สลด! คนไทยใช้มือถือ-เน็ตกระหน่ำ

สลด! คนไทยใช้มือถือ-เน็ตกระหน่ำ

ในวันที่ปริมาณการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่แตะ 65 ล้านเลขหมาย เท่าจำนวนประชากรในประเทศ และมีปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตขยับเป็น 15 ล้านเลขหมายในปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ปัญหาด้านโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น อาทิ บริการโทรศัพท์มือถือโทรฯติดยาก ความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามโฆษณา เว็บโป๊ เว็บพนัน ล้นทะลักโลกออนไลน์

แต่กลับมีเสียงร้องเรียนเรื่องปัญหาโทรคมนาคมเล็ดลอดออกมาเพียง 2% จากจำนวนสาวกโทรคมนาคมที่ประสบปัญหากว่า 60% ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 53 วันคุ้มครองผู้บริโภคสากล ซึ่งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สำรวจคนไทยทั่วประเทศจำนวน 8,000 คน จาก 4 ภูมิภาค รวม 39 จังหวัด

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีใครบอกผู้บริโภคเรื่องสิทธิโทรคมนาคม ดังนั้นผู้บริโภคควรที่จะรู้สิทธิของตนเอง เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ ถ้าบริการไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนได้ เพราะประเทศไทยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคมากว่า 30 ปี แต่คนไทย 1 ใน 4 ไม่รู้เรื่องสิทธิโทรคมนาคม หรือคิดเป็น 15 ล้านคน จากจำนวนประชากร 65 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้ศึกษาในระดับพื้นฐาน

และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนไทยร้องเรียนเรื่องสิทธิโทรคมนาคมน้อย เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ ดังนั้น ต้องสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าปัญหาไหนควรร้องเรียนที่หน่วยงานใด เช่น เรื่องเว็บโป๊ ให้ร้องเรียนที่ตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 เรื่องอุปกรณ์โทรคมนาคม เช่นโทรศัพท์มือถือซื้อมา 7 วัน แล้วเสียร้านค้าไม่รับคืน ร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถ้าเรื่องบริการโทรคมนาคม เช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่เป็นไปตามโฆษณา และค่าบริการโทรศัพท์มือถือไม่เป็นธรรม ร้องเรียนที่ สบท.

ปีที่แล้ว สบท.เปิดสายด่วนร้องเรียนเรื่องโทรคมนาคมเลขหมาย 1200 ให้ผู้บริโภคโทรฯร้องเรียนโดยไม่เสียค่าบริการ มีผู้ร้องเรียนรวม 1,200 เรื่อง เพิ่มจากปีพ.ศ. 2551 ซึ่งมี 300 เรื่อง แต่จากการสำรวจ พบว่า ผู้บริโภคสะดวกที่จะร้องเรียนโดยตรงกับบุคคล ดังนั้น สบท.จึงตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนในกรุงเทพฯ พร้อมกับเปิดบริการสายด่วนควบคู่กันไป

นอกจากนี้ การสำรวจเรื่องการรับรู้สิทธิการร้องเรียนด้านโทรคมนาคมของประชาชน พบว่า 70% รับรู้ผ่านสื่อโทรทัศน์ และ 30% รับรู้ผ่านการบอกเล่าของเพื่อน

ประเทศออสเตรเลีย ผู้บริโภคมีการรับรู้เรื่องสิทธิโทรคมนาคมสูงมาก ปีที่ผ่านมามีการร้องเรียนเรื่องโทรคมนาคมถึง 5 แสนคนจากจำนวนประชากรในประเทศ 20 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิด้านโทรคมนาคม โดยมีปริมาณร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าการร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การเงินการธนาคาร รถยนต์ อาหาร และยา

ต่างจากประเทศไทย แม้เรื่องเอสเอ็มเอสขยะจะเป็นปัญหาที่พบมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีผู้ร้องเรียนน้อย ทำให้ไม่มีพลังเสียงจากผู้บริโภคที่จะกระตุ้นให้เกิดการออกมาตรการควบคุมการส่งเอสเอ็มเอสขยะ ขณะที่ต่างประเทศที่ผู้บริโภคร้องเรียนมาก ทำให้รัฐบาลออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

เร่งสร้างการรู้สิทธิโทรคมนาคมให้คนไทย

นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า การสำรวจความรู้เรื่องสิทธิโทรคมนาคม สบท. จะทำทุก 3-5 ปี เนื่องจากการรับรู้เรื่องสิทธิโทรคมนาคมต้องใช้เวลา แต่เรื่องปัญหาด้านโทรคมนาคม สบท. จะสำรวจทุกปี

ส่วนการส่งความรู้เรื่องสิทธิโทรคมนาคม สบท.จะร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค ใน 26 จังหวัด นำความรู้สู่ประชาชนในท้องถิ่นแบบปากต่อปาก เน้นเรื่องที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง เช่น เรื่องบัตรโทรศัพท์ มือถือแบบเติมเงิน (พรีเพด) ไม่มีวันหมดอายุ ซึ่งตามประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ระบุให้บัตรโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินไม่มีวันหมดอายุ จนกว่าจะได้รับความเห็นชอบจาก กทช.

ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ และผู้ให้บริการบางรายก็ยังจำหน่ายบัตรเติมเงินมูลค่า 100 บาท มีอายุใช้งาน 10 วัน จนเกิดปัญหาและข้อร้องเรียน เบื้องต้น สบท. หารือกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ เอไอเอส และดีแทค ได้ข้อสรุปจะกำหนดให้บัตรเติมเงินมีอายุการใช้งาน 90 วัน ส่วนทรูมูฟยังไม่มีการหารือ กลางปีเปิดโครง การบันทึกข้อมูลสัญญาณมือถือ

เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่โทรฯติดยาก เป็นปัญหาอันดับหนึ่งด้านบริการและคุณภาพของการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีผู้ร้องเรียนมาก ขณะนี้ สบท.หารือกับบริษัทพัฒนาระบบบันทึกคุณภาพและบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สัญชาติไทย เพื่อเก็บข้อมูลว่าพื้นที่ไหนมีความแรงของสัญญาณดี ไม่ดี และเสถียรหรือไม่เสถียร เมื่อได้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแต่ละพื้นที่ สบท.จะจัดส่งข้อมูลให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการปรับปรุง

“การเก็บข้อมูลด้านบริการและคุณภาพของการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน มองว่าถ้านำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้งกับรถขนส่งของไปรษณีย์ไทยก็จะทำให้ได้ข้อมูลทั่วประเทศ หรือขอความร่วมมือติดตั้งในรถแท็กซี่ก็จะได้ข้อมูลในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องเข้าไปหารือก่อน ส่วนผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการซิมเบี้ยน สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเก็บบันทึกสัญญาณของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ในเครื่อง คาดกลางปีนี้จะเริ่มโครงการนี้ได้” นพ.ประวิทย์ กล่าว

ทดสอบความเร็วเน็ตปีนี้เข้มข้นขึ้น

สำหรับโครงการสำรวจและทดสอบความ เร็วอินเทอร์เน็ต (สปีดเทสต์) ปีที่แล้ว สบท. ร่วมกับ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ใช้เวลา 3 เดือนในการทดสอบ ส่งผลให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปรับตัวขยับความเร็วอินเทอร์เน็ตให้ได้ตามที่โฆษณา โดยโครงการนี้เป็นการเก็บข้อมูลและส่งต่อข้อมูลที่ได้ให้กับผู้ให้บริการ เป็นการดึงผู้บริโภคที่ใช้บริการร่วมเก็บข้อมูล และกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจเรื่องสิทธิด้านโทรคมนาคม

ปัจจุบัน กทช.ให้ใบอนุญาตประกอบการอินเทอร์เน็ตทั้งแบบที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และแบบที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง แก่ผู้ให้ประกอบการแล้วกว่า 100 ราย

ปีนี้ สบท. ร่วมกับ สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เดินหน้าโครงการต่อ โดยจะเพิ่มเซิร์ฟเวอร์อีก 30 จุด ภายใต้งบประมาณ 3 ล้านบาทเพื่อเก็บข้อมูลการสำรวจและทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต ผ่านเว็บไซต์ www.speedtest.or.th และนำข้อมูลที่ได้จากการทดสอบเสนอ กทช. เพื่อให้ จัดทำมาตรฐานบริการอินเทอร์เน็ต ทั้งเรื่องของความเร็วและความเสถียร ปัจจุบัน ประเทศมาเลเซีย กำหนดมาตรฐานการให้บริการอินเทอร์เน็ตของผู้ให้บริการ ซึ่งระบุว่า ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการต้องไม่ต่ำกว่า 90% ของความเร็วที่โฆษณา

ยุค 3จี ผู้บริโภคยิ่งต้องรู้สิทธิโทรคมนาคม

เทคโนโลยี 3 จีเป็นสิ่งที่หลายคนเฝ้ารอ ซึ่งการใช้งานที่รองรับบริการได้หลากหลายโดยเฉพาะการรับส่งข้อมูล (ดาต้า) เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องรู้สิทธิ ถ้าผู้บริโภคไม่รู้สิทธิด้านโทรคมนาคมจะเสียเปรียบอย่างมาก เช่น การเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตถ้าเปิดเว็บไซต์ค้างไว้ โดยไม่ดาวน์โหลดข้อมูล หรือคลิกเปิดหน้าเว็บเพจ ใหม่ ผู้บริโภคจะเสียค่าบริการเพียงดาวน์โหลดเว็บไซต์ครั้งแรกเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาที่เปิดเว็บไซต์ค้างไว้หน้าจอ เพราะคิดค่าบริการตามปริมาณการดาวน์โหลด

ขณะที่เบอร์โทรศัพท์ 3จี แบบเติมเงิน (พรีเพด) ต้องมีการจดทะเบียนระบุตัวตนเจ้าของให้ชัดเจน เพราะใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ และเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

และปริมาณการใช้งานโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นจาก 15% ของเครื่องโทรศัพท์โดยรวมที่ใช้อยู่ในไทยปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 20% ส่งผลให้ปัญหาเอสเอ็มเอสขยะเปลี่ยนแปลงไปสู่มัลติมีเดีย ซึ่งมีการใช้ระบบโทรฯขายตรงแบบอัตโนมัติ และข้อความขยะแบบภาพเคลื่อนไหว

ซึ่งความคืบหน้าเรื่อง “มาตรการควบคุมเอสเอ็มเอสขยะ” ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปเรื่องเพื่อนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณา เพราะเรื่องการออกมาตรการควบคุมเอสเอ็มเอสขยะเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินงาน ให้ทันกับเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว

ก้าวทันเทคโนโลยีแล้ว อย่าลืมก้าวทันสิทธิที่ผู้บริโภคโทรคมนาคมพึงมีด้วย.

น้ำเพชร จันทา
namphetc@dailynews.co.th

อย่าว่าเขา ขนาดเราเองยังใช้กระหนํ่าเลย

มีมาก็ต้องใช้ครับ

ไม่เข้าใจว่าทำไมต้อง “สลด” ด้วย

กทช

ยุคสมัยไอที ^ ^