สัมภาษณ์พิเศษ อุทธาฤทธิไกร ขัณฑวีระมงคล วิพากษ์อนาคต 3g ไทย…แบบฉบับกูรู (ตัวจริง!)

บริษัท เอ็น.วี.เค.อินเตอร์ จำกัด (NVK) ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 โดยบริษัทเริ่มจากการนำเสนอโซลูชั่นต่างๆเกี่ยวกับ Broadband Network ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นช่วงเริ่มต้นของการให้บริการบรอดแบนด์ในประเทศไทย โดยบริษัทมีโซลูชั่นที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ E-Apartment/Hotel Solution ซึ่งประกอบไปด้วย Hardware และ Software สำหรับให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายในหอพักและโรงแรม โดยอาศัยเทคโนโลยีทั้งแบบมีสาย (DSL และ HomePNA) และแบบไร้สาย (Wi-Fi)

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา NVK ได้รับความเชื่อถือในวงการโทรคมนาคม และความไว้วางใจจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตชั้นนำหลายราย เพื่อเป็นที่ปรึกษาและจัดหาอุปกรณ์ สำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีโครงการต่างๆกว่า 500 โครงการทั่วประเทศ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายอยู่มีหลากหลายและสามารถตอบสนองความต้องการของ Telco และ ISP ต่างๆได้เช่น ADSL2/2+ IP-DSLAM, Billing Software, VDSL2, VoIP Solution, Wireless LAN รวมไปถึงอุปกรณ์ Telecom เช่น Fiber Optic Modem, Media Converter, FTTH และ Video Streaming อีกด้วย

NVK มีลูกค้ารายสำคัญเป็นผู้ให้บริการเครือข่าย (Telco) เช่น TRUE, TOT, TT&T และ CAT และ ISPs ต่างๆ นอกจากนั้นเรายังจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย (VARs) กว่า 250 รายทั่วประเทศ โดยเน้นการให้ความรู้และให้คำปรึกษาแก่พาร์ทเนอร์ในการออกแบบและติดตั้ง

ในปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายไม่ว่าจะเป็น Wi-Fi, WiMax รวมไปถึง 3G เติบโตรวดเร็ว NVK ได้ขยายสายผลิตภัณฑ์สู่เทคโนโลยีไร้สายมากขึ้น NVK ได้รับความไว้วางใจจาก Engenius/Senao บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ Wireless ชั้นนำของโลก เพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย * ความนิยมของอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Wi-Fi)
2 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของอุปกรณ์ไร้สาย หรือ Wi-Fi มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้บริการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ทรู, ทีโอที, CAT รวมไปจนถึง 3BB เราเป็นผู้รับติดตั้งรายหลักสำหรับอุปกรณ์ Wi-Fi โดยเฉพาะรูปแบบการติดตั้งอุปกรณ์นอกตัวอาคาร เช่น ในเมืองใหญ่ๆ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หาดใหญ่ โคราช เป็นต้น ประกอบกับในปี 2553 นี้ 3G ถูกเลื่อนให้บริการออกมาจนล่าช้า ทำให้เป็นโอกาสอันดีของเราในการที่โอเปอเรเตอร์เบนการลงทุนมาที่ Wi-Fi ก่อนที่จะมี 3G ทำให้ปีที่แล้ว (2552) เราเติบโตอย่างมากในการรับหน้าที่ส่วนดังกล่าวนี้

และปีนี้ยังเป็นเทรนด์ของ Wi-Fi ต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากติดตั้งง่าย ต้นทุนต่ำ และยังสนับสนุนบริการทางการตลาดของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออีกด้วย ซึ่งบริการเสริมต่างๆ เหล่านี้ยังส่งเสริมให้อุปกรณ์ของเราถูกนำไปติดตั้งมากขึ้น

