Microsoft กำชัย จ่าย 1.95พันล้าน ซื้อคู่แข่ง Linux

Microsoft กำชัย จ่าย 1.95 พันล้าน ซื้อคู่แข่ง เปิดศึก Linux

โดย ผู้จัดการออนไลน์

ผมรู้ พวกคุณส่วนใหญ่คิดว่านี่คือปาฏิหารย์ ที่เขาและผมอยู่ด้วยกัน ที่นี่ ไมโครซอฟท์พลิกบท ควงแขนซันไมโครซิสเต็มส์ หันหลังให้อดีต เดินหน้าสู่อนาคต ยุติความขัดแย้งทั้งหมดที่เคยมี พร้อมแชร์เทคโนโลยีซึ่งกันและกัน แบ่งผลประโยชน์ลงตัวและยุติธรรม ขณะที่นักวิเคราะห์คาด เป็นศึกหนักของลีนุกซ์

   ไมโครซอฟท์ (Microsoft Corp) จะจ่ายให้ซันฯเป็นเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.74 หมื่นล้านบาท) เพื่อยุติคดีผูกขาดที่ค้างคาอยู่ในชั้นศาล และอีก 900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.53 หมื่นล้านบาท) สำหรับยุติกรณีละเมิดสิทธิบัตร ตามการเปิดเผยของบริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems)
   
   ทั้งคู่ยังตกลงจะจ่ายค่ารอยัลตี้ (Royalty) สำหรับการใช้งานเทคโนโลยีของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย โดยไมโครซอฟท์ตกลงจ่ายล่วงหน้าให้กับซันฯเป็นมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.37 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ซันฯจะจ่ายให้กับไมโครซอฟท์ก็ต่อเมื่อได้มีการใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ในผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์แล้ว ตามรายงานจากสำนักข่าวไอดีจี (IDG)
   
   “รอยัลตี้” (Royalty) คือ 1 ใน 2 หนทางในการสร้างรายได้เข้าบริษัทผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property; IP) เป็นการเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิตอุปกรณ์ โดยคำนวณจากยอดผลิตหรือยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีหรือสินทรัพย์ทางปัญญานั้นๆ
   
   ส่วนอีกทางหนึ่งคือ การเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิตเป็นค่าไลเซนส์ (Lisensing) เพื่ออนุญาตให้ผู้ผลิตอุปกรณ์สามารถใช้เทคโนโลยีนั้นๆได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
   
   ทั้งซันฯและไมโครซอฟท์ยังมีความเห็นตรงกันด้วยว่า จะปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้สามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของอีกฝ่ายได้อย่างราบรื่น ไร้ปัญหาความไม่เข้ากันของระบบด้วย เพื่อความพึงพอใจของผู้บริโภค
   
   สำนักข่าวไอดีจีรายงานเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ซันฯและไมโครซอฟท์จะทำความตกลงเพื่อใช้สิทธิบัตรร่วมกัน และเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งอื่นๆ รวมถึงความร่วมมือด้านเทคนิค ที่เปิดทางให้แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเซิร์ฟเวอร์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน
   
   นอกจากนี้ ซันฯยังได้ประกาศแต่งตั้ง โจนาธาน สวอร์ตซ (Jonathan Schwartz) เป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการคนใหม่ของซันฯด้วย
   
   [b]เพื่อผู้บริโภค[/b]
   
   "ผมรู้ พวกคุณส่วนใหญ่คิดว่านี่คือปาฏิหารย์ ที่เขาและผมอยู่ด้วยกัน ที่นี่" สก็อตต์ แมคนีลีย์ (Scott McNealy) ประธานและประธานคณะผู้บริหาร บริษัทซันไมโครซิสเต็มส์ กล่าวและว่า "หลังจากที่ต่อสู้กันมาหลายปี กอปรกับคำขอของลูกค้าให้สร้างมิตรแทนการสร้างศัตรู" ทำให้แมคนีลีย์เริ่มติดต่อกับ สตีฟ บอลล์เมอร์ (Steve Ballmer) ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทไมโครซอฟท์ เมื่อต้นปี 2003 เพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างซันฯกับไมโครซอฟท์ ตามรายงานจากไอดีจี
   
