รบ.”ยิ่งลักษณ์”ถังแตก บีบ4แบงก์ใหญ่ปล่อยกู้2แสนล้าน ดอกเบี้ยต่ำอุดจำนำข้าว
โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรับจำนำข้าวทุกเม็ดของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างวันที่ 7 ตุลาคม 2554 – 29 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงินเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินการของหน่วยปฏิบัติหลักได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.),องค์การคลังสินค้า(อคส.),องค์การตลาดเพื่อ เกษตรกร(อ.ต.ก.),กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมการค้าภายในรวมทั้งสิ้น 435,547 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินหมุนเวียนที่ใช้ในการรับจำนำข้าวจำนวน 25 ล้านตัน จำนวน 410,000 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด ในการบริหารจัดการจำนวน 25,547 ล้านบาท
จากข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)นำเสนอ ครม.อ้างว่า ธ.ก.ส.มีสภาพคล่องที่จะสนับสนุนและดำเนินงานตามโครงการได้เพียง 90,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เกินอีก 320,000 ล้านบาท ขอให้รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังพิจารณาจัดหาเงินทุนให้แก่ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในการรับจำนำ และวงเงินจ่ายขาดเพื่อเป็นค่าดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายบริหารสินเชื่อ วงเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 14,882 ล้านบาท แยกเป็น ค่าชดเชยต้นทุนเงินอัตราเอฟดีอาร์+1 หรือเท่ากับ 3.406% ต่อปี จำนวน 10,611 ล้านบาท และค่าบริหารสินเชื่อจำนวน 4,270 ล้านบาท โดยคิดในอัตราดอกเบี้ย 2.5% ของต้นเงินคงเป็นหนี้ระยะเวลา 5 เดือน
สำหรับ อคส.และอ.ต.ก.มีวงเงินจ่ายขาดทั้งสิ้น จำนวน 9,958 ล้านบาท แบ่งเป็นดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบริหารจำนวน 2,625 ล้านบาท คิดที่ไม่เกิน 105 บาทต่อตัน แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรับฝาก จำนวน 1,375 ล้านบาท ค่าโสหุ้ย(โอเวอร์เฮด)ตันละ 50 บาท จำนวน 1,250 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารจำนวน 7,333 ล้านบาท
จากวงเงินดังกล่าว นอกจากจะเป็นโครงการแทรกแซงพืชผลทางการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว มียังมีความเป็นห่วงจากฝ่ายต่างๆว่า จะเกิดการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดเช่นกันเพราะในอดีตที่ผ่านมานักการเมืองมักจับมือกับพ่อค้า ข้าราชการแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการประเภทนี้ตั้งแต่เริ่มรับยจำนำข้าวเม็ดแรก จนถึงการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ ทำให้เกิดความเสียหายและรัฐขาดทุนหลายหมื่นล้านบาท จนกระทั่งบัดนี้ทั้ง อ.ต.ก.และ อคส.ยังมีหนี้อยู่กับ ธ.ก.ส.ประมาณ 100,000 ล้านบาท
นอกจากนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)จะดาหน้าออกมาทักท้วงในเรื่องนี้แล้ว ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นว่า อาจจะเกิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวล่าสุดไม่ต่ำกว่า 135,000 ล้านบาทหรืออาจสูงถึง 250,000 ล้านบาท
“ผมยังเชื่อว่าการออกใบประทวนปลอม และการร่วมมือระหว่างนักการเมืองกับพ่อค้า ในการประมูลซื้อข้าวจากหน่วยงานของรัฐ คงหมดไปได้ยาก ดังนั้นยอดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจึงไม่น่าจะเป็นเพียง จำนวนรับจำนำ 27 ล้านตัน คูณด้วยผลต่างของราคาจำนำกับราคาตลาด ที่ตันละ 5,000 บาท หรือ 135,000 ล้านบาท แต่คงจะมากกว่านี้ แต่เชื่อว่าเมื่อรวมความเสียหายจากทุกสาเหตุคงไม่ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านบาท”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
“ผมติดตามเรื่องนี้ด้วยความทุกข์ใจว่า จะต้องทนมองนักการเมืองบางคนที่ไร้คุณธรรม ผลักดันโครงการที่ก่อให้เกิดความสูญเสียทางการเงินแก่ประเทศชาติครั้งใหญ่ที่สุด โดยไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ แต่ยังมีความหวังอยู่ที่บุคคลสองคนที่ผมรู้จักพื้นเพพอควร และเป็นสองคนที่โดยหน้าที่ต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการนี้ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากการติดตามสถานการณ์ทราบว่ารัฐมนตรีทั้งสองคน ไม่ได้เป็นต้นคิด แต่ผู้ที่ผลักดันเป็นระดับเฮฟวี่เวทของพรรคที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ยังไม่สามารถทำงานการเมืองได้”ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว(กรุงเทพธุรกิจออนไลน์)
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงผู้ประกอบการโรงสีเมื่อวันที่ 5 ตุลาคมว่า รัฐบาลจะดูแลทุกนโยบายที่ประกาศออกไปให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังแน่นอน สำหรับข้อกังวลเรื่องการระบายข้าว ขอให้มั่นใจว่าจะสามารถขาย ระบายข้าวได้แน่นอน โครงการจะต้องสำเร็จ และขอยืนยันว่าจะไม่ฝ่อ หากผลผลิตจะมีจำนวนมาก หรือต้องขายข้าวเยอะขึ้น แล้วจะเสียราคา เพราะโลกกำลังพัฒนาเร็วขึ้น ความต้องการอาหารมากขึ้น จะสามารถระบายได้อย่างแน่นอน และไม่ต้องกังวลว่า
“ผมจะทำทุกอย่างให้นักวิชาการที่วิพากษ์ วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวทั้งหลายที่ผมนับถือ ให้ท่านเหล่านั้นคิดผิดทั้งหมด เพราะหากท่านเหล่านั้นคิดถูกเหลือเกินทำไม เกษตรกรยังเป็นแบบนี้อยู่ ทำไมเรายังประสบปัญหาการขายข้าว และหากว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ขอให้โรงสีทุกท่านจงภูมิใจด้วยกันว่าได้ร่วมกันทำให้ประเทศมีความสมดุลขึ้น” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ส่วนนายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มีการขึ้นทะเบียนเกษตรผู้ปลูกข้าวนาปีประจำปี 2554/55 เพื่อรองรับโครงการรับจำนำข้าวที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม จำนวน 3,260,685 ครัวเรือน ในพื้นที่การเกษตรประมาณ 59.78 ล้านไร่ ซึ่งมีครัวเรือนที่ผ่านขั้นตอนการทำประชาคมแล้วจำนวน 1,628,357 ครัวเรือน หรือคิดเป็น 50 % และได้มีการออกใบรับรองแล้วจำนวน 459,401 ครัวเรือน
นายธีระกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯได้ประมาณการผลผลิตข้าวจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร มีจำนวนทั้งสิ้น 25.8 ล้านตัน โดยจำนวนปริมาณข้าวที่คาดว่าจะเสียหายจากปัญหาอุทกภัยไม่น้อยกว่า 3.07 ล้านตัน ซึ่งหากเป็นไปตามการคาดการณ์ในผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดว่าคงมีข้าวเหลือเข้าโครงการประมาณ 22.73 ล้านตันเท่านั้น
“เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ ธ.ก,ส.จ่ายเงินสำรองให้ อ.ต.ก.เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับจำนำข้าวเบื้องต้นในวงเงินจำนวน 3,818.818 ล้านบาทไปก่อนจนกว่าจะได้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณชดใช้คืนเงินต้นและดอกเบี้ยต่อไป” นายธีระกล่าว
นายธีระกล่าวว่า สำหรับโรงสีที่ยื่นความจำนงเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับอ.ต.ก. มีทั้งหมด 21 จังหวัดจำนวน 160 โรง แบ่งเป็นภาคเหนือ 3 จังหวัดจำนวน 40 โรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัดจำนวน 55 โรง ภาคตะวันออก 3 จังหวัดจำนวน 4 โรง และภาคกลาง 10 จังหวัดจำนวน 61 โรง ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดแล้วทั้งสิ้น 50 โรงสี เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำสัญญากับ อ.ต.ก.ต่อไป
ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามสร้างภาพว่า มีความพร้อมในโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดจากชาวนา แหล่งข่าวจากสาคมธนาคารไทยเปิดเผย”ประสงค์ดอทคอม”ว่า ทางกระทรวงการคลังขอให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์และกสิกรไทยปล่อยกู้แห่งละ 40,000 ล้านบาท รวม 200,000 ล้านบาทให้แก่ ธกส.ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่ากับต้นทุน เพราะ ธกส.เองก็ไม่มีเงินพอที่จะปล่อยให้ อ.ต.ก.และ ธกส.ในโครงการรับจำนำ หลังจากนั้นรัฐบาลจะตั้งงบประมาณมาจ่ายคินให้แก่ธนาคารพาณิชย์พร้อมดอกเบี้ย
“โครงการประชานิยมต่างๆของรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมาก เป็นไปไม่ได้ที่จะมีเงินมาใช้ในโครงการนี้ เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ปรากฎเป็นหนี้สาธารณะ แต่อีก 2-3 ปีตัวเลขเหล่านี้จะโผล่ให้เห็น”แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา ธกส.ไม่เคยต้องขอกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ แต่ที่ต้องกู้ครั้งนี้เพราะวงเงินที่ใช้สูงมาก
จากตัวเลขเงินกู้ที่สูงถึง 200,000 ล้านบาท แต่กลับทำอย่างเงียบเชียบ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่า รัฐบาลต้องการหมกเม็ดอะไรหรือไม่?