บช.น.เร่งวางแผนรับมือสร้างสะพาน ข้ามวงเวียนบางเขน จากฝั่งวิภาวดีฯไปรามอินทราใช้เวลานานกว่า 1 ปี เริ่มลงมือ 15 ก.ค. นี้ ตร.เผยช่วงแรกจะปิดถนนเพียง 1 เลน จากฝั่งวิภาวดีฯก่อน แต่หวั่นหากเริ่มปิดช่วงรามอินทราจะสาหัส เพราะปกติก็ติดทุกเช้าและเย็นอยู่แล้ว ขณะที่กทม.เตรียมปิดซ่อมสะพานข้ามคลองรวม 28 แห่งทั่วกรุง อาทิ พระโขนง บางนา และรามคำแหง โดยบางจุดต้องรื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ ประสาน ตร.รับมือ
เมื่อ วันที่ 10 ก.ค. พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานจราจร เปิดเผยว่ากรมทางหลวงจะก่อสร้างสะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน จากฝั่งที่มาจากวิภาวดี ข้ามวงเวียนบางเขนไปลงฝั่งถนนรามอินทรา เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 เลน ไป 2 เลน กลับ 2 เลน กำหนดระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 400 วัน แต่เท่าที่คุยกับผู้รับเหมาน่าจะเสร็จได้ประมาณ 300 กว่าวัน ทั้งนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างจะเข้าพื้นที่เริ่มลงมือก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. โดยก่อสร้างด้านมาจากถนนวิภาวดีฯก่อน แผนการจราจรระยะแรกจะจัดให้รถวิ่งฝั่งละ 3 เลน จากเดิมที่เคยวิ่งฝั่งละ 4 เลน
“สำหรับประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรผ่านวงเวียนบางเขน ที่มาจากถนนราม อินทราระยะแรกมาได้ปกติยังไม่มีผลกระทบ ส่วนที่มาจากวิภาวดีฯ จะได้ผลกระทบบ้าง อาจจะเลี่ยงไปใช้เส้นทางแยกเกษตรฯ แทนได้ ส่วนเมื่อใดที่เริ่มสร้างจากฝั่งถนนรามอินทราเชื่อว่าจะส่งผลกระทบการจราจร บนถนนรามอินทราแน่นอน เพราะทุกวันนี้ช่วงเร่งด่วนเช้าปริมาณรถสะสมไปถึง ก.ม.8 ผู้สัญจรต้องเลี่ยงไปใช้เส้นวัดลาดปลาเค้าไปใช้รัชดาฯ-รามอินทราแทน” พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว
รอง ผบช.น กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้รับการประสานจาก สำนักงานโยธา กรุงเทพ มหานคร ว่า จะจัดซ่อมและเสริมกำลังสะพานข้ามคลองในพื้นที่ กทม. กลุ่มที่ 2 ในเขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตพระโขนง เขตบางนา และเขตสวนหลวง จำนวน 28 สะพาน มีความจำเป็นจะต้องปิดการจราจร เพื่อให้การซ่อมสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากเป็นถนนขนาดเล็ก จะส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยที่อยู่ในเส้นทางที่มีการซ่อม จำเป็นต้องศึกษาเส้นทาง ทาง กทม.จะทำป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้สัญจรทราบก่อนล่วงหน้า
พล.ต.ต.ภาณุ กล่าวอีกว่า แต่ละสะพานจะใช้เวลาในการซ่อมไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 1 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน เริ่มซ่อมมาแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. สิ้นสุดการซ่อมประมาณวันที่ 3 มี.ค.54 ประชาชนที่เดือดร้อนสามารถสอบถามข้อมูลหลีกเลี่ยงได้ทางโทร.1555 และ 1197
สำหรับ สะพานที่จะปิดเพื่อซ่อมแซมประกอบด้วย โซนถนนรามคำแหง ระยะเวลาปิดซ่อมรวม 163 วัน ได้แก่ สะพานคลองกะจะ จำนวน 4 สะพาน (ปิดซ่อม 41, 68, 41, 45 วัน) โซนถนนอ่อนนุช ใช้ระยะเวลาปิดซ่อม รวม 203 วัน ได้แก่สะพานข้ามคลองพระโขนง 2 สะพาน (ปิดซ่อม 72 และ 84 วัน) สะพานคลองขุนสกุล (ปิดซ่อม 49 วัน) สะพานคลองศาลเจ้า (ปิดซ่อม 46 วัน) สะพานข้ามคลองเคล็ด (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองบ้านหลาย (ปิดซ่อม 43 วัน) สะพานข้ามคลองสวนอ้อย (ปิดซ่อม 43 วัน) สะพานคลองบางนางจีน (ปิดซ่อม 42 วัน)
โซนถนนเลียบทางรถไฟสายปาก น้ำเก่า ระยะเวลาปิดซ่อมรวม 179 วัน ได้แก่ สะพานข้ามคลองเจ๊ก (ปิดซ่อม 49 วัน) สะพานข้ามคลองบางจาก (ปิดซ่อม 43 วัน) สะพานข้ามคลองบางอ้อ (ปิดซ่อม 47 วัน) สะพานข้ามคลองบางนา (ปิดซ่อม 39 วัน), โซนถนนเทอดไทย ระยะเวลาปิดซ่อมรวม 87 วัน ได้แก่ สะพานข้ามคลองบางระแนะ (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองตาแป้น (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองตาฉ่ำ (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองไม่ทราบชื่อ (ปิดซ่อม 45 วัน) สะพานข้ามคลองบางหว้า (ปิดซ่อม 45 วัน) สะพานข้ามคลองวัดอ่างแก้ว (ปิดซ่อม 45 วัน)
โซนถนนเพชรเกษม ระยะเวลาปิดซ่อมรวม 83 วัน ได้แก่ สะพานข้ามคลองสาธารณะ (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองบางด้วน (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองลำปะโดง (ปิดซ่อม 42 วัน) สะพานข้ามคลองบางจาก (ปิดซ่อม 41 วัน) และโซนถนนเอกชัย ระยะเวลาปิดซ่อมรวม 41 วัน ได้แก่ สะพานข้ามคลองบางประทุน (ปิดซ่อม 41 วัน) สะพานข้ามคลองบางระแนะ (ปิดซ่อม 41 วัน)
ด้านนายจุมพล สำเภาพล ผอ.สำนักการโยธา (สนย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างมอบหมายให้ บ.อิตาเลียนไทยฯ ผู้รับเหมาโครงการดังกล่าว ไปดำเนินการจัดทำแผนการปิดซ่อมสะพาน โดยจะวิธีปิดซ่อมผิวจราจรบนสะพานทีละฝั่ง เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ตามปกติ รวมทั้งจะซ่อมในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้มากที่สุด ทั้งนี้ ทางผู้รับเหมาจะได้สรุปแผนการซ่อมสะพานข้ามคลองในกลุ่มนี้ให้แล้วเสร็จภายใน เดือนก.ค.
“จากนั้น กทม.จะเชิญ บช.น.มาประชุมร่วมอีกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มปิดซ่อมสะพานข้ามคลองในช่วงเดือน ส.ค.เป็นต้นไป โดย กทม.จะดำเนินการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ในแต่ละสะพาน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบล่วงหน้า 15 วันก่อนที่จะดำเนินการซ่อมแซม อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่จะต้องดำเนินการซ่อมแซมหลักๆ ประกอบด้วย โครงสร้าง คาน ท้องพื้น เชิงลาด ราวสะพานและพื้นผิวสะพาน” ผอ.สำนักการโยธา กล่าว
นายจุมพล กล่าวต่อว่า สำหรับสะพานข้ามคลองในกลุ่มดังกล่าว จะมีสะพาน 1 แห่ง ที่ต้องรื้อทิ้งเพื่อสร้างใหม่ คือ สะพานคลองกะจะบริเวณแยก 24 ถ.รามคำแหง เนื่องจากมีสภาพชำรุดอย่างมาก นอกจากนี้ในส่วนของสะพานโซน ถ.เลียบทางรถไฟสายปากน้ำเก่า ที่กทม.จะดำเนินการซ่อมรวม 4 สะพานนั้น จะรื้อเชิงลาดสะพานออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับสภาพการจราจรในบริเวณดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กทม.จะประชาสัมพันธ์ถึงทางลัดของถนน หรือซอยในบริเวณใกล้เคียงให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOakV4TURjMU13PT0=