อ้อยกำลังจะเข้าปากช้างอยู่แล้วดันมีมือดีมาดึงเอาออกไปเสียในนาทีสุดท้าย น่าเสียดายจริงๆสำหรับคนที่กำลังจะงาบเอาของดี ราคาถูก ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ไปเป็นสมบัติส่วนตัว
คำสั่งศาลปกครองเมื่อวานนี้ ที่ให้คุ้มครองชั่วคราว เลื่อน การประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ทำให้การประมูลที่กำหนดจะมีขึ้นในวันจันทร์ ที่ 20 กันยายนนี้ ต้องชะลอออกไปก่อน
บริษัท กสท. โทรคมนาคม โดยนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ คงจะต้องถูกวาดภาพให้เป็น "ผู้ร้าย" ที่ถ่วงความเจริญของ ประเทศไทยให้ล้าหลังลาวและเขมร เพราะว่า เป็นตัวการที่ทำให้ การใช้ระบบ 3 จี ต้องล่าช้าออกไปอีก
กสท.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2553 ให้เพิกถอนการประกาศประมูลคลื่น 3 จี ของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกทช.โดยอ้างว่า กทช. ไม่มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี
คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz หรือ 3 จี สามารถส่งได้ทั้งเสียง ข้อมูลและภาพ จึงเป็นระบบการสื่อสารที่ใช้ได้ทั้งการโทรคมนาคมการกระจายเสียงและโทรคมนาคม
พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ให้ คณะกรรมการกิจการโทรคมนามคมแห่งชาติ มีอำนาจออกใบอนุญาต และกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ เพื่อกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น
ส่วน กิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ broadcasting เป็นอำนาจของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ซึ่ง จนถึงบัดนี้ ยังไม่มี กสช.
ต่อมา รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติให้รวมกทช.กับกสช.เป็นองค์กรเดียว โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 47 บัญญัติว่า
"คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระองค์กรหนึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตาม วรรคหนึ่ง และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม"
ขณะนี้ กฎหมายลูก คือ ร่าง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจารวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หริอ กสทช. ผ่านความเห็นชอบจาก สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาไปแล้ว กำลังอยุ่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อแก้ไขสาระบางส่วนตามที่ วุฒิสภามีความเห็น
ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่ผ่าน ที่ กทช. พยายามผลักดันให้มีการประมูลคลื่น 3 จีนั้น มีเสียงทักท้วงมาตลอดเวลาว่า กทช.ไม่มีอำนาจ เพราะ รัฐธรรมนูญ2550 มาตรา 47 ให้เป็นอำนาจของ กสทช. ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น
กทช. จะมีอำนาจก็เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับ โทรคมนาคมเท่านั้น แต่ คลื่น 3 จี มีคุณสมบัติสามารถสื่อสารได้ทั้งเสียงและภาพ
[b]กทช. เอาอำนาจตรงไหนไปออกใบอนุญาตในส่วนของการแพร่ภาพกระจายเสียง ?? [/b]
ข้อทักท้วงนี้ ทำให้ กทช. ยอมหยุดการผลักดัน การประมูลคลื่น 3จี เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่เมื่อ พอ. นที ศกุลรัตน์ เข้ามาเป็น กทช. เมื่อเดือนมีนาคม กทช. ก็เริ่มผลักดันให้มีการประมูลคลื่น 3 จีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยการดำเนินการอย่างแข็งขันของ พอ. นที ซึ่งดูเหมิอนว่า ภารกิจหลักในการเข้ามาเป็น กทช. ของเขาคือ ให้มีการออกใบอนุญาตคลื่น 3 จีให้ได้ โดยไม่สนใจต่อเสียงทักท้วง เดิมๆว่า กทช. ไม่มีอำนาจ
คนที่เขาทักท้วงนั้น เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาขึ้นมา ภายหลังจากประมูลไปแล้ว หากมีใครไปฟ้องศาลว่า กทช. ไม่มีอำนาจ แล้วผลจะเป็นอย่างไร มันก็จะเหมืนนกับ กรณีมาบตาพุด ที่เอกชนผู้ลงทุนถูกฟ้องร้อง ว่า ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ให้ครบถ้วนเสียก่อน จนศาลปกครองต้องออกคำสั่งให้ระงับการดำเนินการให้ชั่วคราว
[b]ระหว่าง การทำทุกอย่างให้ชัดเจนถูกต้อง แม้ว่าจะล่าช้าไปบ้างกับการลักไก่ทำไปก่อน ทั้งๆที่รุ้ว่าเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง เมื่อทำไปแล้ว ถูกฟ้องภายหลัง อะไรจะ กระทบกระเทือนต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากกว่ากัน ?[/b]
กทช. เองก็รู้ดีว่า มีความไม่ชัดเจนในเรื่องอำนาจของตัวเองอยู่ พอ.นทีเองเป็นคนพูดว่า มีแต่ศาลเท่านั้น ที่จะหยุดการประมูล 3 จีได้ บางครั้ง เขาก็พูดว่า หากจะมีใครฟ้องร้อง ก็เป็นเรื่องของอนาคต
ระบบ 3 จี ถูกเชิดชูให้เป็นเหมือนของวิเศษที่ จะทำให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าขึ้น ประเทศไทยถูกนำไปเปรียบเทียบกับลาวและเขมร ที่มี 3 จีใชใช้แล้วว่า เราล้าหลังกว่าเขา แต่ข้อเท็จจริงคือ ทั่วโลก ยังมีผู้ใช้ระบบ 2 จีมากกว่า 3 จี และการที่ลาวกับเขมร มี 3 จีใช้ ก่อนไทย ก็เพราะว่า 2 ประเทศนี้ เพิ่งจะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่นาน จึงสามารถนำเทคโนโลยี่ใหม่มาใช้ได้เลย
กทช. ใช้ ความเชื่อ ว่า ประเทศไทยขาด 3 จีไม่ได้ มาเป็นข้ออ้างในการผลักดันให้มีการประมูล ทั้งๆที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่า ตัวเองมีอำนาจหรือไม่ และอยุ่ในช่วงที่ มี กทช. ถึง 3 คน ที่หมดอายุไปแล้ว มีฐานะเพียงแค่รักษาการเท่านั้น
อย่าไปโยนความผิดให้ กสท. ว่าเป็นผู้ร้าย ที่ทำให้ การประมูล 3 จี ต้องล้ม เพราะ กสท. ทำหน้าที่ ปกป้องผลประโยชน์ขององค์กร และยังทำหน้าที่แทนคนไทย ไม่ให้ กทช. อาศัยลูกมั่ว ยกเอาประโยชน์ของ 3 จี ขึ้นมาบังหน้า เพื่อที่จะยกเอาคลื่นความถี่ ที่เป็นทรัพยากรของชาติไปให้กับ เอกชน3 ราย ในราคาถูกๆ
กทช. โดยเฉพาะ พอ. นที ต้องรับผิดชอบ ที่ดึงดันจะให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ทั้งๆที่รู้ว่า ไม่มีอำนาจ การดำเนินการของ กทช. ในเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึง วุฒิภาวะ ขององค์กรอิสระ ที่มีอำนาจควบคุมกติกาของธุรกิจที่มีมุลค่านับแสนล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติได้เป็นอย่างดีว่า อยู่ในระดับไหน
ที่มา : สำนักข่าวหัวเหลือง