อดีตรมว.ไอซีทีไขปริศนา 3G เอกชนรวยแสนล้าน
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
อดีตรมว.ไอซีทีชี้หากเปิดประมูล 3G เอกชนจะมีรายได้ทันทีเป็นแสนล้านบาทในเวลา 2-3 ปี ส่วนหน่วยงานรัฐจะสูญเสียรายได้จากสัมปทาน 4-5 หมื่นล้านบาททันทีในเวลา 1-2 ปี ในขณะที่ค่าโทรศัพท์ก็ไม่ได้ถูกลง
นายสิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวในรายการรู้ทันประเทศไทยของสถานี ASTVเ มื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาว่ากรณีที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่ได้ประมูล 3G แล้วจะส่งผลกระทบทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศ หรือส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายนั้น เป็นเรื่องไม่จริงทั้งหมด แต่การมี 3G ดีกว่าไม่มีแน่นอน ความจริงประเทศไทยควรจะมี 3G ไปแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ไม่สามารถเกิดได้เพราะผู้ที่ให้บริการ 2G อยู่ไม่อยากให้เกิดบริการ 3G
ในช่วงที่เป็นรมว.ไอซีทีนั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ต้องการให้หน่วยงานกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมมีเพียงหน่วยงานเดียวตอนนั้นได้ดำเนินการร่างกฎหมายพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ แต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็ออกจากตำแหน่งเสียก่อน และกฎหมายดังกล่าวยังล่าช้ามาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม 3G จะเกิดประโยชน์กับคน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับติดตั้งเครือข่ายให้บริการ 3G ซึ่งล้วนเป็นประเทศต่างชาติ เพราะอุปกรณ์นี้ประเทศไทยไม่สามารถผลิตเองได้ต้องนำเข้าจากต่างชาติ ประเทศที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดคือประเทศจีนเพราะผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ได้จำนวนมากและราคาถูก
กลุ่มที่ 2 คือผู้ที่สามารถประมูล 3G จนได้รับใบอนุญาต ก็จะมีรายได้ทันทีและมีลูกค้าอย่างน้อย 10 ล้านราย ภายใน 1 ปี ดังนั้นผู้ให้บริการจะสามารถจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ 10 ล้านเครื่อง เพราะเครื่องที่มีอยู่ถึงจะใช้งานได้แต่ก็ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร ฉะนั้นภายในช่วง 2-3 ปีผู้ได้รับใบอนุญาตจะมีรายได้เป็นแสนล้าน
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประมูล 3G ล้วนเป็นบริษัทลูกของผู้รับสัมปทานรายเดิม ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้อยากมีใบอนุญาต 3G เพราะต้องการออกจากสัมปทานที่ต้องจ่ายส่วนแบ่งสัมปทานเข้ารัฐ 25-30 % ในขณะที่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตมีเพียง 6% เท่านั้น การจ่ายเงินค่าประมูลหลักหมื่นล้านย่อมคุ้มกว่าการจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐ
‘หากผู้รับสัมปทานรับใบอนุญาตก็จะโอนลูกค้าจากสัมปทานไปทันที ซึ่งผมคาดว่าภายใน 1-2ปีรัฐจะสูญเสียรายได้จากสัมปทานไปทันที 4-5 หมื่นล้านบาทในขณะที่ค่าโทรศัพท์ไม่ได้ลดลงเลย’
นายสิทธิชัย กล่าวถึงกรณีที่ว่าถ้าไทยไม่มี 3G แล้วจะล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านว่าไม่เป็นความจริงทั้งหมด สาเหตุที่ลาว กัมพูชา และเขมร ต้องลงทุน 3G เป็นเพราะที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้ล้าหลังด้านเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือมาก เมื่อต้องลงทุนเครือข่ายมือถือประเทศเหล่านี้ต้องตัดสินใจก้าวกระโดดลงทุนในเทคโนโลยี 3G เพราะเทคโนโลยี 2G อยู่ในช่วงปลาย อุปกรณ์หายากและมีราคาแพง
อย่างไรก็ตามประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มี 3G แต่ก็ไม่ได้มีการใช้งานเต็มที่ เพราะยังไม่มีคอนเทนต์รองรับมากนัก การใช้งานเป็นเพียงการใช้งานด้านวอยซ์ ส่วนประเทศไทยมีการลงทุนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือมากโดยปัจจุบัน 2G ของไทยดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนการใช้งานดาต้าก็สามารถใช้งานแบบพอรับได้
ทั้งนี้การลงทุน 3.9G ที่กำลังพยายามผลักดันกันอยู่นี้อีก 2-3 ปีก็ต้องเปลี่ยนไปลงทุน 4G อยู่ดี เพราะขณะนี้ 4G อยู่ระหว่างทดสอบและคาดว่าจะออกมาเป็นมาตรฐานใน 2 ปี ซึ่งเทคโนโลยี 4G เป็นเทคโนโลยีสำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบ ส่วนการใช้งานทางเสียงจะเป็นเพียงบริการแถมฟรีเท่านั้น
‘ที่ผ่านมามีการปลุกปั่นความรู้สึกให้คนหนุ่มสาว วัยทำงานต้องการใช้ 3G หากผมจะพูดไปว่า 3Gไม่จำเป็นก็กลัวจะถูกมองมีความคิดเป็นเต่าล้านปี แต่การมี 2Gก็สามารถใช้งานดาต้าได้แล้วเพียงแต่ไม่สะดวกใจเท่า 3G เท่านั้น’