์ที่รับไม่ได้คือ ล่าสุดที่ไทยฟลัดออกแถลงการเตือนสถานการณ์น้ำท่วม กทม.ออกไป กลับมีการโทรศัพท์จากภาครัฐเข้ามาแสดงความไม่พอใจ อยากให้ปรับเปลี่ยนท่าทีในการออกแถลงการณ์ เช่น ข้อมูลบางอันก็ขอให้ส่งผ่าน ศปภ. ก่อนที่จะมีการนำเสนอ ซึ่งตนบอกว่าทำไม่ได้ เพราะยามวิกฤติประชาชนกำลังรอข้อมูลเพื่อความอยู่รอด แต่กลับจะเอาข้อมูลไปกรองก่อน ที่สำคัญมันยังอาจทำให้ข้อมูลถูกบิดเบือนได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เท่าที่ทำงานเป็น ศปภ. มีข้อมูลอะไรที่ประชาชนควรรับรู้ แต่ ศปภ.ไม่เคยให้นั้น นายปรเมศวร์ กล่าวว่า สิ่งที่ไม่เคยได้รับคือ มาตรการต่างๆ ของภาครัฐในการรองรับปัญหา เช่น มีการประกาศแผนอพยพ แต่ไร้แผนรองรับ ทั้งที่ควรจะบอกชัดเจนก่อนว่าให้อพยพไปไหน ไม่ใช่อยู่ๆ น้ำเข้ามาแล้ว ผู้คนแตกตื่น แต่ไม่รู้ว่าจะต้องอพยพไปไหน เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) นายกฯ แถลงว่าจะปล่อยน้ำให้ระบายผ่าน กทม. เราก็อยากฟังแผนการระบายน้ำ เพื่อจะได้ช่วยคิดช่วยทำ แต่ ศปภ.กลับแถลงแค่ขอเครื่องสูบน้ำจากภาคเอกชน ตนเคยเสนอแผนการระบายน้ำอย่างเป็นระบบที่คลองเปรมมาแล้ว ก็เห็นว่าที่ประชุม ศปภ.เอาไปพิจารณาและเอาไปทำ ก็อยากจะเห็นแผนในลักษณะเดียวกันออกมาจากรัฐบาล ไม่อยากเห็นเพียงว่าพอแก้ปัญหาไม่ได้เพราะไม่เป็นระบบ สุดท้ายก็มาพูดแค่ว่า เราได้ทำเต็มความสามารถแล้วเท่านั้น

รายงานข่าวจาก ศปภ. แจ้งว่า หลังจากกลุ่มไทยฟลัดนำบุคลากรออกไปตั้งที่ทำการใหม่ที่ใช้ในการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมนั้น ทางมูลนิธิกระจกเงาที่อยู่ด้วยกันภายใน ศปภ. ก็ได้เข้าไปใช้พื้นที่แทนทันที พร้อมติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว.

นอนไปเสียวไปว่าน้ำจะมา

ห๊ะอะไรนะ นอนไปเสียวไป

= = เสียวผวา

และน้ำก็คือน้ำท่วมไม่ใช่น้ำแบบนั้น