เอไอเอสสู้ทุกราคา “ขอให้ได้ไลเซนส์ 3.9g”

เอไอเอสสู้ทุกราคา “ขอให้ได้ไลเซนส์ 3.9G”

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เอไอเอส

เอไอเอสไม่เกี่ยงค่าเริ่มต้นประมูล3.9G สู้ทุกราคาเพื่อให้ได้ไลเซนส์มา แต่ไม่เห็นด้วยกับการประมูลสูตร N-1 และการกำหนดให้ MVNO สูงถึง 40% ขณะที่ทรูเข้าชี้แจงราคาแพงเกิน ส่วนกทช.ประชุมนัดพิเศษแก้ไขเงื่อนไขใบอนุญาต 3 ก.ค.นี้ สำหรับการคงสิทธิเลขหมายมือถืออาจล่าช้าจากการทดสอบระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ของเคลียริ่งเฮาส์

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวถึงการประมูลใบอนุญาตหรือไลเซนส์ 3G ว่า ไม่มีความเห็นเกี่ยวกับราคาเริ่มต้นการประมูลไลเซนส์ 3G หากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาของราคากลางออกมาเท่าไหร่ก็ต้องสู้ถ้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน

“เข้าใจกทช.เพราะถ้าทุกอย่างไม่โปร่งใสก็พิสูจน์ตัวเองไม่ได้ ถ้าประกาศในราชกิจจานุเบกษา 1.28 หมื่นล้านเราก็ต้องเตรียมเงินเอาไว้ ผมในฐานะผู้บริหารก็พยายามให้ได้มาซึ่งไลเซนส์”

สำหรับเม็ดเงินที่เอไอเอสเตรียมไว้สำหรับการลงทุนมือถือระบบ 3G ในย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิตรซ์อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 3 ปี

ส่วนเงื่อนไขการประมูลแบบ N-1 คือผู้เข้าประมูล 4 รายเลือก 3 ราย ประมูล 3 ราย เลือก 2 ราย ที่เหลือค่อยประมูลใหม่นั้นไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะรายที่ได้ช้ากว่าราคาอาจจะไม่เท่ารายที่ได้ก่อนก็ได้ ส่วนระยะเวลาสัมปทาน 15 ปีถือว่าน้อยไป เพราะการลงทุนไม่ว่าจะเป็นสัมปทานหรือจ่ายครั้งเดียวทุกอย่างเป็นต้นทุน

สำหรับเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้ขายส่งบริการ หรือ MVNO ผู้บริหารเอไอเอสมองว่า การกำหนดให้มี MVNO 40% ถือว่าสูงเกินไป หากเลขหมายขายไม่หมดใครจะรับผิดชอบ กทช. ควรต่ำกว่านี้หรือถ้าจะให้ดีไม่ควรกำหนดสัดส่วน MVNO

ด้านพ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. กล่าวว่า กทช. จะมีการการประชุมนัดพิเศษในวันที่ 3 ก.ค.53 เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างใบอนุญาต 3.9G โดยจะมีการเสนอปรับราคาใบอนุญาต3.9Gเป็นใบละ 1.28 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับราคาเต็มมูลค่าคลื่นความถี่จริงตามข้อเสนอในการทำประชาพิจารณ์ที่ให้รวมมูลค่าจากการโอนถ่ายลูกค่า 2G เดิมมาด้วย

ส่วนวิธีการประมูลแบบ N-1 ให้ยังคงอยู่ แต่เปลี่ยนให้ราคาใบอนุญาตใบสุดท้าย ไม่ต้องเข้ากระบวนการ N-1 ให้ประมูลกันได้เลย แต่กำหนดราคาเริ่มต้น ที่ราคาสุดท้ายของใบอนุญาตใบที่ 2 รวมถึงให้มีการกำหนดแผนคุ้มครองผู้บริโภค การทำสายด่วนร้องเรียนปัญหา วิธีป้องกันเอสเอ็มเอสขยะ การป้องกันบริษัทประกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้จากบริการ 2Gในปัจจุบัน

“ยังมีการเพิ่มเติมรายละเอียด หากเอกชนรายเดิมที่มีสัมปทาน 2G แต่ชนะประมูล 3.9G ก็ต้องทำแผนการโอนย้ายลูกค้าที่ใช้คนละคลื่นความถี่ให้ชัดว่าจะดูแลลูกค้า 2G กับ 3.9Gอย่างไร และมีการปรับรายละเอียดที่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี หากยังไม่พร้อมก็ยืดหยุ่นให้เป็นขอต่ออายุได้อีกครั้งละ 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ครั้ง”

ทั้งนี้ ในอนาคต กทช.อาจจะกำหนดให้ผู้ได้รับคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่สามารถถือครองคลื่นความถี่ได้เกิน 30 เมกะเฮิรตซ์ต่อราย เช่น กรณี ผู้ได้รับสัมปทาน 2G แต่ได้ใบอนุญาต 3.9 Gก็ต้องโอนคลื่นความถี่ 2 Gหรือส่วนที่เกินกลับไปให้บริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ไปจัดสรรให้เอกชนรายอื่นมาร่วมแข่งขัน เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นแนววิธีเดียวกับที่กทช.จะเปิดใบอนุญาติไวแมกซ์ช่วงย่านความถี่ 2.3-2.4 กิกะเฮิรตซ์

พ.อ.นที กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.53 นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เดินทางมาชี้แจงว่า ราคาเริ่มต้นการประมูล 1.28 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงเกินไป โดยราคาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 5 พันล้านบาท แต่กทช.ยังยืนยันราคาเดิมที่ 1.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งอ้างว่าราคาดังกล่าวสมเหตุผลแล้ว และขอให้ทรูฟังความเห็นของประชาชนด้วย

นายวิเชียรกล่าวถึงการคงสิทธิเลขหมายมือถือ หรือนัมเบอร์พอร์ตว่า อาจจะล่าช้าไปจากเดิมที่กำหนดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 31 ส.ค.นี้ อีกประมาณ 1-2 เดือน เพราะต้องมีการทดสอบระบบฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ของเคลียริ่งเฮาส์

อ่านแล้วนั่ง งงๆ ไหนบอกว่าการค้าเสรี เอิกๆ หากมี 3G และมี 3G ไม่ครบทุกค่ายฯ แปลกม่ะกับคำว่า " การค้าเสรี "

คิดเหมือนกันเลยครับ