ถึงเวลา IPv6 ช้าเจอปัญหาแน่!!!
ไม่ใช่คำขู่ หรือเขียนให้ดูน่ากลัว แต่เป็นเรื่องจริงที่จะเกิดขึ้นแน่ ถ้ายังช้า…
ไอพีวี 4 (IPv 4) หรือ Internet Protocol Version 4 เป็นไอพีแอดเดรส เวอร์ชั่น 4 ที่ใช้ระบุตัวอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมานานถึง 29 ปีแล้ว มีจำนวนเลขหมายไอพีแอดเดรสประมาณ 4 พันล้านเลขหมาย และคาดการณ์กันว่า เลขหมายไอพีแอดเดรส เวอร์ชั่น 4 จะหมดลงในปี ค.ศ. 2011 หรือปี พ.ศ. 2554
โดยแบ่งระยะเวลาการหมดของไอพีแอดเดรส เวอร์ชั่น 4 เป็นสองช่วง โดยเริ่มหมดจากอเมริกาเพราะมีสำนักงานกลางของหน่วยงานที่จัดแบ่งเลขหมายไอพีแอดเดรส ตั้งอยู่ที่นั้น ก่อนขยายการหมดไปสู่ประเทศในทวีปต่าง ๆ ของโลก ซึ่งการขอเลขหมายไอพีแอดเดรสของไทยต้องขอที่สำนักงานแบ่งเลขหมายไอพีแอดเดรสที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลีย เพราะมีการจัดตั้งสำนักงานแบ่งเลขหมายไอพีแอดเดรสใน 5 ทวีป
ดร.สินชัย กมลภิวงศ์ นายกสมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย กล่าวว่า ระยะเวลาการหมดของไอพีแอดเดรส เวอร์ชั่น 4 จะเริ่มตั้งแต่ มี.ค. 2554 ในแถบประเทศอเมริกา ส่วนประเทศอื่น ๆ จะทยอยหมดอีก 10-12 เดือน หรือหมดปลายปี ค.ศ. 2011 หรือต้นปี ค.ศ. 2012
วันนี้จึงได้เวลาเปลี่ยนผ่านการใช้งาน ไอพีวี 4 สู่ ไอพีวี 6 (IPv 6) หรือ Internet Protocol Version 6 ซึ่งเป็นไอพี แอดเดรส เวอร์ชั่น 6 ที่พัฒนาให้มีจำนวนเลขหมายมากถึงระดับล้านล้านล้านเลขหมาย หรือ 2 ยกกำลัง 128 เพียงพอที่จะให้ประชาคมโลกใช้งานไอพีแอดเดรสได้ถึง 50 ปี หลังจากนั้นคงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เวอร์ชั่นใหม่ต่อไป
หากนึกภาพจำนวนเลขหมายที่มีปริมาณมากในระดับล้านล้านล้านไม่ออก ลองเปรียบเทียบแบบง่าย ๆ ถ้านำปริมาณของเลขหมาย ไอพีวี 4 มาเรียงต่อกันจะยาวเท่ากับ 1 นิ้ว ขณะที่ถ้านำปริมาณเลขหมายของไอพีวี 6 มาเรียงต่อกันจะยาวจากโลกถึงดวงจันทร์
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเท่าไร เลขหมายไอพีแอดเดรสสำหรับระบุตัวอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อสู่โลกอินเทอร์เน็ตจึงมีเพียงพอ แม้จะให้เลขหมายไอพีแอดเดรสที่มีปริมาณเท่ากับจำนวนไอพีวี 4 กับองค์กรแต่ละองค์กรก็ตาม
สำหรับการเปลี่ยนผ่านจาก ไอพีวี 4 สู่ ไอพีวี 6 ดร.สินชัย กล่าวว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี เนื่องจากมีต้นแบบจากประเทศที่มีการใช้งาน ไอพีวี 6 แล้ว อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และมาเลเซีย ถ้าวันนี้ประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้งานไอพีวี 6 ก็ต้องใช้เวลา 3-4 ปี จึงจะเข้าสู่การใช้งาน อย่างแท้จริง
ปัจจุบันเว็บไซต์กูเกิล ใช้งานไอพีวี 6 แล้ว ซึ่งการเปลี่ยนผ่านจาก ไอพีวี 4 สู่ ไอพีวี 6 ณ เวลานี้ ผู้บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบมาก แต่ถ้ารอช้าจนถึงวันที่ไอพีวี 4 หมด แล้วค่อยก้าวสู่การใช้งาน ไอพีวี 6 จะเกิดผลกระทบมาก เพราะผู้ประกอบการด้านอินเทอร์เน็ตต้องจัดหาอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ ซึ่งวันนั้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไอพีวี 4 จะมีราคาแพง เนื่องจากใกล้จะเลิกผลิตแล้ว และถ้าประเทศอื่นใช้ ไอพีวี 6 กันหมด ก็อาจทำให้การเชื่อมต่อระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ เป็นไปได้ยาก ขณะที่การคิดค้นแอพพลิเคชั่น ใหม่ ๆ จะทำได้ลำบาก หากยังใช้งานบนไอพีวี 4 แต่ทั่วโลกใช้ ไอพีวี 6
“การเปลี่ยนผ่านจาก ไอพีวี 4 สู่ไอพีวี 6 ไม่ต้องรอให้ไอพีวี 4 หมดก่อนถึงค่อยเปลี่ยน แต่สามารถค่อย ๆ ดำเนินการ โดยทำให้ ไอพีวี 4 ทำงานร่วมกับไอพีวี 6 ได้ โดยกลยุทธ์ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนิยมทำ คือ ลูกค้าอินเทอร์เน็ตรายใหม่ ๆ จะได้ใช้ เลขหมายของ ไอพีวี 6 แทนการให้เลขหมายไอพีวี 4” ดร.สินชัย กล่าวว่า
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยเทคโนโลยีเอดีเอสแอลในประเทศไทย ยังไม่มีการรับรองว่าจะสามารถใช้งานบนไอพีวี 6 ได้ จึงยังไม่สามารถเชื่อมต่อการทำงานเข้าสู่ไอพีวี 6 ได้ ซึ่งการที่ผู้ใช้งานไอพีวี 4 เชื่อมต่อเว็บไซต์กูเกิล ที่ทำงานบนไอพีวี 6 ได้ เพราะใช้เทคโนโลยีตัวกลางทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกัน แต่คุณภาพความเร็วในการเชื่อมต่อ ไม่เทียบเท่าการเชื่อมต่อระหว่าง ไอพีวี 6 ด้วยกันเอง
และในอนาคตหากรัฐบาลของแต่ละประเทศประกาศให้การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกันต้องใช้ ไอพีวี 6 จะทำให้ประเทศไทยลำบาก ข้อมูลการค้าและธุรกิจที่ติดต่อกันจะสะดุด
ดร.สินชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แนวทางรองรับการก้าวสู่ไอพีวี 6 ของไทย ขณะนี้สมาคมไอพีวี 6 ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ผลักดันให้โครงข่ายของหน่วยงานภาครัฐรองรับการใช้งานไอพีวี 6 โดย ตั้งเป้าว่าในปี ค.ค. 2015 โครงข่ายของ หน่วยงานภาครัฐจะรองรับการใช้งานไอพีวี 6 ได้อย่างสมบูรณ์ ด้านเอกชนสมาคมฯ ได้ให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดซื้ออุปกรณ์ ที่รองรับการใช้งานระหว่าง ไอพีวี 4 และ ไอพีวี 6 ด้วย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ประชาชนผู้ใช้ตามบ้าน ก็ต้องซื้ออุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน ไอพีวี 6 ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลกระทบจากการใช้งาน ร่วมกันระหว่าง ไอพีวี 4 และไอพีวี 6 จะทำให้การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตช้าลงเล็กน้อยเท่านั้น
วันนี้ เรื่องของไอพีวี 6 หรือ IPv 6 ไม่ไกลตัวแล้ว.
@@@
ทำไมไม่มี IPv5
ตามมาตรฐานด้านอินเทอร์เน็ตโพรโตคอล จะมีการระบุส่วนที่เป็นรุ่นของ อินเทอร์เน็ตเวิร์ก เจเนรัล โพรโตคอล (Internetwork general protocol) ซึ่งเป็นเวอร์ชั่น เบอร์ 4 โดยถูกระบุให้เป็นอินเทอร์เน็ตโพรโตคอล ส่วนเวอร์ชั่น เบอร์ 5 ถูกนำไปใช้แล้วและระบุให้เป็น ST Datagram Mode (ST) เกี่ยวข้องกับ Internet Stream Protocol ดังนั้นในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตโพรโตคอลรุ่นใหม่ จึงต้องใช้เวอร์ชั่น เบอร์ 6 หรือ IPv 6