ไม่ใช่เรื่องขำ แต่ก็ถูกเอามาอำกันไปทั่ว สำหรับภาพสเก็ตช์คนร้ายสวมหมวกกันน็อคที่เป็นข่าวโด่งดัง แถมยังกลายเป็นเรื่องโจ๊กเสียดสีตำรวจไทยไปอีกนาน แต่สำหรับคนทำงานขำไม่ออก เพราะเขายืนยันว่าทุกอย่างที่ทำไปไม่ใช่มั่วๆ
(ภาพ : ฐานิส สุดโต)
ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. 2547 เรื่องราวคดีสะเทือนขวัญของผู้หญิงชื่อ “จิตรลดา” ที่เอามีดไล่แทงเด็กนักเรียน โรงเรียนดัง จนถึงการจับแก๊งแขกขาวเจาะเซฟในโรงแรม และเหตุการณ์คนร้ายปาระเบิดบ้าน "บรรหาร ศิลปอาชา” ล้วนแล้วแต่เป็นคดีดังที่คืบหน้าจนถึงคลี่คลายคดีได้ด้วยภาพสเก็ตช์หน้าคนร้ายที่ละม้ายคล้ายเสียจนนำไปสู่การแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดี หรือ จับกุมคนร้ายได้ในที่สุด
นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่สะท้อนถึงความสำเร็จของงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย ฝีมือของหน่วยงานเล็กๆ อย่าง ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเพียง 16 คน
แต่ก่อนที่เราจะมาทำความรู้จักกับเจ้าของผลงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย พ.ต.อ.ปรีชา สุนทรศิริ รองผู้บังคับการ กองทะเบียนประวัติอาชญากร ขอพาทัวร์กองทะเบียนประวัติอาชญากร หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ทว.” เสียก่อนว่า เดิมทีเป็นเพียงส่วนงานเล็กๆ ที่ขึ้นอยู่กับกองพิสูจน์หลักฐาน เริ่มต้นจากงานพิมพ์ลายนิ้วมือสำหรับใช้ในงานพิสูจน์หลักฐานของตำรวจ เพื่อยืนยันพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล แต่ถัดมาความสำคัญของหน่วยงานก็ได้เพิ่มระดับขึ้น จนปัจจุบันมีฐานะเป็นกองบังคับการ
พร้อมกันนี้บทบาทเนื้องานของ ทว. ก็ได้ทวีความสำคัญจนกลายเป็น “คลังข้อมูลคนร้าย” ซึ่งมีส่วนสำคัญในเบื้องหลังการคลี่คลายคดีต่างๆ เนื่องจากว่า ทว. เป็นหน่วยงานที่รวบรวมหมายจับทั่วประเทศ, ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์ รถหาย คนหาย, การพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล การพิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลบุคคลพ้นโทษจากเรือนจำ รวบรวมแผนประทุษกรรมคนร้าย และอีกหนึ่งเนื้องานที่สำคัญ ก็คือ แหล่งรวมภาพสเก็ตช์ของคนร้าย สำหรับใช้เป็นแนวทางในการสืบสวน
ทั้งนี้จำนวนการสเก็ตช์ภาพคนร้ายที่ผ่านเข้ามาให้ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 ดำเนินการสเก็ตช์ภาพคนร้ายนั้น เรียกว่ามีเป็นหมื่นๆ หน้าแล้ว โดย ตัวเลขในปี 2550 มีทั้งสิ้น 4,096 ภาพ ปี 2551 มีการสเก็ตช์ภาพไป 2,562 ภาพ ก่อนจะลดลงมาเล็กน้อยในปี 2552 ซึ่งมีทั้งสิ้น 2,359 ภาพ และล่าสุดปี 2553 จากเดือนมกราคมถึงเมษายน รวม 4 เดือน มีการสเก็ตช์ภาพคนร้ายไปแล้ว 561 ภาพ
ผลจากการสเก็ตช์ภาพคนร้ายของ ทว. สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมคนร้ายได้จากภาพสเก็ตช์ราว 20 เปอร์เซ็นต์ จากสถิติการก่อคดีเฉลี่ยปีละ 3,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ส่วนที่ออกมาแล้วกลายเป็นเรื่องโจ๊กนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยซึ่งเกิดขึ้นโดย …ไม่ตั้งใจ
ตำนานการสเก็ตช์
อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น ว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่ “ขำๆ” อย่างกรณีการสเก็ตช์ภาพคนร้ายและออกมาเป็นหมวกกันน็อค ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชน แต่ทำไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางสืบสวนสอบสวน ที่สำคัญไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะหมวกกันน็อคที่คนร้ายใช้เป็นรุ่นใหม่ ทำให้ตีกรอบการตามจับได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาเกิดตรงที่ว่า สื่อมวลชนไปได้ภาพนั้นมาและนำออกเผยแพร่ จนกลายเป็นเรื่องตลกในที่สุด
