ฟันธงร่างฯบรอดแบนด์เกิดยาก เอกชนวอนรัฐปลดล็อกออกใบอนุญาตใหม่
เอกชนประสานเสียงร่างบรอดแบนด์แห่งชาติยังไกลเกินฝัน ระบุเป้าขยายบรอดแบนด์ 80 % ภายใน 5 ปีติดล่มเข็นไม่ขึ้นเพราะเอกชนไม่มีใบอนุญาตใหม่ แนะรัฐควรหากองทุนสนับสนุนเพราะเอกชนไม่อยากเสี่ยงลงทุนในพื้นที่ไม่สร้างรายได้
วานนี้(7ก.ย.)คณะอนุกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนบรอดแบนด์แห่งชาติ กับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยมีภาคเอกชนมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัท บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือ เอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) และ บริษัททรู มูฟ จำกัด รวมทั้ง สมาคม และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ด้วย
นายรอม หิรัญพฤกษ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที เปิดเผยว่าไอซีทีได้จัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารของประเทศไทย (พ.ศ.2554-2563) หรือ ไอซีที 2020 เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ซึ่งกำหนดเป้าหมายการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งการนำนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติเข้ามาเป็นส่วนช่วย จะสามารถผลักดันโครงการดังกล่าวได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี คณะอนุกรรมการฯจะรวบรวมความคิดเห็นจากภาคเอกชนเข้าสู่ที่ประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 ก.ย.เพื่อสรุปร่างแผนบรอดแบนด์แห่งชาติ โดยจะมีนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ในฐานประธานคณะอนุกรรมการฯเข้าร่วมประชุมด้วย หลังจากนี้นายจุติจะนำร่างแผนดังกล่าวเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม)ต่อไป
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เปิดเผยว่า ร่างแผนบรอดแบนด์แห่งชาติ มีหลักการที่ดี และภาคเอกชนพร้อมจะปฎิบัติตาม แต่รัฐบาลต้องช่วยภาคเอกชนด้วยปลดล็อดหาทางจัดสรรใบอนุญาตใหม่ให้เอกชน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ให้ประเทศมีบรอดแบนด์ครอบคลุม 80 %ของจำนวนประชากรภายใน 5 ปี หากไม่มีการออกใบอนุญาตใหม่ก็ไม่มีทางทำได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันเอกชนมีอายุสัญญาสัมปทานเหลือเพียง 3-8 ปี อีกประการหนึ่งการขยายบรอดแบนด์ให้เป็นไปตามเป้าหมายดังกล่าวจะต้องใช้เทคโนโลยีไวเลส เท่านั้นถึงจะทำได้ หากใช้เทคโนโลยีทางสายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำได้แน่นอน
“เอกชนพร้อมจะทำตามนโยบายที่รัฐบาลวางไว้ ซึ่งหน้าที่ของรัฐบาลคือต้องหาทางออกเรื่องใบอนุญาตใหม่ให้แก่เอกชน เพราะหากไม่มีใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ เป้าหมายกระจายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากรภายใน 5 ปีไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะเทคโนโลยีที่สามารถกระจายบรอดแบนด์ได้ทั่วถึงและรวดเร็วคือไวเลสไม่ใช่การลากสาย”
นายทอเร่ จอห์นเซ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค เปิดเผยว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศไม่รู้จะเดินไปทิศทางไหน เพราะไม่มีการออกใบอนุญาต 3 G และแผนบรอดแบนด์แห่งชาติก็ไม่รู้จะเดินไปทางไหน เพราะต้องรอคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รองรับนโยบายรัฐบาลซึ่งคาดว่าจะเกิดในอีก 3 ปีข้างหน้า
นายขจร เจียรวนนท์ กรรมการบริหาร ทรูมูฟ กล่าวว่า ร่างนโยบายนี้ มีอุปสรรคใหญ่คือ การขยายโครงข่ายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุม 80% ภายใน 5 ปี เพราะ 60-70% ของพื้นที่ให้บริการในประเทศ เป็นพื้นที่ทุรกันดาน ไม่ใช่พื้นที่ๆมีรายได้ ดังนั้น จึงอยากขอให้รัฐบาลสนับสนุนสิทธิพิเศษ เพื่อขอแรงจูงใจ เช่น ผู้นำเข้าอุปกรณ์โครงการดังกล่าวได้สิทธิปลอดภาษี หรือ ต้องมีเรื่องกองทุน หรือ แหล่งเงินที่ชัดเจนในการให้บริการได้ เช่น กองทุนบริการโทรคมนาคมสาธารณะอย่างทั่วถึง (USO)
ทั้งนี้ ถ้าจะให้บริการบรอดแบนด์ครอบคลุมตามจำนวนดังกล่าวนั้น ไอซีทีจะต้องเป็นผู้หาทางออกเกี่ยวกับอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เพราะถ้าภาครัฐต้องการความรวดเร็วในการเข้าถึง ก็จำเป็นต้องใช้เทคโนโลไร้สาย ไวร์เลสเข้ามาช่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับใบอนุญาต (ไลเซ่น) โทรคมนาคมจากกทช. เป็นผู้จัดสรรคลื่นความถี่ให้
อย่างไรก็ดีร่างแผนบรอดแบนด์แห่งชาติยังมีสาระสำคัญหลายข้อที่ไม่ชัดเจน เช่น การจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ซึ่งอาจจะใช้เงินจากกองทุนบริการโทรคมนาคมด้วยทั่วถึง หรือ USO ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น
“การลงทุนของภาคเอกชนตามปกติจะไม่ลงทุนในพื้นที่ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ ดังนั้นรัฐบาลควรหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน เช่นเงินจาก USO”