ปีที่แล้วเราขายแอ็คเซสพอยท์ให้โอเปอเรเตอร์ไปแล้วกว่า 2 หมื่นตัว แบ่งเป็นนอกอาคาร 40% และในตัวอาคารกว่า 1 หมื่นตัว คือเฉพาะตลาดของผู้ให้บริการ เหล่านี้เองถือเป็นตัวเลขส่วนหนึ่งทางด้านการตลาดของบรรดาโอเปอเรเตอร์ด้วย จำนวนมากในนั้นเป็นอุปกรณ์ของเราที่นำไปติดตั้ง บิตใหญ่ๆของทีโอทีก็เป็นอุปกรณ์จากเราทั้งหมด ตั้งแต่กลางปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันทีโอทีใช้อุปกรณ์ของเรามาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะลงทุนในส่วนของ Wi-Fi-Hotspot ปัจจุบันเรามียอดขายอยู่ที่ 80 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 130 ล้านบาท กับจำนวนพนักงานที่มีเพียง 13 คน เติบโตไปพร้อมกับทรัพยากรที่มีอยู่ประกอบกับความถนัดของเรา โดยคงไม่ขยายธุรกิจไปแบบก้าวกระโดด ผมคิดว่าถ้าปีนี้การเมืองยังไม่มีอะไรรุนแรง เราก็สามารถที่จะประคองให้ยอดจำหน่ายโดยรวมเติบโตไปได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐต่างๆ ก็ส่อแววความต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

* เหตุใดปัจจุบัน Wi-Fi จึงเป็นที่นิยมและแพร่หลายมาก

ข้อดีของ Wi-Fi คือ หนึ่ง ราคาถูก สอง คือ ความเร็วสูง แต่ข้อเสียคือการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง จึงเหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่รัศมีไม่กว้างมาก ประมาณไม่เกิน 300 เมตร ต่อหนึ่งแอ็คเซสพอยท์ เนื่องจากยังไม่มีทางเลือกในการให้บริการที่เป็นปัจจัยสนับสนุน Wi-Fi เพราะ WiMax ก็ไม่เกิด 3G ยังดีเลย์ออกไป ผู้ให้บริการเองจึงเลือกที่จะลงทุนกับ Wi-Fi เพราะใช้เงินลงทุนเพียง 3-5 เปอร์เซ็นต์ของ WiMax และแม้ Wi-Fi สามารถให้บริการได้ในพื้นที่ไม่ไกลมากนัก แต่ค่อนข้างครอบคลุมในส่วนของสัญญาณระดับที่พอสมควร จึงเหมาะแก่การติดตั้งในสถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ร้านกาแฟ หรือสวนสาธารณะ เป็นต้น จุดนี้เป็นตัวที่ทำการตลาดให้กับผู้ให้บริการเช่นเราได้เป็นอย่างดี

เฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ Wi-Fi ให้ความเร็วได้สูงสุดถึง 300 Mbps แม้จะมีรัศมีในวงจำกัด แต่ถ้าเราติดตั้งได้ในจุดที่สัญญาณกระจายไปเพียงพอก็จะเป็นส่วนเสริมให้กับเทคโนโลยีตัวอื่นได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทดแทน ADSL ในบริเวณที่ยังไม่มีให้บริการ อีกทั้ง Wi-Fi มีความเร็วมากกว่า 3G ยกตัวอย่างโปรเจ็กต์ที่เรากำลังเจรจากับทีโอทีนั้น มีการใช้ FTTH – Fiber To The Home ความเร็วระดับ 50 เมกะบิต เช่น ที่หาดป่าตองติดตั้งแล้วส่งความเร็วสูงสุดต่อหนึ่งผู้ใช้งานที่ 20 Mb ซึ่งถ้าผู้ใช้บริการอยู่ในจุดที่สัญญาณดีจะได้รับประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย

* และเหตุใด WiMax กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงหรือนิยมใช้กัน

ผมได้เคยศึกษาในเรื่องของ Wi-Maxก่อนที่จะนำ Wi-Fi เข้ามาทำตลาด และพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในหลายโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีปัจจัย 2 อย่าง คือ เทคโนโลยีและไลเซนส์ในเมืองไทย WiMax ไม่เกิดในเมืองไทยอย่างแน่นอนเพราะใน 2 ส่วนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้ง หนึ่ง การขอใบอนุญาต WiMax ดำเนินการล่าช้า ตลอดจนความเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ไม่สำเร็จหรือออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน จุดนี้แทบจะทั่วทั้งโลกเลยก็ว่าได้ที่ไม่ได้รับความนิยมให้ WiMax เกิดการใช้งานแพร่หลาย และ WiMax ราคาสูง อุปกรณ์ที่จะมารองรับการใช้งานตามที่คาดหวังจะได้เห็นกับโน้ตบุ๊กหรือแล็บท็อปก็ไม่มี ลงทุนไปไม่มีความแน่นอนว่าจะคุ้มค่าหรือไม่

แม้กระทั่งพื้นที่ที่เป็นเป้าหมายการลงทุน WiMax ระดับโลกก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ทรีวัน ในมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการอีก 4 รายในประเทศนั้น ก็ถือว่ามีสัดส่วนการลงทุนที่น้อยมาก ที่สำคัญไม่สามารถจะแข่งขันกับ 3G ได้ ทำให้โอเปอเรเตอร์ไม่อยากลงทุนซ้ำซ้อนกับ 3G แม้ว่าสองเทคโนโลยีนี้จะมีลักษณะแตกต่างกันอยู่บ้าง

* ข้อเปรียบเทียบระหว่างการลงทุนติดตั้ง WiMax และ3G

เนื่องจาก WiMax ตามใบอนุญาต คือ ต้องติดตั้งให้ใช้ในพื้นที่หรือบริเวณที่กำหนดเท่านั้น คือ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ ลักษณะคือใช้งานภายในตัวอาคารและติดตั้งอุปกรณ์ไว้ภายนอกอยู่กับที่ และยัง ต้องมีอุปกรณ์พิเศษในการรับสัญญาณ ทำให้ขณะที่ WiMax เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงก่อน 3G แต่กลับไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ 3G กลับมีความสามารถที่จะทำบรอดแบนด์แบบไร้สายได้นั่นเอง เวลานี้ WiMax จึงถูกพูดถึงและหยิบยกไปไว้ทำในส่วนของ 4G หรือ LTE (Long Term Evolution) เสียมากกว่า หากถึงตอนนั้นบ้านเราก็คงมีเรื่องให้ถกเถียงกันอีกพอสมควร ทุกวันนี้ยังทำให้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านตั้งคำถามว่า…หรือประเทศไทยเราควรข้ามไปทำ LTE และ 4G แม้ WiMax กำหนดการใช้งานได้ในพื้นที่ค่อนข้างแน่นอน แต่โดยความเห็นของผมคิดว่า WiMax คงไม่ใช่ทางเลือกของผู้ให้บริการที่จะนำมาติดตั้ง เรียกว่าองค์ประกอบทางธุรกิจและเทคโนโลยีไม่สมบูรณ์ต่อกัน แต่ผมเองยังเห็นหลายองค์กรหรือหน่วยงาน เช่น กทช. พูดถึงไวแม็กซ์อยู่บ้าง แต่คิดว่าน่าจะเป็นการติดตั้งเพื่อรองรับบริการมือถือในยุคต่อไปเสียมากกว่า เนื่องจากในยุคต่อไปของ LTE จะเป็นการร่วมกันระหว่าง WiMax กับโอเปอเรเตอร์ที่ใช้ระบบ GSM และนั่นยังเป็นเรื่องของอนาคตอยู่

ผมอยากเสนอแนะด้วยว่า กทช. ควรให้เอกชนทดสอบใช้บริการ WiMax ดูบ้าง และเมื่อถึงเวลาที่องค์ประกอบต่างๆ พร้อม เราจะได้เคลื่อนตัวไปอย่างรวดเร็ว เพราะประสบการณ์จาก 3G ไม่ได้มีการลองผิดถูกมาก่อน ประเทศไทยจึงดำเนินการเกี่ยวกับ 3G ล่าช้า

* ความพร้อมของในส่วนของ 3G และโซลูชั่นรองรับการใช้งาน

เราเองมีประสบการณ์จากการทำ 3G ให้ CAT CDMA มาเป็นเวลาพอสมควร คือประมาณ 2-3 ปี มาแล้ว ทำให้มองเห็นถึงศักยภาพของ 3G ในหลายๆมิติ หนึ่ง คือ สามารถที่จะเพิ่มการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับประชาชนได้ สอง สามารถที่จะรองรับแอพพลิเคชั่นต่างๆ ในอนาคตอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น m-Commerce หรือ social network ตลอดจนการประยุกต์ใช้แอพพลิเคชั่นเพื่อธุรกิจและแอพพลิเคชั่นด้านความปลอดภัย รวมไปถึงการทำสื่อนอกอาคาร การทำสตรีมมิ่ง ซีซีทีวี เป็นต้น มีแอพพลิเคชั่นต่างๆ รองรับ 3G ที่จะเกิดขึ้นอีกมาก

ในส่วนของผมเป็นการทำ access ให้กับ 3G เสียมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวอุปกรณ์ในการเชื่อมต่อปลายทาง เช่น เราท์เตอร์ 3G เพื่อที่จะแชร์เป็น Wi-Fi, BBM ต่างๆ หรือวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ รวมไปถึงวางระบบโทรศัพท์บ้านแบบ3G ซึ่งจะเป็นแอพพลิเคชั่นที่ต่อเนื่องเสียส่วนใหญ่

เราสามารถที่จะนำ 3G มาเป็นเกตเวย์ให้กับ Wi-Fi-Hotspot ในพื้นที่ใดๆ ที่มีสัญญาณใช้งานได้ และจำเป็นต้องมี Wi-Fi ให้บริการบริเวณนั้นด้วย เพียงแต่หากใช้ 3G เป็นเครือข่ายหลักในการเชื่อมต่อมายังอินเทอร์เน็ต อย่าลืมว่าในยุคก่อนที่ 3G จะแพร่หลายกับก่อนที่ประชาชนจะมีมือถือใช้กัน Wi-Fi เป็นสิ่งที่มือถือหลายคนมีอยู่แล้วในเกือบทุกเครื่องที่เป็นสมาร์ทโฟน ฉะนั้น การที่โอเปอเรเตอร์มี Wi-Fi ให้บริการจะเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ได้มากกว่าบริการ 3G ถ้าพูดกัน ณ ปัจจุบันนี้ เฉพาะอย่างยิ่งโน้ตบุ๊กยังไม่มี 3G ติดตั้งไว้ให้ ส่งผลให้เมื่อ 3Gเกิดขึ้นกลายเป็นผลดีต่อเทคโนโลยี Wi-Fi หากมองในอีกแง่มุม ด้วยเหตุที่ 2 เทคโนโลยีนี้สามารถเกื้อหนุนกันและกัน

* ปีแรกของ 3G เมืองไทย ท่านคิดเห็นว่าสามารถพัฒนาไปได้เพียงใด

ผมมองว่าน่าจะมีการเติบโตไปได้รวดเร็วคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีโอทีช่วงแรกที่ 3G เพิ่มจำนวนผู้ใช้ขึ้นรวดเร็วมาก ต่อไปยิ่งผู้ใช้มีความรู้ในเรื่อง 3G มากพอ ทุกคนก็จะอยากทดสอบหรืออยากลองใช้บ้าง แต่ถ้าราคาค่าบริการหรือแอร์ไทม์ของ 3Gจี ยังแพงอยู่อาจถูกเบรกจากจำนวนผู้ใช้งาน ผมเข้าใจว่าราคานี้คนที่เข้าถึงได้มีเพียง 6 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเท่านั้น คนไทยจำนวนน้อยที่สามารถจ่ายค่าบริการ 3G ในระดับเวลานี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ Edge หรือ GPRS และยังมี Hi-speed ตามบ้านที่ราคาถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งเข้าใจถึงต้นทุนของผู้ให้บริการ 3G จึงต้องตั้งราคาให้สูง ที่สำคัญหากราคาถูกมากเกิดผลกระทบกับคุณภาพ 3G อย่างแน่นอน ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศอินโดนีเซีย ราคาแอร์ไทม์ 3Gต่อเดือนของเขาต่ำมาก คือประมาณ 300 บาท แต่กลับพบว่าความเร็ว 3G ไม่ต่างจากอินเทอร์เน็ต 56k โดยเป็นบทเรียนให้บ้านเราเห็นแล้วว่าหากทำราคาให้ต่ำเกินไปคุณภาพจะลดลงตาม เพราะ 3G เป็นการเชื่อมต่อในฝันของทุกคนด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีไร้สายความเร็วสูง หากเมื่อใดที่ไม่มีอุปสรรคในเรื่องของราคา ทุกคนก็จะเข้าหาเทคโนโลยี 3G พร้อมกัน แต่เป็นธรรมชาติของโลกว่าสิ่งไหนที่สมบูรณ์แบบหรือดีมากๆ มักจะมีข้อจำกัดผมมองว่า 3G สามารถโตได้ในระดับหนึ่งจนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาทดแทน

* ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับค่าแอร์ไทม์ให้ราคาถูกลง

ภาครัฐต้องทำไปพร้อมๆ กันระหว่างอินเทอร์เน็ตแบบมีสายและไร้สาย ไม่มีทางที่จะหยุดสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ หากเรามองว่า 3G จะไปทดแทนอินเทอร์เน็ตหลักหรือแบบมีสาย เท่ากับดำเนินโครงการผิดวัตถุประสงค์ เพราะต้องทำให้คนจำนวน 80% ที่ต้องใช้แบบมีสาย เนื่องจากสามารถที่จะควบคุมคุณภาพการขยายโครงข่ายอย่างไม่มีข้อจำกัดสิ่งที่เป็นข้อจำกัดคือความถี่ โดยต้องให้อีก 20% อยู่กับโครงข่ายไร้สาย จึงจะเกิดสิ่งที่พอดีและพอเพียงกับทรัพยากรโครงข่ายที่ประเทศของเรามี

หากภาครัฐดำเนินนโยบายผิดวิธีเทคโนโลยี 3G ก็จะเจอทางตันกับความแออัดบนอากาศ แบบเดียวกับประเทศอินโดนีเซียเกิดขึ้น การไปมุ่งเน้นไร้สายหรือ 3G ทำให้คุณภาพอินเทอร์เน็ตย่ำแย่ ซึ่งเวลานั้นหาทางแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว วิธีถูกต้องคือกลับไปขยายเครือข่ายแบบมีสายอยู่ดี เวลานี้เรามีบรอดแบนด์ผ่านสายโทรศัพท์บ้านคุณภาพการใช้งานค่อนข้างดี 3G จึงมีบทบาทเข้ามาเป็นส่วนเสริมในพื้นที่ห่างไกลซึ่งสายยังเข้าไปไม่ถึง แต่ ณ จุดนั้นก็ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานหลักด้วย จึงอยากให้เทคโนโลยีไร้สายและแบบมีสายเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมกันมากกว่าที่จะแข่งขันกันเอง รัฐบาลควรกำหนดสิทธิประโยชน์เอาไว้ให้ผู้ลงทุนแบบมีสายทำโดยครอบคลุมที่สุด และถ้ามีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ธุรกรรมบนโลกออนไลน์ก็จะโตและส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นด้วย

* ข้อดีของ LTE (Long Term Evolution) ที่เป็น Generation ต่อไปของ 3G

ยุคของ LTE จะทำให้ความแออัดของช่องทางการสื่อสารของข้อมูลลดน้อยลง สามารถรองรับผู้ใช้งานบนคลื่นความถี่เดียวกันได้มากขึ้น โดยรองรับผู้ใช้ในระดับ 100 MB กระตุ้นให้มีผู้บริโภคเข้ามาสู่บริการไร้สายแบบ Mobile Broadband จำนวนสูงขึ้น อีกทั้งรองรับผู้ใช้ในปริมาณมากกว่า 3G ตลอดจน LTE มีความเร็วเฉลี่ยในระดับสูงขึ้นอีก

ผมเองมีหลักการส่วนตัวในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ว่า คนจะเลือกใช้ FTTH (Fiber To The Home) เป็นอันดับแรก สอง ADSL และสามคือ Wi-Fi หากพื้นที่นั้นไม่มี FTTH ไม่มีเอดีเอสแอลหรือไว-ไฟ ผู้ใช้จึงจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับเครือข่าย 3G ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของประสิทธิภาพกับราคา สามจีจะเหมือนเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่ถ้าจำเป็นจริงๆ คนถึงจะใช้ เช่น อยู่นอกบ้าน ไปทำงาน หรือ ทำธุรกิจข้างนอกบ้าน เป็นต้น เรียกว่าเป็นเรื่องของ anywhere แต่ถ้ามี Wi-Fi ผู้ใช้จะเลือกเป็นอันดับแรก เพราะหลังจากนี้ Wi-Fi สามารถอัพความเร็วสูงกว่า 3G ได้ที่สูงสุด 20 MB

