ซันเตรียมคายซอร์สโค้ดสุดหวง ดัน Solaris เป็นโอเพนซอร์ส
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 มิถุนายน 2547 10:33 น.
[b]ซันเบนเข็ม เตรียมดันระบบปฏิบัติการโซลาริสสู่การเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส นักวิเคราะห์มองว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นความหวังของซันที่ตั้งใจจะชนกับลินุกซ์ในศึกเซิร์ฟเวอร์[/b] ขณะนี้ซันยังคงปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดของโครงการนี้ ทั้งที่มีการยืนยันออกมาแน่นอนแล้วก็ตาม ข่าวนี้หลายๆฝ่ายมองว่า ช้าไปเสียแล้ว ที่ซันจะกลับตัวกลับใจ เลิกปกปิดซอร์สโค้ดสุดหวง เพราะว่าลินุกซ์นั้นถูกพัฒนาไปเร็วมาก จนไม่แน่ใจว่าการโอเพนซอร์สของโซลาริสจะเกิดผลอะไรหรือไม่ หากซันยังคงยืดเวลาการโอเพนซอร์สออกไปเรื่อยๆเช่นนี้
[b]หลังจากมีข่าวลือออกมาหนาหูในช่วงก่อนหน้านี้หลายเดือน ล่าสุดซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystem) ออกมายืนยันว่า ซันจะเผยแพร่ซอร์สโค้ดของระบบปฏิบัติการโซลาริสแล้ว โดยที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้กฎไลเซนส์ของโอเพนซอร์ส[/b]
แม้ว่า รัส คาสโทรโนโว (Russ Castronovo) โฆษกของซันออกมายืนยันความตั้งอกตั้งใจแน่วแน่ในการโอเพนซอร์สโค้ดของโซลาริส แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดของโครงการนี้ รวมถึงความคืบหน้าของการเปลี่ยนแปลงของข้อตกลงเรื่องราคาไลเซนส์ซอฟต์แวร์ของซัน ในเมื่อรายละเอียดซอร์สโค้ดของโซลาริสจะถูกเปิดเผยจนหมดไส้หมดพุง
"ในช่วงนี้ เรากำลังอยู่ในช่วงการดำเนินงานตามแผน" คาสโทรโนโวกล่าว "เรากำลังทบทวนถึงผลกระทบหลายๆเรื่อง หากนำซอร์สโค้ดออกเผยแพร่ และคอยจับตาดูรายละเอียดของโครงการนี้ ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่กำลังรอการตรวจสอบ"
ที่ผ่านมาในศึกสังเวียนระบบปฏิบัติการ โซลาริสก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตองอูอยู่แล้ว เพราะความสามารถในการซัปพอร์ตผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ต่างๆในเครือซัน กระทั่งล่าสุด ผู้บริหารของซัน สก็อต แมคเนียลี (Scott McNealy) เดินหน้าจุดประกายการผลักดันให้โซลาริส กลายเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เผยแพร่ซอร์สโค้ดให้เห็นกันฟรีๆ แม้ว่าซอร์สโค้ดเหล่านี้จะมีค่าเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของบริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์อย่างซันก็ตาม
[b]ไม่ต้องกลัวว่านี่จะเป็นเรื่องลวงโลก เพราะซันประกาศจำนวนผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่กำลังจะกลายเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สอีกไม่นานนี้ไปแล้วเรียบร้อย[/b]
ผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ของซันที่จะถูกเผยแพร่ซอร์สโค้ดนั้นยกขบวนมาตั้งแต่ [b]ชุดผลิตภัณฑ์ OpenOffice คอมโพเนนท์ทั้งหลายของซอฟต์แวร์บนเดสก์ทอป Gnome และ Tomcat เซิร์ฟเล็ตคอนเทนเนอร์(servlet container)[/b] แต่อย่างไรก็ตาม จนถึงป่านนี้ ซันก็ยังไม่ยอมออกมาพูดถึงซอฟต์แวร์ที่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ของซัน นั่นคือระบบปฏิบัติการโซลาริสและจาวาแพลตฟอร์ม ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของกฏไลเซนส์โอเพนซอร์ส
แต่ถึงกระนั้น แค่รายชื่อซอฟต์แวร์ที่ซันเปิดเผยมา ก็ยั่วน้ำลายล่อตาล่อใจโปรแกรมเมอร์ ให้เดินหน้าเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ พัฒนาแพลตฟอร์มของซันให้เกรียงไกร
[b]สายเกินไป ที่จะวิ่งตามลินุกซ์[/b]
อิริค เรย์มอนด์ (Eric Raymond) ผู้ก่อตั้ง Open Source Initiative องค์กรการกุศลที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆในเรื่องของไลเซนส์ที่จะนำซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สไปพัฒนาต่อ กล่าวให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่าหากซันต้องการจะดันโซลาริสให้เป็นโอเพนซอร์สเช่นเดียวกับลินุกซ์ การเผยแพร่ซอร์สโค้ดของโซลาริจะต้องเกิดขึ้นจริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่เคอร์เนล (kernel) ของระบบปฏิบัติการโซลาริสยังคงเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ดึงดูดความสนใจของเหล่านักพัฒนา
[b]เพราะถ้าซันไม่รีบเผยแพร่ซอร์สโค้ดภายใน 6 เดือนนี้ การเผยแพร่ซอร์สโค้ดในครั้งนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะหากซันปล่อยซอร์สโค้ดออกมาช้ากว่านั้น ลินุกซ์ก็จะแซงหน้าไปอย่างไม่เห็นฝุ่น[/b]
ในตลาดเซิร์ฟเวอร์นั้นซันเสียมาร์เก็ตแชร์บางส่วนให้กับลินุกซ์ เพราะระบบเซิร์ฟเวอร์ราคาย่อมเยาที่มีลินุกซ์และชิปอินเทลเป็นพระเอกนั้นได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนส่งให้ยอดขายลินุกซ์บนเซิร์ฟเวอร์นั้นพุ่งขึ้นสูงถึง 57 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจในไตรมาสแรกปี 2004 ในขณะที่เซิร์ฟเวอร์ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ทำให้ยอดขายลดลง 3 เปอร์เซ็นต์ในขณะนั้น ตามการสำรวจของบริษัทวิจัยตลาดไอดีซี (IDC)
จริงๆ เรื่องที่ซันจะเปลี่ยนสถานะของโซลาริสไปเป็นโอเพนซอร์สนั้น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์พอสมควร เรย์มอนด์กล่าวว่า [b]อย่างที่เรารู้ๆกัน ว่าลินุกซ์นั้นเกิดขึ้นเพราะความอัดอั้นตันใจในเรื่องราคาแสนแพงและการหวงแหนซอร์สโค้ดนักหนาของโซลาริส[/b] เขากล่าวตบท้ายว่า [b]ถ้าหากซันคิดเร็วกว่านี้ โอเพนซอร์สออกมาในช่วงปี 1990 หรือเร็วกว่านั้น ลินุกซ์จะไม่มีตัวตนอยู่บนโลกถึงทุกวันนี้[/b]