   ทั้งคู่ใช้เวลา 1 ปีกว่าจะทำความตกลงกันได้
   
   "มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน" บอลล์เมอร์กล่าว "และเราต้องการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ระหว่างสก็อตต์และผม แต่หมายถึงระหว่างซันฯกับไมโครซอฟท์ และหากยังมีคดีความค้างคากันอยู่ ก็คงยากที่จะตกลงกันได้"
   
   "ทุกคนจะสบายกว่าเก่า จากสิ่งที่พวกเขาจะแชร์กันได้" บอลล์เมอร์กล่าวถึงเทคโนโลยีแชริ่ง (Sharing) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างซันฯกับไมโครซอฟท์

มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เราต้องการสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่แค่ระหว่างสก็อตต์และผม แต่หมายถึงระหว่างซันฯกับไมโครซอฟท์เจรจา เราเกือบบรรลุข้อตกลงกันได้ในเดือนธันวาคม 2003 แต่ยังต้องการความสร้างสรรค์อีกเล็กน้อย บอลล์เมอร์กล่าว

   ข้อตกลงส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จผ่านสายโทรศัพท์ กระนั้นทั้งคู่ก็ยังพบกันบ้างในบางโอกาส เริ่มจากที่แมคนีลีย์เอ่ยปากชวนบอลล์เมอร์ออกรอบแข่งกอล์ฟ จากนั้นก็ที่บริษัทไมโครซอฟท์ และที่บ้านของแมคนีลีย์ ตามรานงานของไอดีจี
   
   ผลของการคุยกันมากขึ้นก็คือ การบรรลุข้อตกลงร่วมกันในหลายๆเรื่องเมื่อวันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2004 อาทิ การยุติปัญหาผูกขาดและละเมิดสิทธิบัตร และการวางกรอบการแชร์เทคโนโลยีโดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของอีกฝ่าย
   
   ส่วนหนึ่งของข้อตกลงคือ ไมโครซอฟท์จะจ่ายให้ซันฯเป็นเงิน 700 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีผูกขาดระหว่างซันฯกับไมโครซอฟท์ และอีก 900 ล้านดอลลาร์ สำหรับกรณีละเมิดสิทธิบัตร กับอีก 350 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าไลเซนส์สำหรับเทคโนโลยีของซันฯ ตามการเปิดเผยของซันฯ
   
   บอลล์เมอร์และแมคนีลีย์ย้ำว่า การทำความตกลงร่วมกันในครั้งนี้ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ไมโครซอฟท์จ่ายให้ซันฯ แต่อยู่ที่โอกาสทางธุรกิจ ซึ่งทั้งคู่เชื่อว่า หลังจากนี้ไปรายได้ของทั้งคู่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
   
   [b]เล่าความหลัง[/b]
   
   ซันฯและไมโครซอฟท์เป็นคู่แข่งกันมาหลายปี มีการต่อสู้กันทั้งในศาลและนอกศาล ในศาลคือคดีผูกขาดที่ซันฯเป็นโจทก์ใหญ่ฟ้องร้องไมโครซอฟท์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป นอกศาลคือวิวาทะระหว่างบอลล์เมอร์กับแมคนีลีย์ แต่ตอนนี้ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันอีกครั้ง และไมโครซอฟท์กับซันฯจะร่วมมือกันไปอีกกว่า 10 ปี
   
   "เราไม่สามารถจะหาคำใดมาบรรยายให้คุณได้รู้ว่าเราซีเรียสแค่ไหนกับความร่วมมือในครั้งนี้" แมคนีลีย์กล่าว
   
   [b]Java = .NET[/b]
   
   ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซันฯประสบปัญหาทางการเงิน รายได้ลดลงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะเทคโนโลยีที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำงานร่วมกับระบบของคนอื่นๆได้ ทำให้ซันฯกลายเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคม ตามรายงานจากรอยเตอร์ (Reuters)
   
   “2 ล้านดอลลาร์ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของซันฯได้” มาร์ติน เรย์โนลด์ส (Martin Reynolds) นักวิเคราะห์จากการ์ตเนอร์ (Gartner Inc.) กล่าวและว่า “นี่เป็นข่าวดีสำหรับทั้งธุรกิจและผู้บริโภค ... ต่อไปนี้เราคงไม่ได้เห็นการทะเลาะกันของผู้ใหญ่ในเรื่องเล็กน้อย แต่ส่งผลร้ายต่อผู้บริโภค”
   
   ก่อนนี้ คนที่ต้องการลงทุนในเทคโนโลยีจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบว่าจะเลือก Java ของซันฯ หรือ .NET ของไมโครซอฟท์ การที่ทั้งคู่ตกลงจับมือกัน นั่นหมายความว่าต่อไปนี้เทคโนโลยีทั้งสองตัวจะทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ตามการเปิดเผยของ แดน คูสเน็ตสกี้ (Dan Kusnetzky) นักวิเคราะห์จากไอดีซี (IDC)
   
   “ต่อไปนี้คงไม่มีใครต้องมานั่งวิตกเกี่ยวกับอนาคตของคอมพิวเตอร์กันอีก”
   
   ซันฯยังเผยด้วยว่า บริษัทฯมีแผนปรับลดคนงานลง 10% หรือประมาณ 3,300 ตำแหน่ง และตั้ง โจนาธาน สวอร์ตซ (Jonathan Schwartz) เป็นประธานฝ่ายปฏิบัติการ
   
   [b]ร่วมถล่ม Linux[/b]
   
   ทั้งซันฯและไมโครซอฟท์มีคู่แข่งเดียวกันอยู่ นั่นคือ ลีนุกซ์ (Linux) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเฉพาะในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ เพราะลีนุกซ์ก็อปปี้และปรับแต่งได้อย่างอิสระ
   
   "ซันฯกับไมโครซอฟท์มีศัตรูรายเดียวกัน 

ลีนุกซ์" ร็อบ เอ็นเดิร์ล (Rob Enderle) หัวหน้านักวิเคราะห์ บริษัทเอ็นเดิร์ลกรุ๊ป (Enderle Group) กล่าวและว่า “ซันฯกับไมโครซอฟท์เป็นคู่แข่งกันก็จริง แต่ศัตรูที่ใหญ่กว่าคือลีนุกซ์”

   การทำความตกลงร่วมระหว่างซันฯกับไมโครซอฟท์เท่ากับปิดแนวรบไปหนึ่งด้วย ทำให้ผู้บริโภคเหลือตัวเลือกเพียงแค่ 2 ตัวในปัจจุบันคือ ซันฯ-ไมโครซอฟท์ หรือลีนุกซ์ นักวิเคราะห์กล่าว

ไม่ว่าจะเป็น Java.NET หรือ อนาคตอาจจะเป็น JSP.NET ก็น่ากลัวทั้งนั้น อีกหน่อยคงไม่มีอะไรฟรีอีกต่อไป เหมือน Redhat และ PHP คงไม่ฟรีอีกต่อไป :frowning:

MS เริ่มสร้างกระแสได้ระดับหนึ่งแล้วนะครับ ระวังกันนิดครับ
แต่เรื่อง SUN นี่ก็แปลก ที่อเมริกา ทำท่าร่อแร่มาสักพักแล้ว
แต่ที่เมืองไทย บริษัทใหญ่ๆ ก็ยังคงบ้าคลั่งกับเครื่องของ SUN
อึม … ซึมลึกครับ B)

หลังๆ นี่หลายบริษัทที่เคยใช้ซันก็หันมาใช้ Windows Server เยอะแล้วเหมือนกัน :huh: