กทช.ทุบคอขวดบริการอินเทอร์เน็ต เปิดเสรีเกตเวย์/วอย

กทช.ปลดแอกบริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตไปต่างประเทศ และวอยซ์โอเวอร์ ไอพี เชื่อจะสามารถเพิ่มจำนวนไอเอสพี และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วย ขณะเดียวกันก็เดินหน้าขยายบริการโทรคมนาคมให้เข้าถึงถิ่นธุรกันดารมากขึ้น ส่วนไลเซ่นต์ 3G เริ่มพิจารณาอย่างเป็นทางการ ย้ำไม่เคยให้สิทธิ์ผู้ประกอบการรายใดไปทดสอบระบบ

   พลเอกชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า บอร์ด กทช.มีมติเห็นให้มีการเปิดเสรีเกี่ยวกับเกตเวย์อินเทอร์เน็ต (IIG) ไปต่างประเทศและบริการวอยซ์โอเวอร์ ไอพี (VoIP) ที่เป็นพีซี ทู โฟน สำหรับการเปิดเสรีเกตเวย์ครั้งนี้จะรวมถึงการเปิดอินเทอร์เน็ต เอ็กซ์เชน (ไอเอ็กซ์) ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพียง 2 รายคือ กสท โทรคมนาคม และเนคเทค
   
   “การเปิดเสรีก็ต้องเปิดคอขวด ครั้งนี้เป็นครั้งที่มีการเปิดตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของธุรกิจเน็ต อย่างVoIPใครอยากทำก็ทำได้เหมือนต่างประเทศเป็นพีซี ทู โฟน โดยปลดล็อกใครอยากทำก็ปล่อยเต็มที่ เพราะไม่ต้องใช้เลขหมายโทรคมนาคม” นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กทช. กล่าว
   
   ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับตลาดอินเทอร์เน็ต มีรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนคือ อินเทอร์เน็ต แอ็คเซ็ส และโฮสติ้ง โดยปี 2548 มีรายได้โดยรวมอยู่ที่ 181 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2549 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 229 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจากปี 2549-2552 จะมีรายได้โตเฉลี่ยปีละ 16%
   
   สำหรับผู้ที่จะให้บริการVoIP นั้น ผู้ที่มีใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือไอเอสพีอยู่แล้ว ไม่ต้องขอใบอนุญาตเพิ่ม เพียงแต่แจ้งให้กทช.ทราบว่าจะให้บริการดังกล่าว ส่วนผู้ที่ต้องการจะให้บริการVoIP ที่ยังไม่มีไลเซ่นต์ก็ต้องมาขอใบอนุญาต กทช.ยืนยันว่าการเปิดเสรีครั้งนี้ เป็นการเปิดในเรื่องของบริการประเภทที่ 2 และ 3 ส่วนกรณีที่ต่างชาติต้องการจะมาให้บริการVoIP ต้องเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคมที่วุฒิสภามีมติมีผลบังคับใช้ก็ต้องถือหุ้นไม่เกิน 49%
   
   ทั้งนี้ การเปิดเสรีทั้ง 2 เรื่องจะมีผลบังคับใช้หลังมีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ ส่วนข้อดีของการเปิดเสรีคือ จะทำให้ผู้ให้บริการรายย่อยรวมตัวเพื่อขอใบอนุญาตให้บริการแข่งกับไอเอสพีรายใหญ่ได้ ขณะเดียวกันก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนได้ เนื่องจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตภายในประเทศ ทราฟิกที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องวิ่งมาที่ไอเอ็กซ์ในกรุงเทพฯ ก่อน ต่อไปสามารถเชื่อมต่อกับไอเอ็กซ์ที่ใกล้ๆ ได้ทันที จึงทำให้ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการได้ ส่วนผู้ใช้บริการก็จะได้ค่าบริการที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังจะทำให้จำนวนผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นด้วย
   
   หลังจากปลดล็อกเรื่องของพีซี ทู โฟนแล้ว กทช. มีแผนจะเปิดเสรีในเรื่องของโฟน ทู โฟน ด้วยแต่ต้องศึกษาประเด็นและผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ให้บริการเดิม ผู้ให้บริการรายใหม่ และจะมีผู้ให้บริการมากน้อยเพียงใด กทช. จึงต้องขอเวลาศึกษาสักระยะก่อน เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่
   
   พร้อมกันนี้ กทช. ยังมีแผนที่จะเร่งขยายบริการโทรคมนาคมไปยังถิ่นธุรกันดารเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์สาธารณะ อินเทอร์เน็ต เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนเมืองกับชนบท เนื่องจากขณะนี้มีประมาณ 6,000 หมู่บ้าน และโรงพยาบาลอีก 4,000 แห่งจาก 8,000 แห่งทั่วประเทศที่ยังไม่มีโทรศัพท์เข้าถึง ซึ่งกทช. ได้มีการเจรจกับทีโอที และกสท เกี่ยวกับการแบ่งพื้นที่กันไปแล้ว
   
   นายเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช. กล่าวถึงการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G ว่า ที่ผ่านมาไทยได้ตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีการศึกษาข้อมูลแนวทางระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนามาตรฐาน อินเตอร์เนชันแนล โมบาย เทเลคอมมูนิเคชัน 2000 (ไอเอ็มี-2000 และ ไอเอ็มที-2000 บียอนด์) และโครงการพัฒนายูนิเวอร์แซล โมบาย เทเลคอมมูนิเคชัน ซิสเต็ม (ยูเอ็มทีเอส) ของไอทียู รวมถึงการดำเนินการโดยใช้แนวทางระหว่างประเทศเป็นกรอบแนวทางทั้งด้านการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เช่น การจัดทำตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามมาตรฐานไอทียู และมติครม.ที่อนุมัติให้กสท ดำเนินการลงทุนและจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อเตรียมการให้บริการ 3G รวมทั้งจัดสรรคลื่นความถี่ให้ทีโอที และกสทด้วย
   
   ในการพิจารณาออกใบอนุญาต 3G ของกทช.จะมีการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ หลังเทศกาลปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางระหว่างประเทศ และเป็นประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ ยังจะต้องศึกษาถึงผลดีและผลกระทบที่จะเกิดในมิติต่างๆ อย่างรอบด้านและครอบคลุมทั้ง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ก่อนจะมีการทำประชาพิจารณ์ต่อไป
   
   กทช.ยืนยันว่าที่ผ่านมาไม่เคยอนุมัติสิทธิ์ให้กับผู้ประกอบการรายใด มีการทดสอบเกี่ยวกับเทคโนโลยี 3จี กระแสข่าวที่ออกไปไม่ได้ออกจากกทช. เป็นเพียงการคาดการณ์กันเอง นอกจากนี้ เรื่องที่กทช.จะดำเนินการในปีหน้าคือเรื่องของใบอนุญาตเกี่ยวกับกิจการดาวเทียม และคลื่นไวแมกซ์ ที่เป็นไวร์เลส แอ็คเซ็ส
   
   พร้อมกันนี้ กทช.ยังให้สิทธิ์บริษัท บีเอ็มซีแอลดำเนินการในการให้บริการโครงข่ายในเส้นทางของรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือเป็นเน็ตเวิร์ก โพรวายเดอร์ ผู้ให้บริการโทรคมรายไหนต้องการให้บริการสื่อสารในเส้นทางดังกล่าวต้องเช่าโครงข่ายของบีเอ็มซีแอล

http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews…D=9480000178418

:angel: :dunce: :wavey:

ยูเซ่อตาดำๆ ได้แต่นั่งรอลุ้นครับ

หวังว่าคงได้ใช่ internet ถูกกว่าเดิมสักที