ชงแผนไอซีที 2020 เข้าครม.ปีนี้
ดร.อาจิน จิรชีพพัฒนา
ดร.นเรศ ดำรงชัย
ไพบูลย์ ชีวินศิริวัฒน์
กทสช.เตรียมชงแผนไอซีที 2020 เข้าครม.ภายในปีนี้ ยึดเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาโครงพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเอกชนให้การสนับสนุนด้านบุคลากร เทคโนโลยี และการติดตั้งระบบ ช่วยกำจัดจุดอ่อนในการพัฒนาด้านไอซีที
ดร.อาจิน จิรชีพพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวในงานสัมมนา ‘TCS Solution Day 2010’ เพื่อเปิดมุมมองและวิสัยทัศน์ในโลกเทคโนโลยีแห่งอนาคตสายพันธุ์ใหม่ บนความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานขององค์กร ซึ่งจัดเสวนาในหัวข้อกระแสโลก และทิศทาง ไอซีทีเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดย บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น (ทีซีเอส) ว่า ขณะนี้ได้มีการจัดทำแผนไอซีที 2020 (พ.ศ.2554-2563) ซึ่งมีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว และคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ (กทสช.) รับร่างกรอบนโยบายดังกล่าวไปแล้ว และมีแผนที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ ซึ่งคงจะประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า กระทรวงไหนทำแผนต้องสอดคล้องกับกรอบนี้โดยกรอบนี้จะมี 7 ยุทธศาสตร์ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาประกอบด้วย 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอซีที ที่เป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ความทันสมัย มีการกระจายอย่างทั่วถึง และมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถรองรับความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ได้ 2.พัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน และการพัฒนาบุคลากรไอซีทีที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานสากล
3.ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไอซีที เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ โดยใช้โอกาสจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ การเปิดการค้าเสรี และประชาคมอาเซียน 4.ใช้ไอซีทีเพื่อสร้างนวัตกรรมการบริการของภาครัฐแบบบูรณาการและมีธรรมาภิบาล 5.พัฒนาและประยุกต์ไอซีทีเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิตให้สามารถพึ่งตนเองและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ภาคบริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนภาคบริการในโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม
6.พัฒนาและประยุกต์ใช้ไอซีทีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยสร้างโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะต่างๆ ให้มีความทั่วถึงและทัดเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ได้แก่ บริการด้านการศึกษาและบริการสาธารณสุข และ7.พัฒนาและประยุกต์ไอซีทีเพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
‘จุดอ่อนของไทยคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีทำไม่ได้เต็มที่ อย่างเรื่องงบฯขอไป 1,000ล้านอาจได้แค่ 500 ล้าน ซึ่งเราก็เข้าใจว่ารัฐต้องแบ่งงบฯไปพัฒนาอย่างอื่น เช่น ทำถนน หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นด้วย อีกอย่างก็ต้องมีเรื่องกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะเรื่องอินฟราสตรักเจอร์ก็ต้องมีกฎระเบียบในการใช้ด้วยแต่จุดตรงนี้เราก็สามารถทำได้ในลักษณะให้เอกชนเข้ามาให้การสนับสนุน’
ปัจจุบันมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยประมาณ 17.9 ล้านคน แต่ถ้าเทียบจำนวนประชากรแล้วคิดเป็นแค่ 20% ในมุมมองของดร.อาจินเห็นว่าหากภาครัฐมีการพัฒนาให้เกิดอี-เซอร์วิส ประชาชนก็จะเข้าไปใช้มากขึ้น ส่วนผู้ประกอบธุรกิจนั้นมีการใช้งานอยู่แล้ว ขณะที่การใช้อี-คอมเมิร์ซก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย
ถ้ามีการทำธุรกรรมกันแล้วไม่เกิดปัญหาก็จะมีการใช้งานกันมากขึ้น
