สุดยอด! Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook อายุเพียง 22

หลายคนที่เล่น facebook อาจจะยังไม่เคยรู้ว่าเว็บนี้มีเจ้าของที่อายุ เพียง 22 ปี และที่สำคัญเจ้าตัวยังปฏิเสธเงินก้อนโตจากทาง Yahoo ไปแบบไม่ใยดีอีกด้วย !! โหย น่านับถือ อายุ 22 เองนะเนี่ย !!
Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook เว็บ Social Networking ที่กำลังโด่งดังสุดขีดแห่งเว็บยุคใหม่ Web 2.0

Mark Zuckerberg ก่อตั้ง Facebook เว็บชุมชนออนไลน์ (Social-Networking Site) ที่กำลังได้รับความนิยมสุดขีดในขณะนี้ เมื่อ 3 ปีก่อน ขณะยังเรียนอยู่ที่ Harvard ก่อนจะลาออกกลางคัน เจริญรอยตาม Bill Gates แห่ง Microsoft เพื่อเป็น CEO ของเว็บชุมชนออนไลน์ที่เขาก่อตั้งขึ้น ด้วยวัยเพียง 22 ปี
ภายในเวลาเพียง 3 ปี เว็บที่เริ่มต้นจากการเป็นเว็บชุมชนออนไลน์สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย กลายเป็นเว็บที่มีผู้ใช้ที่ลงทะเบียน 19 ล้านคน ซึ่งรวมถึงข้าราชการในหน่วยงานรัฐบาล และพนักงานบริษัทที่ติดอันดับ Fortune 500 มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใช้ เข้าเว็บนี้เป็นประจำทุกวัน และขณะนี้กลายเป็นเว็บที่มีผู้เข้าชมมากเป็นอันดับ 6 ในสหรัฐ 1% ของเวลาทั้งหมดที่ใช้บน Internet ถูกใช้ในเว็บ Facebook

นอกจากนี้ ยังได้รับการจัดอันดับเป็นเว็บที่ผู้ใช้ Upload รูปขึ้นไปเก็บไว้มากเป็นอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ โดยมีจำนวนรูปที่ถูก Upload ขึ้นไปบนเว็บ 6 ล้านรูปต่อวัน และกำลังเริ่มจะเป็นคู่แข่งกับ Google และเว็บยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในการดึงดูดวิศวกรรุ่นใหม่ใน Silicon Valley นักวิเคราะห์คาดว่า Facebook จะทำรายได้ 100 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

Zuckerberg เพิ่งปฏิเสธข้อเสนอซื้อของ Yahoo ซึ่งเสนอซื้อ Facebook ด้วยเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลือว่า Viacom เสนอซื้อ Facebook ด้วยเงิน 750 ล้านดอลลาร์ คำถามคือ การตัดสินใจของ Zuckerberg ครั้งนี้ ถูกต้องหรือไม่
ในช่วงไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมา มีเว็บยุคใหม่ที่เรียกว่า Web 2.0 ที่โด่งดัง 2 แห่ง ที่เพิ่งถูกขายให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ นั่นคือ MySpace ที่ถูก News Corp ซื้อไปด้วยเงิน 580 ล้านดอลลาร์ และ YouTube ที่ยอมรับเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์จาก Google

ขณะที่ในอดีตเว็บ Friendster เว็บชุมชนออนไลน์ที่โด่งดังเป็นเว็บแรก เคยปฏิเสธการเสนอซื้อด้วยเงิน 30 ล้านดอลลาร์จาก Google ในปี 2002 ซึ่งหากจ่ายเป็นหุ้น ป่านนี้คงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้น Friendster ซึ่งเป็นเว็บรุ่นเก่า ก็ถูกบดบังรัศมีโดยเว็บรุ่นใหม่ๆ

Facebook จะประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับ Friendster หรือไม่ ในขณะที่เว็บชุมชนออนไลน์ใหม่ๆ เกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละวัน

Cisco เพิ่งซื้อ Five Across ซึ่งขายซอฟต์แวร์เว็บชุมชนออนไลน์ให้แก่ลูกค้าบริษัท Microsoft กำลังทดสอบเว็บชุมชนออนไลน์ใหม่ที่มีชื่อว่า Wallop แม้กระทั่ง Reuters ก็กำลังวางแผนจะทำเว็บออนไลน์ที่คล้ายกับหนังสือรุ่นแบบ Facebook เพื่อเก็บข้อมูลของผู้จัดการกองทุนและ Trader

แต่ Zuckerberg คิดต่างออกไป เขาต้องการสร้างสิ่งที่จะอยู่ได้ในระยะยาว และเขาไม่สนใจสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากนั้น ทั้งตัวเขาและเพื่อนผู้ร่วมก่อตั้ง Facebook คือ Dustin Moskovitz วัย 22 เพื่อนร่วมห้องที่ Harvard ซึ่งรับผิดชอบด้านวิศวกรรมของ Facebook และ Adam D’Angelo วัย 23 ปี เพื่อนร่วมโรงเรียนของ Zuckerberg ซึ่งรับผิดชอบด้านเทคโนโลยีของ Facebook ต่างมีความเชื่อมั่นศรัทธาว่า การเปิดกว้าง ความร่วมมือ และการแบ่งปันข้อมูลของเว็บชุมชนออนไลน์ จะทำให้โลกทำงานได้ดีขึ้น

Zuckerberg ยอมรับว่าเขาเป็น Hacker แต่ไม่ใช่ในความหมายของนักเจาะระบบ Hacker ของเขาหมายถึงการนำความพยายามและความรู้ที่ทุกคนมีมารวมกัน แบ่งปันกัน เพื่อบรรลุสิ่งที่ดีกว่า เร็วกว่าหรือใหญ่กว่า ซึ่งคนๆ เดียวทำไม่ได้ โดยให้ความสำคัญกับการเปิดกว้าง การแบ่งปันข้อมูล เขาสร้างสิ่งที่เรียกว่า Hackathon ใน Facebook ซึ่งคล้ายกับการระดมสมองสำหรับวิศวกร

อย่างไร ก็ตาม Facebook กลับมีกำเนิดมาจากการเจาะระบบจริงๆ เมื่อ Zuckerberg เรียนอยู่ที่ Harvard เขาพบว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่มีหนังสือรุ่นที่เรียกว่า Face Book ซึ่งจะเก็บรายชื่อนักศึกษาพร้อมรูปและข้อมูลพื้นฐาน เหมือนอย่างมหาวิทยาลัยทั่วไป Zuckerberg ต้องการจะทำหนังสือรุ่นออนไลน์ของ Harvard แต่ Harvard กลับปฏิเสธว่า ไม่สามารถจะรวบรวมข้อมูลได้

Zuckerberg จึงเจาะเข้าไปในระบบทะเบียนประวัตินักศึกษาของ Harvard และทำเว็บไซต์ชื่อ Facemash ซึ่งจะสุ่มเลือกรูปของนักศึกษา 2 คนขึ้นมา และเชิญให้ผู้เข้ามาในเว็บเลือกว่า ใคร “ฮอต” กว่ากัน

ภายในเวลา เพียง 4 ชั่วโมง มีนักศึกษาเข้าไปในเว็บของ Zuckerberg 450 คน และมีสถิติการชมภาพ 22,000 ครั้ง ทำให้ Harvard ห้าม Zuckerberg ใช้ Internet และเรียกตัวไปตำหนิ เหตุการณ์จบลงโดย Zuckerberg กล่าวขอโทษเพื่อนนักศึกษา แต่เขายังคงเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง

ต่อ มา Zuckerberg จัดทำแบบฟอร์ม Facebook เพื่อให้นักศึกษาเข้ามาเขียนข้อมูลของตนเอง Thefacebook.com ซึ่งเป็นชื่อเริ่มแรกของ Facebook เปิดตัวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2004 ภายในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นักศึกษาครึ่งหนึ่งของ Harvard ลงทะเบียนในเว็บแห่งนี้ และเพิ่มเป็น 2 ใน 3 ของนักศึกษา Harvard ทั้งหมดในเวลาอันรวดเร็ว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่นเริ่มติดต่อ Zuckerberg ขอให้ทำหนังสือรุ่นออนไลน์ให้แก่มหาวิทยาลัยของพวกเขาบ้าง จึงเกิดพื้นที่ใหม่ใน Facebook สำหรับ Stanford และ Yale ภายในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน โรงเรียนอีก 30 แห่งเข้าร่วมใน Facebook ตามมาด้วยโฆษณาที่เกี่ยวกับนักเรียนนักศึกษา และธุรกิจที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ทำให้เว็บชุมชนแห่งนี้ เริ่มสร้างรายได้หลายพันดอลลาร์

Sean Parker ผู้ร่วมก่อตั้ง Napster โปรแกรม File-sharing ชื่อดัง ซึ่งหยุดชะงักไปเนื่องจากถูกอุตสาหกรรมเพลงและภาพยนตร์ฟ้องร้อง เป็นผู้ชักนำ Zuckerberg ให้ได้พบกับนักลงทุนรายใหญ่รายแรกคือ Peter Thiel ผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal และเป็นผู้บริหารกองทุนเก็งกำไร Clarium Capital และกองทุน Founders Fund ซึ่งลงทุนใน Facebook 500,000 ดอลลาร์ และทำให้ Zuckerberg มีโอกาสสร้างสายสัมพันธ์ใน Silicon Valley

ในเดือน พฤศจิกายนปี 2004 Facebook มีจำนวนผู้เข้าชมทะลุระดับ 1 ล้านคน 6 เดือนต่อจากนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ Thiel ทำให้ Zuckerberg ได้รับเงินลงทุนเพิ่มอีก 12.7 ล้านดอลลาร์จาก Accel Partners ทำให้เขาสามารถว่างจ้างทัพวิศวกรรุ่นใหม่ ซึ่งรวมถึง Steve Chen ผู้ซึ่งหลังจากนั้นไม่กี่เดือนได้ร่วมก่อตั้ง YouTube ในปี 2005 Facebook มีผู้ใช้ที่เรียกว่า Active User 5 ล้านคน ซึ่งหมายถึงผู้ใช้ที่แวะเข้าเว็บแห่งนี้อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน

Facebook เป็นเครื่องมือทางสังคม ที่ทำให้คนสามารถแบ่งปันข้อมูลกับคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และต่างจาก MySpace เว็บชุมชนออนไลน์อันดับหนึ่งในขณะนี้ ซึ่งหลายคนมองว่าคือคู่แข่งของ Facebook ตรงที่ใน MySpace ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อจริง แต่ Facebook เป็นชุมชนในโลกจริง ที่ใช้ชื่อ Email เดียวกัน และต้องการที่จะทำความรู้จักคนอื่นๆ ในสังคมเดียวกันในโลกจริง ข้อมูลที่นำมาแบ่งปันกันใน Facebook จะเป็นอะไรก็ได้ รูปถ่ายตอนไปเที่ยวปิดเทอม ที่อยู่ของเพื่อน หนังที่ชอบ และทุกๆ อย่าง ซึ่งตอบสนองความต้องการของนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่กระตือรือร้นอยากจะรู้จักคนอื่นๆ ในสังคมเดียวกันให้มากขึ้น

ใน เดือนกันยายนปี 2005 Facebook ขยายตัวด้วยการเปิดชุมชนออนไลน์สำหรับนักเรียนโรงเรียนมัธยม และในเดือนมิถุนายนปี 2006 เปิดชุมชนออนไลน์สำหรับคนวัยทำงาน และขณะนี้มีชุมชนออนไลน์ของคนทำงานมากกว่า 20,000 ชุมชนแล้วใน Facebook มีตั้งแต่ชุมชนของเจ้าหน้าที่ CIA ไปจนถึงพนักงานของ Macy’s, McDonald’s, Time Inc. กระทั่งกองกำลังนาวิกโยธินของสหรัฐฯ แม้กระทั่ง MySpace ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของ Facebook ยังมีชุมชนพนักงานออนไลน์อยู่ที่ Facebook

ในเดือนกันยายนปี 2006 Facebook เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนผู้ใช้แบบ Open Registration หมายถึงใครก็ตามที่มีที่อยู่ Email ที่แน่นอน ก็สามารถเข้าร่วมกับ Facebook ได้ แต่ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อ Facebook เริ่มใช้คุณสมบัติใหม่ที่เรียกว่า News Feed ซึ่งจะรายงานกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในชุมชนหนึ่งๆ หรือกลุ่มเพื่อนกลุ่มหนึ่งๆ บน Facebook แต่กลับถูกชุมชนชาว Facebook ต่อต้าน เนื่องจากผู้ใช้เกิดความรู้สึกว่า ข้อมูลส่วนตัวของพวกเขาถูกแพร่กระจายไปทั่วทั้งเว็บ Facebook โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพวกเขา แม้ว่าข้อมูลเหล่านั้น พวกเขาจะเป็นคนเขียนเองก็ตาม

Zuckerberg ผิดพลาดตรงที่ลืมให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัว มีผู้ใช้ Facebook เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ถึง 700,000 คนภายในเวลาน้อยกว่า 48 ชั่วโมง มีบางคนเห็นว่านั่นคือจุดจบของ Facebook

Zuckerberg เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ใช้ผ่าน Blog ใน Facebook ชี้แจงว่า เขาคิด News Feed และ Mini-Feed ขึ้นมา เพื่อให้ข่าวสารข้อมูลแก่คนในชุมชนเดียวกันบน Facebook แต่ยอมรับว่า ไม่ได้อธิบายคุณสมบัตินี้ให้ชัดเจน และไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัว จากนั้นทีมวิศวกรของเขาทำงานหนัก 3 วันเต็ม เพื่อปรับปรุงเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัว

ในที่สุดมรสุมก็ผ่าน พ้น และ Zuckerberg อ้างว่าขณะนี้ News Feed กลายเป็นสิ่งที่ผู้ใช้นิยม และสามารถผลิตข่าวภายใน 1 วันสำหรับผู้ใช้ 19 ล้านคน ได้มากกว่าสื่ออื่นใด อย่างไรก็ตาม Facebook ยังเผชิญอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานับตั้งแต่เริ่มเปิดตัว จากการถูกนักศึกษา Harvard 4 คนฟ้องร้องว่า Zuckerberg ขโมยความคิดในการก่อตั้ง Facebook แต่ Facebook ฟ้องกลับ และคดียังไม่สิ้นสุด

Zuckerberg ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในบ้านเช่า และยังเดินหรือขี่จักรยานไปทำงานทุกวัน ที่สำนักงานใหญ่ของ Facebook ใน Palo Alto แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีพนักงาน 200 คน ที่ได้รับเงินเดือนสูงลิ่วและสวัสดิการที่ดีเยี่ยม เลี่ยงการเปิดเผยเกี่ยวกับการเงินของ Facebook ปีที่แล้ว Facebook ได้รับเงินทุนจากนักลงทุน Venture Capital เพิ่มขึ้นอีก 25 ล้านดอลลาร์ จากกองทุน Greylock Partners และ Meritech Capital ในขณะที่ Accel และ Thiel ก็ยังคงเพิ่มเงินลงทุนใน Facebook แต่ Facebook ไม่ได้อยู่ได้ด้วยการพึ่งพาเงินของ Venture Capital แต่อยู่ได้ด้วยรายได้จากการดำเนินธุรกิจของบริษัท ซึ่งนำมาใช้ขยายการเติบโตของบริษัท Facebook ยังมีแผนจะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานอีกหลายล้านดอลลาร์

Facebook มีรายได้ส่วนใหญ่จากการโฆษณาและผู้อุปถัมภ์ Apple เป็นผู้สนับสนุนรายแรกๆ ส่วนลูกค้ารายใหญ่คือ Microsoft ซึ่งจะลงโฆษณาบน Facebook ไปจนถึงปี 2011 นอกจากนี้ยังมี JPMorgan Chase และ Southwest และ Facebook ยังเพิ่งตกลงที่จะทำ Facebook Diaries รายการชุดที่จะฉายทั้งในเว็บ Facebook และ Ziddio.com เว็บ Video-Uploading ของ Comcast รวมทั้งขายผ่านบริการ Vidio-on-Demand ของ Comcast ด้วย

แผนในอนาคต ของ Facebook คืออะไร หลังจากปฏิเสธการเสนอซื้อจาก Yahoo ทั้งตัว Zuckerberg และนักลงทุนคนสำคัญอย่าง Thiel ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า Facebook ยังไม่รีบร้อนที่จะขายให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่ หรือขายหุ้นให้สาธารณชน และราคาเสนอซื้อแค่หนึ่งพันล้านนั้นต่ำเกินไป เพราะ Facebook มีค่ามากกว่าที่คนภายนอกคิด ถ้าดูจากฐานผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น และจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้นทางเลือกที่ดีกว่าของ Facebook ซึ่งมีจุดแข็งที่เทคโนโลยี คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี และทำให้บริษัทเติบโตต่อไป โดยรุกเข้าไปในภาคส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากชุมชนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

ขณะ นี้ Facebook กำลังจะเพิ่มจำนวนวิศวกรจาก 50 คนอีกเท่าตัวภายในปีนี้ และเพิ่มจำนวนพนักงานบริการลูกค้าซึ่งมีอยู่ 50 คน เพราะจำนวนผู้ใช้รายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างท่วมท้น 100,000 คนต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดมหาวิทยาลัยในแคนาดาและอังกฤษของ Facebook เติบโตเกือบ 30% ต่อเดือน (มีข่าวว่า เจ้าชาย Harry แห่งอังกฤษและเพื่อนสาวคนสนิทก็เป็นผู้ใช้ Facebook ด้วย) และ 28% ของผู้ใช้ Facebook ทั้งหมด อยู่นอกสหรัฐฯ นอกจากนี้ อายุของผู้ใช้ Facebook เริ่มหลากหลายมากขึ้น ผู้ใช้อายุ 25-34 ปีมี 3 ล้านคน อายุ 35-44 ปีมี 380,000 คน และอายุเกิน 64 ปีมี 100,000 คน

3 ปีก่อน Zuckerberg มาถึง Palo Alto ด้วยมือเปล่า และยังเป็นนักศึกษาของ Harvard แต่ขณะนี้เขาเป็นผู้บริหารเว็บไซต์ชุมชนออนไลน์ที่กำลังฮอตที่สุด และเพิ่งได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมผู้นำการเมืองและเศรษฐกิจ โลกที่เมือง Davos สวิตเซอร์แลนด์ในปีนี้ รวมทั้งเพิ่งปฏิเสธข้อเสนอซื้อมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์อย่างไม่ใยดี ***

ที่มา : http://space.freakz.cc/space.php?uid=5213&do=blog&id=11

เก่งจริง ๆ อยากให้มีเด็กไทยแบบนี้บ้าง

Steve Chen ตัวจริงแนวคิดสุดยอดมากครับ

ต้องฟังเค้าพูดให้จบ ตัวพ่อกว่าผมอีก ผมว่าผมพูดไม่ค่อยรู้เรื่องแล้วนะ
แต่วันที่นั่งคุยกัน มี Jared Smith ซึ่งเป็น นายใหญ่จาก Google ที่คุม Dev ภูมิภาคเอเชีย คอยอธิบายให้ฟัง

ไม่งั้นมีตายแน่ๆ ฟังแทบไม่ทัน พี่ Chen ท่านพูดเร็วกว่าอาแป๊ะขายน้ำเต้าหู้แถวบ้านผมอีก

Bryan Power ก็เป็นอีกมันสมองรุ่นใหม่ของ Facebook รวมถึง Justin Lawyer ที่ย้ายบ้านมาจาก Yahoo! และ Google เหมือน Power ด้วย

อ่อ การเมืองภายใน facebook ก็รุนแรงนะครับ - -’ ขนาดเป็น outsource กระจอกๆ ยังต้องเลือกข้างเลยครับ เลือกผิดฝั่งอดได้งานในอนาคตแน่นอน

แอบโฆษณา facebook ตัวเอง http://www.facebook.com/lazier

เมื่อไหร่จะมีบริษัทคนไทยติดอันดับโลกบ้างนะ…

สักวันคงจะมีวันนั้นนะครับ.

ยอมรับว่าเชยครับ ไม่เคยเข้าไปใช้งานเลย
แถมมีคนมาเชิญ

ชักร้อนตัว วันนั้นกดผิด ตอนนี้เลยซวยซ้ำซ้อน เพราะมันส่งเมลไปกวนใจชาวบ้านเยอะมากค่ะ (ซวยหนัก)

อยากเห็นคนไทยขึ้นสู่ระดับโลกแบบนี้บ้างจัง

มีหลายคนครับ ที่เชิญมา

สมัครไปหลายเดือนแล้วครับ แต่ใช้งานไม่เป็น เล่นไม่เป็น มีเพื่อนมาแซวก็เลยแชตคุยไปมา ใช้เป็นแค่นั้นครับ ฮ่าๆ

คนไทย ต้องเสียเวลาเรียนไปครึ่งชีวิตครับ …
พอโตขึ้น ช่วงเวลาของความคิดดีดี ก็เข้าไปอยู่ในกรอบหมด…

เป็นไปได้ยากสำหรับคนไทยอายุ 22 ครับ

กว่าจะเรียนจบก็ไม่มีเวลามานั่งทำอย่างอื่นแล้วครับ

เจอเด็กหลายคนมีแนวคิดดีๆ มีความรู้ แต่ขาดโอกาสครับ แล้วเค้าไม่รู้วิธีหาด้วย

อีกอย่าง สังคมไทยยังไม่ค่อยให้โอกาสเด็กได้เกิดซักเท่าไหร่เพราะค่านิยมเรื่องเรียนนี่แหละ

เหมือนกันเลยพี่ธี