ตำรวจเยอรมันจับผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการ Sasser ได้

ตำรวจเยอรมันจับผู้ต้องสงสัยร่วมขบวนการ Sasser ได้อีก 5 ราย

โดย ผู้จัดการออนไลน์

   [b]ตำรวจเมืองเบียร์บุกเข้าตรวจค้นอพาร์ทเมนต์ 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าเป็นที่กบดานของผู้ต้องสงสัยอีก 5 รายที่มีหลักฐานว่าได้ติดต่อกับเด็กชายวัยรุ่นผู้สร้างไวรัส Sasser[/b] หลังจากเด็กชายคนดังกล่าวถูกจับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นมีส่วนในการแพร่กระจายไวรัส Sasser ด้วย
   
   โดยกำลังจากตำรวจเยอรมันได้เข้าตรวจค้นห้องพักต้องสงสัยซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านของวัยรุ่นคนดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และผู้ต้องสงสัย 2 รายได้ยอมรับกับเจ้าหน้าที่ว่า เขาได้รับซอร์สโค้ด Netsky จากเด็กชายวัยรุ่นคนดังกล่าว ซึ่งสำนักข่าวเอพีระบุว่า[b]วัยรุ่นที่สร้างไวรัส Sasser มีชื่อจริงเสียงจริงว่า Sven Jaschan วัย 18 ปี[/b] ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกรายหนึ่งยอมรับว่าเขาได้ช่วยวัยรุ่นดังกล่าวในการแพร่กระจายไวรัสจริงอีกด้วย 
   
   จากข้อมูลที่ไมโครซอฟท์ได้รับ ร่วมกับเอฟบีไอ และทางการเยอรมันจนสามารถจับกุมเด็กชายคนดังกล่าวได้ในที่สุด พร้อมหลักฐานไวรัส Sasser ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของวัยรุ่นชายรายนี้มีผลทำให้เขาอาจ[b]ต้องโทษจำคุกประมาณ 5 ปี ด้วยข้อหา “ก่อวินาศกรรมบนระบบคอมพิวเตอร์”[/b] เพราะการแพร่กระจายไวรัสดังกล่าวมีผลทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรนับพันแห่งได้รับผลกระทบ หรือคิดเป็นคอมพิวเตอร์ประมาณ 18 ล้านเครื่องทั่วโลกที่เกิดการขัดข้อง ซึ่งคอมพิวเตอร์บางส่วนมีผลต่อชีวิตคนไข้ เช่นคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลในไต้หวัน เป็นต้น
   
   [b]เวลาปล่อย Sasser-E ช้าเกินเหตุ[/b]
   
   สิ่งที่ทำให้ทางการสงสัยว่าผู้เขียนไวรัสจะมีหลายคนก็คือ ในวันที่ตำรวจบุกเข้าจับกุม Jaschan นั้น ได้มีไวรัส Sasser.E ซึ่งเป็นเวอร์ชันใหม่ออกแพร่ระบาดบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นไปไม่ได้หาก Jaschan กระทำเรื่องดังกล่าวด้วยตัวคนเดียว เพราะคอมพิวเตอร์ของเขาถูกยึดเอาไว้เป็นหลักฐานแล้ว จึงเป็นที่มาของการขยายผลจนสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้อีก 5 รายในที่สุด
   
   โดยในช่วงแรกนั้น ไมโครซอฟท์เชื่อว่า Jaschan กระทำการแต่เพียงผู้เดียว โดยการปล่อยไวรัส Sasser ก่อนที่จะถูกจับในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่ามันสามารถทำได้ทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติอาจทำไม่ได้
   
   อย่างไรก็ดี เวลาที่ไวรัสดังกล่าวออกอาละวาดในอินเตอร์เน็ตคือหลักฐานสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่ามีบุคคลอื่นให้ความช่วยเหลือ Jaschan ในการแพร่กระจาย Sasser และ Netsky แน่นอน โดยหลังจากที่ได้จับกุมวัยรุ่นคนดังกล่าวแล้ว ทางเจ้าหน้าที่ซึ่งได้ศึกษาไวรัส Sasser-E นั้นตรวจพบว่า ไวรัส Sasser-E ถูกปล่อยออกมาหลังจากที่ทางการได้จับกุม Jaschan เป็นเวลา 45 นาทีเลยทีเดียว ทำให้ทางการเยอรมันเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่มีผู้ร่วมขบวนการคนอื่น ๆ ในการปล่อยไวรัส Sasser-E จนนำมาสู่การจับกุมดังกล่าว
   
   [b]อยากดังทำเหตุ[/b]
   
   นอกจากนี้เด็กชายคนดังกล่าวยังตกเป็นผู้ต้องหาในการสร้างไวรัส Netsky ด้วย [b]ซึ่งเขารับสารภาพว่าแรงจูงใจที่ทำให้เขาสร้างไวรัส Netsky.A นั้นก็เพื่อให้ไปต่อกรกับไวรัส MyDoom และ Bagle[/b] โดยการทำลายไวรัสสองตัวนี้ออกจากเครื่องที่ติดเชื้อ 
   
   ด้วยเหตุนั้น ทำให้เขาพัฒนาไวรัส Netsky เวอร์ชันใหม่ ๆ ออกมามากขึ้น และสุดท้ายเขาก็ได้สร้างไวรัส Sasser ซึ่งกลายเป็นไวรัสฝ่ายอธรรม ก่อความเสียหายไปทั่วโลก โดยอาศัยช่องโหว่จากระบบปฏิบัติการวินโดวส์ในการโจมตี [b]เขายังได้กล่าวยอมรับกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่า สาเหตุที่เขาเขียนไวรัสขึ้นนั้น เป็นเพราะ “อยากดัง”[/b]
   
   “การที่เขาบอกเล่า และหยิบยื่นซอร์สโค้ดไวรัสให้กับบุคคลอื่นที่เขารู้จัก ทำให้เราสามารถจับกุมเขาได้ในที่สุด” แพทริก ฮิโนโจซา (Patrick Hinojosa) ซีทีโอจากแพนด้าซอฟต์แวร์กล่าว “เขายังห่างไกลกับคำว่านักสร้างไวรัสมืออาชีพ เพราะคนเหล่านั้นฉลาดพอที่จะไม่คุยโวโอ้อวดในสิ่งที่เขาทำ แต่ Jaschan ยังมีพฤติกรรมเหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ต้องการความเด่นดัง การยอมรับในหมู่คนรู้จัก”
   
   อย่างไรก็ดี ฮิโนโจซาเชื่อว่า สิ่งที่เรียกว่าอีโก้ของนักเขียนไวรัสคือจุดอ่อนสำคัญ ไม่ใช่อายุ ยกตัวอย่างเช่นนักเขียนไวรัสหญิงชาวเบลเยี่ยมคนหนึ่ง ที่มีนิกเนมว่า “กิกะไบต์” ซึ่งเธอพยายามใส่รายละเอียดส่วนตัว เช่นว่าเธอชอบอะไรไม่ชอบอะไร ลงไปในไวรัสที่เธอเขียน ซึ่งอาจทำให้สาวไปยังตัวคนเขียนได้ในที่สุด