‘ระนองรักษ์’อุ้มไทยคมดัน 3G ก่อนยุบสภา
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที
‘ระนองรักษ์’ เผยยกเลิกสัญญาดาวเทียมไทยคม ไม่ง่ายเหมือนแคะขนมครก หากไร้เหตุผลอาจทำลายบรรยากาศการลงทุน แย้มสัญญาไทยคมทำรัฐมีรายได้เพิ่มแม้แก้ไขสัญญาไม่ถูกต้องก็สามารถดำเนินการย้อนหลังได้ พร้อมเดินหน้าผลักดัน 3G ทั่วประเทศของทีโอทีให้เสร็จก่อนยุบสภา
ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) กล่าวว่า การยกเลิกสัญญาสัมปทานดาวเทียมไทยคมตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งการก่อนหน้านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่าผู้รับสัมปทานทำผิดสัญญาข้อใด ร้ายแรงขนาดไหน ซึ่งในการทำธุรกิจร่วมกันต้องยืนอยู่บนหลักการได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง2 ฝ่าย หากผู้รับสัมปทานถูกยกเลิกสัมปทานจนเกิดความเสียหาย อาจจะส่งผลกระทบความน่าเชื่อถือต่อการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุน
“การยกเลิกสัญญาสัมปทานไม่ง่าย เหมือนแคะขนมครก การดำเนินการต้องทำอย่างรอบคอบ และทำตามลายลักษณ์อักษรในสัญญาและเอกสารการดำเนินการร่วมกันระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย”
ส่วนกรณีที่นายสุเทพ สั่งการให้ไอซีทียกเลิกสัญญาไทยคม ตามสัญญาข้อ 43 ที่ระบุว่า ภายใต้ข้อบังคับของสัญญานี้ กระทรวงรับว่าจะไม่กระทำหรืองดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่ขัดขวาง หรือกระทบกระเทือนต่อการดำเนินการใช้สิทธิของบริษัท เว้นแต่กรณีจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติ หรือเพื่อดำเนินการตามหน้าที่กฎหมายนั้น โดยยกประเด็นว่า บริษัท ไทยคมจำกัด(มหาชน)ไม่ให้ความร่วมมือปิดกั้น พีเพิล แชแนล มากเท่าที่ควร กรณีนี้จะต้องมีการหารือกับไทยคม และจากการหารือที่ผ่านมาพบว่าไทยคมได้พยายามดำเนินการและให้ความร่วมมือมาโดยตลอดส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการปิดกั้นได้ทันทีเพราะพีเพิล แชแนลแพร่ภาพผ่านช่องสัญญาณของลูกค้าไทยคมจากอิสราเอล
สำหรับกรณีผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงขยายผล คดียึดทรัพย์พ.ต.ท. ทักษิณ นั้นขณะนี้อยู่ระหว่างรอสรุปจากคณะกรรมการโดยในสัปดาห์นี้ยังไม่สามารถรายงานผลให้ครม.เศรษฐกิจรับทราบได้ ซึ่งจากกรณีดังกล่าวพบว่าความเสียหายเกิดขึ้นจริง
“เมื่อพิจารณาแล้วกลับพบว่าตั้งแต่ไทยคมรับสัมปทานในปี 34 จนถึงปัจจุบันได้ส่งรายได้ให้ไอซีทีแล้ว 4,600 ล้านบาททั้งที่ตามสัญญากำหนดรายได้ขั้นต่ำที่จะได้รับจนหมดอายุสัมปทานไว้เพียง 1,600 ล้านบาท”
ส่วนกรณีดาวเทียมไอพีสตาร์ที่มีข้อถกเถียงว่าไม่มีคุณสมบัติเป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 3 เพราะเป็นดาวเทียมบรอดแบนด์นั้น จากการตรวจสอบสัญญาพบว่ามีการระบุไว้ว่าไทยคมต้องจัดหาดาวเทียมที่มีคุณภาพมากกว่าดาวเทียมดวงก่อนหน้า
โดยการดำเนินการหลังจากนี้จะต้องเดินตามลายลักษณ์อักษรของสัญญาทั้งสองฝ่าย และต้องตรวจสอบการแก้ไขสัญญาในแต่ละครั้งว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 หรือไม่เพราะสัญญาดาวเทียมมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท โดยเฉพาะต้องตรวจสอบว่าการดำเนินการได้ผ่านคณะกรรมการมาตรา 22 ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่รวมทั้งประเด็นสำคัญคือได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ตามกฎหมายกำหนดด้วยหรือไม่ โดยหากยังไม่มีการดำเนินการก็ต้องทำให้ถูกต้อง
รมว.ไอซีทีกล่าวต่อว่ากรณีที่คนเสื้อแดงได้ยื่นหนังสือให้เลิกปิดกั้นสื่อนั้น ไอซีทีจะดูแลในส่วนที่รับผิดชอบคือการปิดกั้นเว็บไซต์ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าอำนาจในการปิดกั้นสื่อขณะนี้อยู่ในความรับผลชอบของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไอซีทีเป็นเพียงผู้ปฎิบัติตามคำสั่งเท่านั้น
“ที่ผ่านมาไม่ได้ออกมาชี้แจงกรณีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไอซีที เพราะอำนาจการสั่งการต่างๆที่เกี่ยวกับความมั่นคงเป็นของ ศอฉ.ดังนั้นจึงอยากให้ข่าวออกมาจากทาง ศอฉ.โดยตรง”
ส่วนกรณีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ได้เข้าพบเพื่อขอความช่วยเหลือกรณี พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. …ในส่วนมาตรา 84 วรรค 3 และ 4 เนื่องจากหากพ.ร.บ.ดังกล่าวผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา จนสามารถมีผลบังคับใช้ภายหลังประกาศใช้กฎหมาย 1 ปีจะส่งผลกระทบกับรายได้ของทีโอทีอย่างมาก เนื่องจากรายได้จากสัญญาสัมปทานจะหมดไป เพราะจะต้องถูกส่งไปยังกสทช.และนำส่งกระทรวงการคลังต่อไป
“หลังจากรับเรื่องได้โทรศัพท์ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเพื่อขอเวลา ให้สหภาพแรงงานฯ ทีโอที และกสท เข้าพบเพื่อชี้แจงผลกระทบจากพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอตารางเวลาที่จะสามารถเข้าพบได้”
นอกจากนี้สหภาพฯทีโอทียังได้ทวงถามถึงโครงการลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ทั่วประเทศของทีโอทีที่ล่าช้าและยังไม่สามารถดำเนินการได้จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าโครงการดังกล่าวคาดว่าทีโอทีจะสามารถปรับปรุงแผนธุรกิจแล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จะรายงานแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ)และคาดว่าจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในปลายเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งตามกระบวนการหลังจากนั้นอีก 2 สัปดาห์ก็จะสามารถนำเสนอเข้าครม.ใหญ่ได้
“เรื่องแผนการลงทุน 3G ต้องผลักดันให้สำเร็จก่อนการยุบสภาของรัฐบาล เนื่องจากเป็นโครงการที่สำคัญของประเทศ”
โดยสาเหตุที่โครงการดังกล่าวต้องล่าช่าออกไปเป็นเพราะไอซีที ต้องการให้ทีโอทีลดวงเงินการลงทุนเหลือไม่เกิน 20,000 ล้านบาท จากเดิม 29,000 บาท โดยต้องมีจำนวนสถานีฐาน อุปกรณ์และเนื้องานเท่าเดิม เพราะเชื่อว่าปัจจุบันราคาอุปกรณ์ 3G ปรับลดลงไปมากแล้ว