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวถึงความคาดหวังใน 10 ปีว่า ความเร็ว (Speed) จะเปลี่ยนไปคือ เร็วขึ้น มี QR Code ไม่ต้องคีย์ URLส่วนธุรกิจจะได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะในเวลาที่จำกัดสามารถทำอะไรได้มากขึ้น ซึ่งด้วยความเร็วในการประมวลผลที่เร็วขึ้น การให้บริการจะเข้าถึงกลุ่มคนซึ่งอาจจะไม่เคยได้รับผลจากตรงนี้มากขึ้น อาทิ กลุ่มคนพิการสามารถ สั่งสิ่งของต่างๆ ให้ทำงานด้วยเสียงได้ การเข้าถึงง่าย สะดวกสบาย ประมวลผลเร็วขึ้น Memory มากขึ้น ทำให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ด้านก็คือทั้งสังคมและธุรกิจ
‘ขณะเดียวกันก็จะช่วยประหยัดพลังงาน ประหยัด Resource ต่อไปสิ่งของจะมี IP Address ของตัวเอง แล้วจะสั่งงานได้ สั่งให้ชงกาแฟ อุ่นกาแฟ ของในตู้เย็นเยอะเกินไปก็บริหารจัดการให้เอาของที่หมดอายุออกไป เป็นต้น การเสียเปล่าลดลง แต่ การบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น และคาดหวังว่าราคาของจะถูกลง’
***แผนระยะสั้นภาครัฐ
ดร.อาจินกล่าวว่า ทีมรัฐมนตรีกำลังประชุมในเรื่องการเซ็น MOU ระหว่าง 4 กระทรวง ระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และเนคเทค ในด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานทางด้านไอซีทีให้สูงขึ้น ทั้ง 3 ระดับ 1.ผู้จัดการโครงการ 2.นักวิเคราะห์ระบบ 3. Network Computer Security Level 1-3 ซึ่งได้มีการทำประชาพิจารณ์ไปแล้วมีประเด็นต่างๆ ทั้งด้านศูนย์ทดสอบ ทักษะส่วนตัว และค่าใช้จ่ายไม่แพง
ดร.นเรศกล่าวว่า บทบาทของ สวทน. จะดูแลเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ต้องเป็นผู้ Implement ตามแผนไอซีที 2020 แต่ต้องบูรณาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบไหนที่สอดรับกับเทคโนโลยี สิ่งที่จะทำให้ในระยะสั้นซึ่งมีเป้าระยะสั้น 3 แนวทางหลักคือ 1.มีการใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาถึง 1% ของ GDP ของประเทศไทย โดยภาคเอกชนและภาครัฐ 2.ประชากรของประเทศไทย 10,000 คนต้องมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับด้านการวิจัยและพัฒนา 15 คน 3.รัฐและเอกชนต้องลงทุนวิจัยและพัฒนา เป็นสัดส่วน 70 : 30 ปัจจุบันรัฐลงทุนมากแล้วแต่ไปไม่ถึงในการใช้เชิงพาณิชย์ ทำแล้วไม่ได้ใช้จริงทั้งหมด ถ้าหากเอกชนลงทุนแล้วจะต้องทำเป็นธุรกิจ รอภาครัฐด้านเดียวไม่ได้ซึ่งก็เริ่มมีบริษัทเอกชนที่เริ่มลงทุนบ้างแล้ว
ทั้ง 3 เป้าหมายนี้จะพยายามผลักดันให้เกิด และนำเข้าครม.ภายในปีนี้พร้อมแผนไอซีที 2020 โดยใช้วิธีการออกแบบกลไกเอื้อให้เอกชนอยากเข้ามาลงทุนไม่ว่าจะป็นกลไกภาษี การหักลดหย่อน
‘เป้าหมายระยะสั้น ก็คือขอให้เรื่องนี้ผ่านครม.ได้ในปีนี้ ซึ่งการ Implement ต้องใช้ระยะเวลา แต่คิดว่าเมื่อจบแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ต้องบรรลุเป้า เราวางแผนสอดคล้องไปกับสภาพัฒน์ ฯ ระหว่างนั้นเราก็จะไต่บันไดขึ้นไปเรื่อยๆ ผลก็จะงอกเงยก็จะทำให้เอกชนแอคทีฟมากขึ้น ซึ่งบางส่วนก็จะมาเชื่อมต่อกับไอซีที เพราะบางส่วนต้องการโครงสร้างพื้นฐานทางไอซีที เพื่อที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่ลงทุนและวิจัยแล้วได้ผลเร็วที่สุดคือไอซีทีเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ’
***แผนการลงทุนระยะสั้นภาคเอกชน
นายไพบูลย์ ชีวินศิริวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เดอะ คอมมูนิเคชั่น โซลูชั่น (ทีซีเอส) กล่าวว่า ทีซีเอสในส่วนของผู้ให้การสนับสนุน และในฐานะภาคเอกชน มีแผนการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีไว้พร้อม แต่สิ่งที่สำคัญคือ การบังคับการใช้แผน เมื่อกำหนดแผนแล้วต้องบังคับให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ เดินไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างเดิน หรือเกิดในภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ เพียงแต่โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต้องทำให้เกิด มีอำนาจในการสั่งการให้เกิดขึ้นจริง และต้องบังคับใช้ให้ไปแนวทางเดียวกัน
สิ่งที่ทีซีเอสให้การสนับสนุนคือ 1.ลงทุนพัฒนาบุคลากร มีการศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ 2. เดินไปตามกระแสของโลก ความพร้อมของสังคม การให้บริการใหม่ๆ บนเครือข่ายหรืออื่นๆ เป็นผู้ Implement เทคโนโลยี
‘เมื่อเรา Implement เทคโนโลยีแล้ว พร้อมที่จะใช้เมื่อไร สังคมและประชาชนเป็นผู้กำหนด การคัดสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมไม่ยาก แต่ยากที่การ Implement ให้สำเร็จ และมีนโยบายควบคุมปฏิบัติการงานใช้ ซึ่งยากกว่าหลายเท่า รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทควบคุมตรงนี้’