ทุกวันนี้ การเก็บรักษาข้อมูลเป็นหนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุดของระบบงาน IT เนื่องจากในการทำธุรกิจทุกวันนี้ “ข้อมูล” ถือว่าเป็นสิ่งที่กำหนดทิศทางและขับเคลื่อนธุรกิจในแต่ละวันๆ แต่ในขณะเดียวกันถ้าข้อมูลเหล่านี้เกิดสูญหายไปบางส่วน หรือสูญหายหมดสิ้นอย่างถาวร ก็อาจนำมาซึ่งหายนะของธุรกิจได้ ดังนั้นการนำ Backup Technology เข้ามาใช้ในการสำรองข้อมูลอีกชั้นหนึ่ง จึงถือเป็นวิธีการมาตรฐานในการเก็บรักษาข้อมูลขององค์กรในปัจจุบัน แต่ Hardware ที่สามารถนำมาใช้ได้ใน Backup Technology เองก็มีหลากหลายรูปแบบ วันนี้เราจะมาลองดูกันนะครับว่าแต่ละแบบเป็นอย่างไรบ้าง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
Tape Backup
การนำ Tape มาใช้เก็บข้อมูลในการ Backup ถือเป็นวิธีที่ใช้กันมานาน เนื่องจาก Tape มีความจุค่อนข้างเยอะ ในราคาที่ถูกกว่าการใช้ Disk และไม่ต้องใช้ไฟฟ้าในการเก็บข้อมูล แต่ปัจจุบันราคาของ Hard Disk เองก็ถือว่าถูกลงมาก ทำให้หลายๆ องค์กรหันมาใช้งานระบบ Tapeless Backup แทน โดยทำการจัดเก็บข้อมูลทั้งหมดลง Disk เท่านั้น แต่ Tape เองก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีไปมาก และยังถือว่าเป็นทางเลือกที่นิยมอยู่ในปัจจุบันอยู่ดี
Server
ในบางครั้งการนำ Server ธรรมดาๆ มาใช้ในการสำรองข้อมูลก็เป็นทางเลือกง่ายๆ ทางหนึ่งที่ทำได้ แต่ข้อจำกัดของ Server คือมีพื้นที่จำกัด ซึ่งโดยทั่วไปมีพื้นทีเพียง 500GB – 4TB เท่านั้น ทำให้ไม่สามารถ Backup Server อื่นๆ จำนวนหลายๆ เครื่อง หรือเก็บข้อมูลย้อนหลังนานๆ ได้ และต้องพึ่งพา External Storage หรือเชื่อมต่อ JBOD เพื่อเพิ่มพื้นที่ในภายหลัง
NAS Storage
NAS Storage เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยม เนื่องจากติดตั้งและใช้งานง่าย สามารถแชร์ให้ Server/PC หลายๆ เครื่องใช้งานร่วมกันได้ รวมถึงมี NAS แบบ SOHO ราคาไม่แพงนักให้ใช้ และมี Enterprise NAS สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ ดังนั้นในระบบที่เน้นการสำรองข้อมูลของผู้ใช้งาน หรือสำรองข้อมูลของ Server จำนวนไม่มากนัก การนำ NAS มาใช้ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดี
SAN Storage
SAN Storage ได้กลายมาเป็นตัวเลือกยอดนิยมในการสำรองข้อมูลอย่างรวดเร็วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะนำไปทำ Backup แล้ว SAN Storage เองยังสามารถให้บริการระบบงานอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย และมีความสามารถในการทำ Data Protection ที่หลากหลาย ทั้ง Snapshot, Volume Copy, Volume Mirror หรือแม้แต่ Remote Replication อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูงกว่า NAS อีกด้วย แต่ในขณะเดียวกัน SAN Storage เองก็บริหารจัดการไม่ง่ายเท่า NAS และยังมีราคาเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง ทำให้บางครั้งระบบ SAN จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ราคาสูงเกินความต้องการไปบ้าง
Storage Server
Storage Server หรือ Server เฉพาะทางที่สามารถติดตั้ง Hard Disk ได้เป็นจำนวนมาก ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงปีที่ผ่านมา เนื่องจากประหยัดทั้งค่าใช้จ่าย แทนที่จะซื้อ Server 1 เครื่อง Storage 1 เครื่อง ก็สามารถยุบรวมลงมาเป็น Storage Server เพียงเครื่องเดียวได้เลย อีกทั้งยังสามารถ “เลือก” ได้ทั้ง “ประสิทธิภาพ”, “ความจุ” และ “การทำ Data Protection” ได้อย่างอิสระอีกด้วย รวมถึงยังสามารถเลือกการให้บริการได้ทั้งแบบ “NAS” และ “SAN” ได้ในตัวเดียวกัน หรือแม้แต่ในอนาคต ถ้าอยากจะทำการ Backup ลงเทปเพิ่มเติม ก็ยังสามารถซื้อเทปมาเชื่อมต่อเข้ากับ Storage Server ได้อีกด้วย
ด้วยเหตุผลเหล่านี้เอง Storage Server จึงถือว่าเป็นทางเลือกที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งสำหรับตลาด Backup / Disaster Recovery
Cloud Storage
Backup Software Vendor บางเจ้า ก็มีบริการ Backup ขึ้น Cloud Storage ให้เลย ทำให้ผู้ใช้งานได้ประโยชน์ทั้งในแง่ที่ไม่ต้องลงทุนซื้อหาและดูแล Hardware ด้วยตัวเอง และยังเป็นการทำ Disaster Recovery กลายๆ ไปในตัวอีกด้วย ซึ่งแนวคิดนี้ก็กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาด Notebook Backup เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถทำการสำรองข้อมูลและกู้คืนข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ขอเพียงแค่เชื่อมต่อไปยัง Cloud Backup Service ได้เท่านั้น
บทความนี้ก็ขอจบลงเพียงเท่านี้ครับ ครั้งนี้ไม่ได้เขียนลงลึกมาก เป็นเพราะอยากจะเล่าถึงภาพรวมๆ ให้เห็นกันมากกว่า เพราะถ้าจะลงลึกเรื่อง Backup จริงๆ แล้วมีแง่มุมอีกมากมายให้ต้องคิดอ่านกันอีกครับ
สำหรับคราวนี้ สวัสดีครับ