ก.ไอซีที แจงข้อเท็จจริงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 15 และ 20

โฆษกกระทรวงไอซีที ชี้แจงกรณีมีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์การเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ย้ำหลักการ “ไม่รู้ ไม่ผิด”และ “ผู้ให้บริการเป็นผู้พิสูจน์”ตามมาตรฐานสากล

นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า “เนื่องจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ได้มีการประกาศใช้มาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ส่งผลให้เนื้อหาบางมาตราของกฎหมายฉบับดังกล่าวเกิดความล้าสมัยและไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน จึงเป็นเหตุผลสำคัญของการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … โดยกระทรวงไอซีทีนำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งความคืบหน้าของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาร่างกฎหมายในบางมาตรา ที่อาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการนำเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้

สำหรับหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ “ไม่รู้ ไม่ผิด” เนื้อหาของร่างกฎหมายในมาตรา 15 ระบุว่า “ผู้ให้บริการผู้ใดให้ความร่วมมือ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิด…” หลักการ คือ ให้เกิดความชัดเจนในการตีความ เน้นย้ำว่า การจะเอาผิดกับผู้ให้บริการได้ ต้องเป็นกรณีผู้ให้บริการรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของตน เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิด อีกทั้งยังเพิ่มเติมหลักการให้ผู้ให้บริการหรือผู้เป็นเจ้าของเครือข่าย หากสามารถพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดดังกล่าวและได้ปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ประกาศกำหนดขั้นตอนการแจ้งเตือนในการระงับหรือนำข้อมูลออกจากระบบแล้ว ถือได้ว่าไม่มีความผิดตามมาตราดังกล่าวนี้ ภายใต้หลักการคือ “ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้พิสูจน์ตนเอง” ว่าตนเองได้กระทำการตามกฏระเบียบของรัฐแล้ว ก็ย่อมพ้นผิด อันเป็นช่องทางให้ผู้ให้บริการให้ความร่วมมือกับรัฐในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดดังกล่าว และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ให้บริการในการประกอบกิจการ เนื่องจากการกำหนดผู้ให้บริการสามารถแสดงหลักฐานว่าตนได้ทำตามกฏและระเบียบแล้ว เนื่องจากผู้ให้บริการอยู่ใกล้ชิดกับข้อเท็จจริงมากกว่าเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองซึ่งผู้ให้บริการและประชาชนอาจไม่ไว้วางใจ

ส่วนมาตรา 20 เนื้อหากฎหมายระบุว่า “ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามวรรค 1-3 นั้นเป็นความผิดตามมูลฐานเดิมซึ่งถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายอยู่แล้ว” ส่วนที่บางคนไม่เข้าใจคือข้อความตามวรรค 4 ระบุว่า “ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน…” ยกตัวอย่างเช่น คลิปวีดิโอที่ปรากฏทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีเนื้อหาสอนให้คนฆ่าตัวตาย สอนให้ประกอบวัตถุระเบิด เนื้อหาดังกล่าวไม่เข้าข่ายที่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งไม่ควรที่จะปล่อยให้มีการเผยแพร่ในสังคมไทย สำหรับขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมาย จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองที่รัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 5 คน ซึ่งอย่างน้อย 2 ใน 5 คน ต้องมาจากตัวแทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็น ผู้พิจารณา ซึ่งต้องมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจึงเสนอเพื่อขอรับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯอีกทอดหนึ่ง แล้วจึงยื่นคำร้องพร้อมแสดงหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์

“จะเห็นว่า กรณีดังกล่าวผ่านการตรวจสอบ กลั่นกรองหลายขั้นตอน ทั้งจากคณะกรรมการกลั่นกรอง พนักงานเจ้าหน้าที่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้าย จะเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณา มีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลนั้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวผ่านการตรวจสอบโดยศาลซึ่งทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชนอีกโสตหนึ่งมากกว่าการให้พนักงานทางปกครองดำเนินการโดยใช้ดุลยพินิจซึ่งเป็นที่มาของความไม่ไว้วางใจในการใช้บังคับกฎหมายนี้มานาน การดำเนินการเหล่านี้จึงผ่านกระบวนการยุติธรรมแบบสากล ไม่ใช่พนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้ดำเนินการตามลำพังแต่อย่างใด” นายฉัตรชัยฯ กล่าว

‪#‎ไอซีที‬ ‪#‎CyberLawTH‬ ‪#‎พระราชบัญญัติฯคอมพิวเตอร์ฯ‬

2 Likes

อ่านกฎหมายแล้วบอกให้ไปดูที่เจตนารมณ์ของการร่างกฎหมายแบบนี้ ก็ไม่พ้นการตีความหรือการใช้ดุลพินิจ คนหนึ่งบอกแบบนี้ผิด อีกคนบอกไม่ผิด กว่าจะถึงศาลตัดสิน ผู้ให้บริการไม่ต้องทำมาหากิน

พอถึงเวลา เขาจะอ้างไหมว่า ขึ้นอยู่กับ “ดุลยพินิจ”

กฎหมายที่มีคำว่า ดุลยพินิจ นี้ผมละไม่เคยเข้าใจมันเลย หรือผมเองที่ผิด T^T