ไอบีเอ็มเจ๋ง ผุดไอเดีย “Virtualization” ใช้งานระบบ

ไอบีเอ็มเจ๋ง ผุดไอเดีย “Virtualization” ใช้งานระบบไอทีให้คุ้มค่า

โดย ผู้จัดการออนไลน์

ไอบีเอ็มเปิดตัว “Virtualization” ซอฟต์แวร์ที่ทำให้ระบบเซิร์ฟเวอร์ทำงานเสมือนหนึ่งระบบเมนเฟรม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบเซิร์ฟเวอร์ และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน

   บริษัทไอบีเอ็ม (International Business Machines Corp.; IBM) เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 27 เมษายน 2004 ว่า [b]“Virtualization” คือซอฟต์แวร์ที่จะถูกฝังไปกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของไอบีเอ็ม และสามารถ “โคลนนิ่ง” ตัวมันเองออกไปยังเครื่องเซิร์ฟเวอร์อื่นๆบนเครือข่ายได้ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ การเปิดทางให้ผู้ใช้เครื่องเซิร์ฟเวอร์ใดๆสามารถจัดการทรัพยากรต่างๆบนเครือข่ายได้เช่นเดียวกับการทำงานบนเครื่องเมนเฟรม[/b]
   
   ตัวอย่างเช่น เซิร์ฟเวอร์ 4 ทางจำนวน 10 ตัวบนเครือข่ายเดียวกัน ปกติเซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวจะทำงานแบบตัวใครตัวมัน ไม่สามารถแชร์พลังการประมวลผลซึ่งกันและกันได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีของไอบีเอ็ม ทำให้เซิร์ฟเวอร์ทั้ง 10 ตัวสามารถแชร์ทรัพยากรเหล่านั้นได้ทั้งหมด รวมถึงทรัพยากรอื่นๆ เสมือนหนึ่งคุณกำลังทำงานอยู่บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 40 ทาง 1 ตัว หรือในทางกลับกัน ก็เสมือนเป็นการใช้โปรเซสเซอร์ 1 ตัวต่อการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ 10 ตัว
   
   [b]แนวคิดของ “Virtualization” คือ การรวบรวมเอาทรัพยากรด้านการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์แต่ละเครื่องมากองรวมกันไว้ตรงกลาง เป็น “Pool” และเปิดทางให้ผู้ใช้สามารถนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ได้ตามเหมาะสม หรือตามความต้องการ (On-Demand)[/b]
   
   Virtualization Engine ของไอบีเอ็มจะมีการทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ “ทิโวลี” (Tivoli) และ “เว็บสเฟียร์” (WebSphere) ด้วย ตามข้อมูลจากไอบีเอ็ม
   
   [b]“ข้อดีที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ มันช่วยให้ลูกค้าสามารถนำทรัพยากรด้านไอทีที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า”[/b] ทิม โดเฮอร์ตี้ (Tim Dougherty) ผู้อำนายการฝ่ายผลิตภัณฑ์อีเซิร์ฟเวอร์ กลุ่มซิสเต็มส์และเทคโนโลยี บริษัทไอบีเอ็ม กล่าว
   
   เป็นการขยายเทคโนโลยีเมนเฟรมลงสู่สายผลิตภัณฑ์ต่างๆของไอบีเอ็ม ทำให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ได้อย่างสูงสุด เขากล่าวและว่า ปกติธุรกิจจะใช้พลังและทรัพยากรของเมนเฟรมได้ไม่เกิน 80% ส่วนใหญ่ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 40%-50%
   
   “เราหวังจะดึงพลังที่เหลืออยู่ออกมาใช้ให้หมด” โดเฮอร์ตี้กล่าว
   
   เรียกได้ว่า Virtualization Engine คืออีกหนึ่งคอมโปเนนต์ของแพลตฟอร์มออนดีมานด์ของไอบีเอ็ม [b]“มันเป็นอีกเลเยอร์หนึ่งของซอฟต์แวร์ เป็นการเพิ่มความสามารถในการจัดการภาระงานเข้าไปในซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่มีวางจำหน่ายและมีใช้งานอยู่ในปัจจุบัน”[/b] แดน คูซเน็ตสกี้ (Dan Kusnetzky) นักวิเคราะห์จากไอดีซี (IDC) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาด กล่าว
   
   เขากล่าวว่า มันเป็นชุดเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรไอทีที่ทรงพลัง ช่วยให้ต้นทุนในการดำเนินงานของผู้ใช้ลดลง ทั้งยังสามารถนำทรัพยากรไอทีที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
   
   ไอบีเอ็มไม่ได้เป็นเจ้าเดียวที่ส่งซอฟต์แวร์แนวคิด Virtualization ออกสู่ตลาด คู่แข่งอย่างเอชพี (Hewlett-Packard Co.; HP) ก็ส่งโซลูชันแบบเดียวกันนี้ออกมาเช่นกัน ไม่เว้นแม้แต่ซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems Inc.) ที่ส่งสถาปัตยกรรม N1 ออกมา โดยเน้นจับกลุ่มตลาดองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบปฏิบัติการและระบบฐานข้อมูลที่แตกต่างกันจำนวนมากและจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน