Dell จับมือ Oracle ส่งเซิร์ฟเวอร์ราคาประหยัด

Dell จับมือ Oracle ส่งเซิร์ฟเวอร์ราคาประหยัด ดัน Grid Computing

โดย ผู้จัดการออนไลน์

  โปรแกรมฐานข้อมูลราคาแพงอย่างออราเคิล (Oracle) จะกลายเป็นโปรแกรมพื้นฐานที่แถมพ่วงไปกับเซิร์ฟเวอร์ราคาประหยัดจากเดลล์ (Dell) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ต้องการการจัดการฐานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพในราคาไม่แพงเกินเอื้อม
   
   [b]เดลล์และออราเคิลร่วมกันแถลงข่าวในเรื่องข้อตกลงที่เดลล์จะเริ่มจำหน่ายเซิร์ฟเวอร์ราคาประหยัดที่มีโปรแกรมฐานข้อมูลของออราเคิล เป็นหนึ่งในโปรแกรมพรีอินสทอล (pre-install)[/b]
   
   ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของเดลล์และออราเคิล นอกจากจะเป็นการสร้างทางเลือกให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว แต่เหตุผลหลักจริงๆ น่าจะเกิดขึ้นเพื่อตั้งรับศึกตลาดเซิร์ฟเวอร์ จากในกรณีที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ ต่างพร้อมใจกันจับคู่กับบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์เพื่อสร้างตัวเลือกให้กับผู้บริโภค อย่างคู่ยักษ์ใหญ่ไมโครซอฟท์ (Microsoft) กับไอบีเอ็ม (IBM) และคู่เอชพี (HP) ที่ควงแขนหวานชื่นกับซันไมโครซิสต็มส์ (Sun Microsystem) 
   
   ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell) ประธานบริษัทเดลล์คาดว่ายอดจำหน่ายเซิร์ฟเวอร์รุ่นนี้จะสามารถทำเป้าได้ประมาณ 460 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ ส่วนในอีก 2 ปีข้างหน้า เดลล์ประมาณการณ์ไว้ว่ายอดเงินจะทะลุถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้เดลล์สามารถชิงส่วนแบ่งการตลาดมาครองได้ประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์
   
   [b]ความจริงการจับมือกันของทั้งเดลล์และออราเคิลไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เดลล์เคยจำหน่ายเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่รันซอฟต์แวร์ออราเคิลประมาณ 30,000 เครื่อง[/b] ซึ่งป็นยอดที่เพิ่มขึ้นจาก 15,000 เครื่องในการจำหน่ายปีแรก ความแตกต่างที่เกิดขึ้นก็คือ ครั้งนี้จะมีการแถมแผ่นโปรแกรมออราเคิลให้ไปต่างหาก การแถลงการณ์ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนสัญญาณที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ของทั้งเดลล์และออราเคิลที่มีมาตั้งแต่ครั้งก่อน ให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น
   
   เซิร์ฟเวอร์จากเดลล์ที่แถมซอฟต์แวร์ออราเคิล จะออกวางตลาดในราคาเริ่มต้น 4,108 ดอลลาร์ (ประมาณ 160,458 บาท)
   
   [b]นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ออราเคิลคงไม่ได้หวังเงินกำไรก้อนโตจากเดลล์ เพราะการทำสัญญาครั้งนี้คงจะเพิ่มยอดขายรวมของออราเคิลไม่มากนัก แต่นี่ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งในแผนการผลักดันแนวคิด grid computing ของออราเคิล ที่เป็นความฝันของนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์หลายๆคน เพื่อให้เกิดระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาไม่แพง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาซูเปอร์คอมพิวเตอร์แสนแพงอีกต่อไป[/b]
   
   อย่างเซิร์ชเอนจินชื่อดังกูเกิล (Google) เองก็อาศัยเทคโนโลยี Grid Computing ในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลในแต่ละวันโดยใช้โปรเซสเซอร์จำนวน 15,000 ตัวเชื่อมต่อกันเพื่อแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งความเร็วที่ได้ก็ไม่แพ้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
   
   แม้ว่าก่อนหน้านี้ยักษ์ใหญ่อย่างออราเคิลเคยให้ความเห็นว่า Grid Computing จะมีอิทธิพลอย่างมากสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ในการขยายขีดความสามารถของระบบ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ออราเคิลจะรองรับ Grid Computing ใน Database 10g มานานพอสมควรแล้ว แต่นี่แสดงให้เห็นว่า ออราเคิล กำลังพุ่งเป้ามาที่ธุรกิจขนาดกลาง ซึ่งต้องการประสิทธิภาพในการจัดการฐานข้อมูลในราคาไม่แพงนัก ซึ่งตรงกับแนวคิด grid computing พอดี