* กรณีที่เอไอเอสขอโรมมิ่งกับทีโอทีแต่ยังไม่มีบทสรุป ท่านคิดเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

ผมมองว่าเวลานี้เอไอเอสอยู่ในฐานะเสือลำบาก เพราะไม่มีรูปแบบที่จะทดสอบ 3G เหมือนกับทรูหรือดีแทค เนื่องจากโครงข่ายที่เอไอเอสลงทุนไปเป็นย่านความถี่แบบ in-band เครื่องลูกข่ายไม่สามารถใช้งานได้ จำเป็นต้องมีเครื่องพิเศษ เพราะถึงแม้เอไอเอสจะติดตั้งไปหลายพันโหนดก็ไม่สามารถที่จะให้บริการได้อย่างเต็มที่ แตกต่างกับทรูมูฟและดีแทคที่เครื่องลูกข่ายทั่วไปแทบจะทุกยี่ห้อสามารถจะใช้งานได้ทันที ด้วยบริการ 3G ในย่านความถี่ 850 MHz ทั้งนี้ เอไอเอสยังไม่ได้ลงทุนในส่วนที่จะรองรับ 3G ลักษณะดังกล่าว จึงต้องไปขอความร่วมมือกับทีโอทีในการโรมมิ่ง การชิงไหวพริบนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่หากมองในแง่ของผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าใครจะได้สัมปทานหรือเป็นอย่างไรต่อไป หากเอไอเอสได้บริการ 3G จะเกิดการพลิกผันทางการตลาดพอสมควร เนื่องจากเอไอเอสมีฐานลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าหากไม่เป็นไปตามที่เอไอเอสมีความต้องการผลประโยชน์จะตกที่ mvno ของทีโอทีเต็มๆ แต่หากเอไอเอสได้โรมมิ่งแล้วในทางกลับกัน mvno น่าจะมีปัญหาอย่างแน่นอน

ผู้ใช้บริการคงไม่สนใจว่า mvno จะหน้าตาเป็นอย่างไร ผมเชื่อว่าหลายคนอยากให้เอไอเอสได้เข้ามาทำตลาด หรือแม้กระทั่งดีแทคและทรูมูฟเช่นเดียวกัน เนื่องด้วยโอเปอเรเตอร์ทั้งหมดจะทำให้เราได้เข้าถึง 3G อย่างเร็วที่สุด ง่ายที่สุดและสะดวกที่สุด เมื่อเกิดการแข่งขันมากขึ้น คุณภาพของ 3G จะดีขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งราคาแอร์ไทม์จะถูกลง

* เกี่ยวกับ www.adslthailand.com

ผมเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มทำงานแรกๆ เป็นคอมมูนิตี้สำหรับผู้ใช้บรอดแบนด์ ทั้งเอดีเอสแอล ไว-ไฟ 3G เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการใช้งาน การตั้งค่าอุปกรณ์ต่างๆ หรือการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต เราเป็นผู้ติดตั้งระบบทดสอบความเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่สามารถทดสอบไปทั่วโลก โดยใช้เซิร์ฟเวอร์ของเราเอง ลงทุนไปปีละประมาณ 2 ล้านบาท ในการทำบริการตรงนี้ เราเป็น test speed server ที่มีคนเข้ามาทดสอบมากที่สุด และนอกจากเข้ามาทดสอบความเร็วแล้วยังมีการรายงานปัญหาต่างๆ ของผู้ให้บริการเองที่คอยมอนิเตอร์เว็บฯ นี้ตลอดว่ายูสเซอร์รายใดมีปัญหา ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพ เราถือว่าเรามีศักยภาพมากในการเป็นชุมชนของผู้ใช้เกี่ยวกับบรอดแบนด์ ถือเป็นเว็บอันดับหนึ่งของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ในเมืองไทย เรามียอดผู้เข้าชมเว็บฯ ประมาณ 6 หมื่นคนต่อวัน ถือว่าประสบความสำเร็จเช่นกันในส่วนนี้