มหากาพย์ชุดนี้ไม่จบง่ายๆ แลว่าจะเป็นรอยร้าวที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ จนยากจะประสาน
ทรูยื่นดาบ 2 สอบ “นอมินี” พาณิชย์ กางหลักฐาน ‘ดีแทค’ เป็นบริษัทไทย ‘อธึก’ ยื่นหลักฐานสอบเอาผิดเพิ่ม บอกดำเนินคดีได้ทันที
กรมพัฒนาธุรกิจยันดีแทค เป็นบริษัทคนไทยตามกฎหมายคนต่างด้าว พร้อมเชิญธปท.-ก.ล.ต.ให้ข้อมูลตรวจสอบเชิงลึก ‘นอมินี’ รับกฎหมายมีช่องโหว่ คิดแค่ ‘ชั้นเดียว’ ด้านตัวแทนทรูยืนหนังสือพร้อมหลักฐาน มั่นใจผิดกฎหมายต่างด้าว ‘อธึก’ จี้ดำเนินคดีข้อหา’นอมินี’ ขณะที่ผู้บริหารดีแทคพอใจผลการพิจารณา ยันทำตามกฎหมายไทย
นาย บรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ถือเป็นบริษัทไทย เนื่องจากตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนที่ดีแทคได้ยื่นจดทะเบียนไว้กับกรมฯ พบว่ามีทุนจดทะเบียน 4,744 ล้านบาท มีผู้ถือรวม 33,528 คน และในจำนวนนี้มีนิติบุคคลไทยถือหุ้น 56 ราย ซึ่งจากการพิจารณาสัดส่วนการถือหุ้น เป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น 51% และต่างชาติถือหุ้น 49%
“ดีแทคจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ว่าด้วยความหมายของความเป็นต่างด้าว ที่นิติบุคคลจะมีความเป็นไทยต้องมีคนไทยหรือนิติบุคคลไทยถือหุ้นตั้งแต่กึ่ง หนึ่งขึ้นไป”
ก่อนหน้านี้ ตัวแทนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ฟ้องดำเนินคดีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ต่อกองปราบปราม ว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ถือหุ้นต่างด้าวเกินที่กฎหมายกำหนด
“ตามมาตรา 4 พ.ร.บ. ต่างด้าวฯ บอกให้คิดชั้นเดียวว่าต้องมีทุนไทย 51:49 ดังนั้น กรมฯ จึงบอกในเบื้องต้นตามเอกสารหลักฐานที่มีว่าดีแทคเป็นต่างด้าวแต่กรณีการร้อง เรียนของทรูเป็นการเข้าไปตรวจสอบในเชิงลึกซึ้งบริษัทดีแทคมีการถือหุ้นโดย เฉพาะในส่วนนิติบุคคลที่สลับซับซ้อนโยงกันไปมา ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพราะเป็นวิถีทางธุรกิจแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขสัด ส่วนถือหุ้นที่กฎหมายกำหนด จึงต้องมาตรวจสอบในส่วนนี้และข้อกฎหมายก็ระบุให้ว่า ถ้าปรากฏมีข้อสงสัยว่ามีนอมินีคอยช่วยเหลือให้สนับสนุน ก็จะเข้าข่ายมาตรา 36 ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไป” นายบรรยงค์ กล่าว
กรณีที่ทรูมูฟไปร้อง ทุกข์กล่าวโทษดีแทคเป็นบริษัทต่างด้าว เกิดจากการวิเคราะห์เชิงลึก โดยการพิจารณาจากบริษัท 56 รายที่ถือหุ้นในดีแทค ซึ่งทรูมูฟอาจจะพบว่า มีคนต่างชาติถือหุ้นในบริษัทต่างๆ เหล่านี้ จนสรุปออกมาว่ามีหุ้นต่างชาติถือหุ้นในดีแทค 71.35% และมีคนไทยถือหุ้นเพียง 28.65%
ขณะที่คณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม ได้มีหนังสือถึงกรมฯ แจ้งผลการตรวจสอบ 2 บริษัทโทรคมนาคม คือ ทรูมูฟและดีแทค แจ้งว่า ดีแทคมีการถือหุ้นของคนต่างชาติสลับซับซ้อน โยงกันไปมา น่าเข้าข่ายมีคนต่างด้าวถือหุ้นเกิน 49% และขอให้กรมฯ ทบทวนกฎหมายเพื่อหาทางป้องกัน
เตรียมเชิญธปท.-ก.ล.ต.ให้ข้อมูลเพิ่ม
เขากล่าวว่า กรมฯ จะทำหนังสือถึงนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เพื่อแจ้งขั้นตอนการดำเนินการจากนี้ เบื้องต้นกำหนด จะเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันตรวจสอบ
เขายอมรับว่า การตรวจสอบของกรมฯ มีข้อจำกัดในการตรวจสอบ เพราะมีผู้ถือหุ้นมากกว่า 3 หมื่นราย และยังมีนิติบุคคลอีก 56 ราย ที่เข้ามาถือหุ้น โดยส่วนของการตรวจสอบผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไม่น่าจะมีปัญหา สามารถดูจากบัตรประจำตัวประชาชนได้ แต่การตรวจสอบนิติบุคคล 56 ราย ในเชิงลึกและมีลำดับชั้นการถือหุ้นมาก ก็จะต้องใช้เวลา และในการตรวจสอบ แม้จะมีอำนาจเชิญบุคคล เรียกเอกสาร แต่ก็อาจไม่ได้รับความร่วมมือ เพราะมีโทษปรับแค่ 5 พันบาทเท่านั้น
เรื่องนี้ยังอยู่ในระหว่างการ สอบสวนของกองปราบปรามอยู่ด้วย ซึ่งกรมฯ พร้อมที่จะส่งข้อมูลให้ เพราะข้อมูลที่มีอยู่เป็นเอกสารเปิดเผย และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้โดยเร็วเพราะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย โดยในส่วนของดีแทค หากมีข้อมูลเพิ่มเติมที่จะชี้แจง ก็ให้ยื่นมาได้ กรมฯ พร้อมที่จะรับฟังข้อมูล จากทุกฝ่าย
ยันข้อมูลน่าเชื่อถือ
เขากล่าวโต้ตอบกรณีผู้บริหาร ทรูเห็นว่าข้อมูลไม่น่าชื่อถือ โดยยืนยันว่าข้อมูลที่มีอยู่เชื่อถือได้ เพราะกรมฯ เป็นนายทะเบียน ดูแลนิติบุคคลทั้งประเทศประมาณ 1 ล้านราย มีนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจอยู่ประมาณ 5 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นบริษัทมหาชนประมาณ 1 พันราย
ส่วนมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว สรุปความได้ว่า คนไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าวให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วม ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ในบัญชีท้าย โดยคนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยแสดงออกว่าเป็นธุรกิจของตน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย
ลั่นเอาผิดหากต่างด้าวถือหุ้นเกิน
นายบรรยงค์ กล่าวว่า หากผลการตรวจสอบพบว่าดีแทคมีต่างด้าวถือหุ้นเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จริง ก็จะถือว่าความผิดสำเร็จ ก็ต้องไปดูว่าความผิดเกิดขึ้นเมื่อใด ย้อนหลังไปแค่ไหน เพราะเป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 3 (21) ที่คนต่างชาติถ้าจะมาประกอบธุรกิจต้องขออนุญาตก่อน แต่ถ้าไม่ขอก็แปลว่าประกอบธุรกิจโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสน ถึง 1 ล้านบาท และศาลจะมีคำสั่งให้ยุติการประกอบกิจการ ถ้าไม่ยุติก็จะมีโทษปรับวันละ 1หมื่นบาท
ส่วนกรณีตรวจสอบ พบว่า มีนอมินีคนไทยคอยให้ความช่วยเหลือทำการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ และสนับสนุนให้คนต่างชาติทำธุรกิจที่ต้องขออนุญาตก็จะมีโทษสถานเดียวกัน
ทั้ง นี้ไม่ต้องการให้นำกรณีดีแทคไปเปรียบเทียบกับกรณีกุหลาบแก้วซื้อหุ้นบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เพราะเป็นคนละกรณีกันและกุหลาบแก้วซึ่งได้พ้นหน้าที่ไปจากกรมแล้วไม่สามารถ แสดงความเห็นใดๆ ได้อีก
ดีแทคพอใจพาณิชย์ชี้เป็นบริษัทไทย
นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า บริษัทมีความพึงพอใจที่อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกมาให้การยืนยันว่า ดีแทคเป็นบริษัทไทย
เขากล่าว ว่าดีแทคมีความมุ่งมั่นที่จะมอบบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าและคนไทยทุกคน และดำเนินธุรกิจภายใต้หลักกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของไทยทุกประการ
ทรู กดดันพาณิชย์สอบนอมินี
นายอธึก อัศวานันท์ รองประธานฝ่ายกฎหมาย บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่ได้รับรายงาน ทางอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจได้ชี้แจงในมุมข้อกฎหมาย บอกว่า ถ้าดูจากเอกสารดีแทคก็ถือว่าเป็นบริษัทไทย แต่ถ้าทรูร้องเรียนมาที่กระทรวงพาณิชย์ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง
“ผม มองว่า เบื้องต้นที่กระทรวงพาณิชย์สามารถดำเนินคดีได้เลย คือ กลุ่มนอมินี ซึ่งถ้าพบว่าทำผิดจริง ก็จะมีโทษจำคุก และปรับ 1 ล้านบาท อาจถึงขึ้นเลิกประกอบกิจการ และถ้าฝ่าฝืนก็จะมีโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท ทางทรูเองได้ยื่นเอกสาร หลักฐานให้ทางกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติมไปซึ่งหลักฐานดังกล่าวจะยิ่งตอกย้ำถึง ความผิดปกติในการถือหุ้นในบริษัทดีแทค”
นายอธึก กล่าวต่อว่า สิ่งที่ทรูต้องการ คือ ความชัดเจน และโปร่งใสว่าอะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้ตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทมุ่งหวังเพียงให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยอย่างโปร่งใส และถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
ต่อคำถามที่ว่า กรณีกระทรวงพาณิชย์ เปิดทางให้ดีแทคสามารถส่งเอกสารเข้ามาเพิ่มเติมได้นั้น พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาจทำให้ดีแทคเองคงไม่อยู่เฉยในเรื่องนี้
นายอธึก กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “เรื่องนี้ ทรูไม่ได้เป็นคนเริ่มก่อน”
ทรู ยันตรวจสอบเรื่องนี้กว่า 3 ปี
ผู้สื่อข่าว รายงานว่า ช่วงบ่ายเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) นางศุภสรณ์ โหรชัยยะ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท ทรูมูฟ เข้ายื่นหนังสือต่อนายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ตรวจสอบว่า บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เป็นบริษัทต่างด้าว ที่มีผู้ถือหุ้นต่างด้าวถือหุ้นกว่า 71.35% ซึ่งนางศุภสรณ์ ยืนยันว่า ทางทรูได้ตรวจสอบเรื่องนี้มานานกว่า 3 ปี
อีกทั้ง พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายที่ใช้มานานกว่า 10 ปี จึงมีการใช้ประโยชน์จาก ช่องว่างทางกฎหมาย ซึ่งธุรกิจโทรคมนาคม ถือเป็นกิจการสงวนให้กับคนไทยดำเนินการ เพราะมีการใช้ทรัพยากรของชาติ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งพฤติกรรมของดีแทคไม่ได้มีเฉพาะการให้ต่างด้าวเข้าถือหุ้นในบริษัท แต่มีการถือหุ้นถึง 5 ลำดับที่มีคณะกรรมการ แหล่งเงินทุน และความเกี่ยวข้องเดียวกัน มีการออกหุ้นบุริมสิทธิให้กับผู้ถือหุ้นต่างด้าว โดยได้รับเงินปันผลจำนวนหลายพันล้านบาท
ขณะที่ผู้ถือหุ้นคนไทยได้ รับเงินปันผลเพียง 50 สตางค์ต่อหุ้นเท่านั้น รวมทั้งอำนาจของคณะกรรมการที่ต่างด้าวมีจำนวนมากกว่า และมีสิทธิออกเสียงมากกว่าคณะกรรมการคนไทย ทำให้ทางทรูมูฟได้นำผลจากรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทร คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่พบว่า ดีแทคเป็นคนต่างด้าว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ มาขอให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบ
“ทรู มูฟ ไม่ได้ต้องการขัดขวางการลงทุนจากต่างประเทศ แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนในด้านสัญชาติและต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย รวมทั้งเพื่อให้ปฏิบัติตามกฎหมายของไทยอย่างถูกต้อง อีกทั้ง ทรู มีแต่คู่ค้าทางธุรกิจ ไม่มีคู่แข่ง”
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20110617/395942/%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%A2%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%9A-2–%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A-%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B5.html