“การทำงานสเก็ตช์ภาพคนร้ายมีวัตถุประสงค์สองส่วนด้วยกัน หนึ่งคือ เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส กับอีกหนึ่ง คือ เพื่อการสืบสวนในทางลับ อย่างเคสหมวกกันน็อคก็คืออย่างที่สอง ซึ่งทางตำรวจไม่ได้สเก็ตช์ออกมาให้ประชาชนช่วยกันจับ แต่ถามว่าสเก็ตช์ภาพหมวกกันน็อคแล้วได้อะไร ก็ต้องตอบว่า สำหรับตำรวจแล้ว หลักฐานทุกอย่างที่ได้มา มีประโยชน์ทั้งหมด โดยสามารถนำมาประกอบเข้าด้วยกันเพื่อสืบจับได้ทั้งสิ้น” คำเปิดใจของ พ.ต.ท.ชัยวัฒน์ บูรณะ รองผู้กำกับการ ฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร (ทว.) ซึ่งกำกับดูแลงานด้านนี้โดยตรง และมีงานสเก็ตช์ภาพคนร้ายที่ผ่านมือนายตำรวจท่านนี้มาแล้วหลายพันภาพ
ว่าแล้ว รองผู้กำกับชัยวัฒน์ ก็เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การสเก็ตช์ภาพตลอดระยะเวลา 13 ปีเศษ จากอดีตคนโฆษณาที่ผันตัวเองสู่เครื่องแบบสีกากี นำเอาวิชาศิลป์ที่ร่ำเรียนจาก รร.เพาะช่าง มาใช้อย่างเต็มประโยชน์ โดยตัวเขาได้ผ่านงานมาตั้งแต่รุ่นสเก็ตช์มือ ต่อเนื่องมาถึงการประกอบภาพด้วยแผ่นใส พัฒนาสู่การฉายสไลด์ แล้วกลับไปสเก็ตช์มืออีกครั้ง จนถึงปัจจุบันไฮเทคถึงขั้นใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสเก็ตช์ภาพ ซึ่งช่วยให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
เริ่มต้นจากการสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอเหมือนอย่างที่จิตรกรใช้วาดรูปกันนั้น รองผู้กำกับชัยวัฒน์เล่าถึงปัญหาว่า อันดับแรกคือมีคนทำได้น้อย เพราะต้องเป็นคนที่เรียนจนทางด้านศิลปะมาโดยตรง ซึ่งบุคคลเหล่านี้ก็มีทางเลือกในอาชีพการงานมาก โดยเฉพาะงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่ากินเงินเดือนข้าราชการมากมายนัก
“กว่าผมจะหลอกล่อ รองชัยวัฒน์ให้ทิ้งเงินเดือนสามหมื่นมาทำงานกับผมได้ก็ไม่ใช่ง่าย ล่าสุดมีลูกน้องจะขอย้ายกลับบ้านดูแลพ่อแม่ ผมก็ต้องสร้างแรงจูงใจบอกว่าจะโปรโมทขึ้นเป็นนายตำรวจ ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อรักษาคนของเราเอาไว้ไม่ให้เสียไป เพราะที่มีอยู่วันนี้ก็น้อยมากพออยู่แล้ว จากอัตราที่เรารับได้ 47 คน วันนี้เรามีคนประจำที่หน่วยงานนี้แค่ 16 คนเท่านั้น แล้วก็ยังไม่มีคนมาเพิ่ม” รองผู้บังคับการ ทว. สำทับถึงปัญหาซึ่งไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะเรื่องการขาดแคลนบุคลากรที่จะมาสเก็ตช์ภาพคนร้ายนั้นเป็นมาเนิ่นนานแล้ว
แต่เมื่อยังไม่สามารถจูงใจให้มีคนมาทำงานในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากได้ ก็ต้องหาทางแก้ตรงจุดอื่น เพื่อให้งานสเก็ตช์ภาพเดินต่อไปได้โดยไม่ต้องอาศัยความชำนาญขั้นมืออาชีพที่จบจากหลักสูตรด้านศิลปะโดยตรง
ความพยายามแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้น โดยเป็นการลองผิดลองถูกมาเรื่อย จากการสเก็ตช์มือ เมื่อได้ฐานข้อมูลมากพอสมควร ก็มีการนำมาพิมพ์ใส่แผ่นใส แยกเป็นชิ้นส่วนเครื่องหน้า ตั้งแต่ รูปหน้า, หู, ตา, จมูก, ปาก, คิ้ว, คาง, ผม ฯลฯ เพื่อประกอบเป็นหน้าของคนร้าย
ปัญหาของการนำเครื่องหน้าที่พิมพ์อยู่บนแผ่นสไลด์มาประกอบกันและนำไปถ่ายเอกสารนั้น คือ แผ่นที่อยู่ล่างจะชัด ส่วนแผ่นบนสุดก็จะเห็นแค่จางๆ ทำให้ได้ภาพสเก็ตช์ที่ไม่คมชัด มีการทดลองแก้ปัญหาต่อ โดยใช้กล้องถ่ายรูปถ่ายภาพสไลด์ใบหน้าคนร้ายที่ประกอบเสร็จแล้วด้วยฟิล์มสไลด์ และนำไปฉายด้วยเครื่องฉายสไลด์เพื่อบันทึกภาพอีกครั้งหนึ่งด้วยฟิล์มเนกาทิฟสำหรับใช้แจกจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ แต่วิธีดังกล่าวก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก จนกลับมาใช้การสเก็ตช์มือแบบดั้งเดิมอีกครั้ง
ความคิดริเริ่มที่จะพัฒนาโปรแกรมอัจฉริยะเข้ามาช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เร็วและง่ายขึ้นชนิดที่ไม่ได้เรียนจบทางด้านศิลปะมาโดยตรงก็ยังสเก็ตช์ได้ จึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2532 โดย