ในการที่จะทำให้โครงการนี้ได้จุดประกาย จำเป็นต้องได้ชื่อถึง 500,000 ชื่อค่ะ
ถ้าใครสนใจ ที่จะมีส่วนร่วมในการต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี่
เข้ามาอ่านรายละเอียดในเว็บนี้ แล้วลงชื่อตามสมัครใจค่ะ
และถ้าเห็นด้วย ก็ฝากข่าวด้วยค่ะ http://novaw.in.th
ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรีและเด็ก พระเจ้า หลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงทรงรับเป็นทูตสันถวไมตรีให้กับกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเฟม) ในโครงการ Say NO To Violence against Women ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยได้ร่วมกันยุติความรุนแรงและล่วงละเมิดต่อสตรีและ เด็ก โดยเสด็จไปทรงรับเป็นองค์ทูตสันถวไมตรี พร้อมทรง ลงพระนามในการ์ดต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง ที่ศูนย์ การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันศุกร์ (5 ก.ย.) ที่ผ่านมา
ดร.จีน เดอคูน่า ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเฟม) กล่าวว่า ยูนิเฟมรู้สึกสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์ เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงตอบรับเป็นทูตสันถวไมตรีในโครงการและการรณรงค์ Say NO To Violence agints women ในประเทศไทย โดยโครงการนี้เป็นการรณรงค์ให้ผู้สนใจลงชื่อทางอินเตอร์เนต เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและระดมทุนสนับสนุนการดำเนินการ ซึ่งยูนิเฟมจะต้องรวบรวมรายชื่อให้ครบ 5 แสนชื่อ เพื่อทำการส่งมอบลายเซ็นทั้งหมดแก่นายคี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ในโอกาสวันรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ในวันที่ 25 พ.ย. 2551 นี้
ผอ.ยูนิเฟมยังกล่าวอีกว่า ในฐานะองค์กรหลักของสหประชาชาติที่มีภารกิจ ในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการสร้างพลังแก่ผู้หญิง รู้สึกชื่นชมในพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงริเริ่มโครงการกำลังใจขึ้นมา เพื่อประทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ต้องขังสตรีและเด็กที่ติดแม่มา ในทัณฑสถานต่างๆ นอกจากนี้ ยังประทานความช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ต้องขังกลับตัวเป็นพลเมืองดีภายหลังจาก พ้นโทษแล้ว จากความประทับใจในพระกรณียกิจที่ทรงช่วย เหลือผู้ด้อยโอกาสที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย และรู้สึกชื่นชมที่ทรงดำริว่าการเคารพสิทธิของบุคคลเป็นเรื่องสำคัญ ดังจะเห็นได้จากโครงการกำลังใจในพระดำริ ได้รับเชิญ ไปจัดนิทรรศการระหว่างการประชุมสมัยที่ 17 ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา มีพระดำรัสตอนหนึ่งว่า ทรงรู้สึกชื่นชมในการเป็นหุ้นส่วนระยะยาวของประเทศไทย และยูนิเฟมในการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีใน ทุกรูปแบบ ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสังคมโดยรวม ปัญหานี้เป็นเรื่องของส่วนรวมทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงต้องทนทุกข์ทั้งทาง ด้านร่างกาย สุขภาพและจิตใจ และมีข้อมูลจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า สังคมต้องแบกรับต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงและเด็ก เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์สากล ไม่จำกัดเฉพาะสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงไม่ได้เป็นการกระทำ แบบสุ่มๆ แต่เป็นการกระทำที่มีรากฝังลึกมาจากทัศนคติของสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิง และชายในสังคมหลายที่ รวมทั้งในประเทศไทย
พระองค์ภารับสั่งอีกว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างนุ่มนวลแต่แข็งขัน เพื่อนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อทัศนคติและพฤติกรรมของคนในสังคม การยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ซึ่งต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาจากทุกๆภาคส่วนจากสหวิชาชีพ และรวมถึงความตั้งใจจริงของทุกๆฝ่ายในสังคม ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าที่ค่อนข้างน่าพอใจ ในการแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ ล่าสุดมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญ อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เป็นภารกิจที่สำคัญและท้าทายยิ่ง บุคลากรในระบบยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการและผู้พิพากษา ต้องมีความเข้าใจกฎหมายชัดเจน พร้อมกันนี้ต้องมีความตระหนักถึงมิติทางเพศ ความแตกต่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิง ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องนี้เราต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยว ข้องที่สำคัญไม่แพ้กัน ต้องมีการให้ความรู้ ความตระหนักและเข้าใจในหมู่สาธารณะ ในเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก รวมถึงการทำงานกับเครือข่ายเยาวชนที่จะเป็นรากฐานสำคัญในอนาคต โดยดึงให้เยาวชนมามีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ
นอกจากนี้ พระองค์ภายังรับสั่งถึงโครงการกำลังใจว่า โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายให้โอกาสและสนับสนุนผู้ต้องขังหญิงที่ท้อง และผู้ต้องขังหญิงที่มีเด็กติดในการฟื้นฟูดูแลสุขภาพรวมถึงฝึกวิชาชีพ โครงการนี้ยังส่งเสริมให้คนไทยในสังคมให้โอกาสกับอดีตผู้ต้องขัง ซึ่งได้สร้างทัศนคติใหม่ในการเป็นพลเมืองดีในสังคม พร้อมกันนี้รับสั่งอีกว่า ทรงเชื่อมั่นว่าถ้าพวกเราทุกฝ่ายร่วมมือกับโครงการยูนิเฟม ลายเซ็นจำนวนมากจากคนไทยจะแสดงพลังน้ำเสียงในการเป็นหนึ่งเดียวของไทย ต่อการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง แต่การเซ็นลายชื่ออย่างเดียวไม่เพียงพอ การเซ็นต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ พฤติกรรมและวิธีปฏิบัติของผู้ชาย ผู้หญิง ของเด็กชาย เด็กหญิง การปฏิบัติของนโยบาย กฎหมายและโครงการต่างๆ แต่เราจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งนับเป็นภารกิจท้าทายที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน.