มาเลเซียเผยโครงการเอ็มเอสซีเฟส 2 นำไอซีทีสู่รากหญ้ามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดย ผู้จัดการออนไลน์
[b]ประเทศมาเลเซียมีแผนจัดตั้ง "ไซเบอร์ซิตี้" ขึ้นทั่วประเทศใน 6 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไอซีที และกระจายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสู่รากหญ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามการเปิดเผยของรัฐบาลมาเลเซีย[/b]
"ไซเบอร์ซิตี้" คือเฟสที่ 2 ของโครงการมัลติมีเดียซูเปอร์คอร์ริดอร์ หรือเอ็มเอสซี (Multimedia Super Corridor; MSC) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกัวลาลัมเปอร์ ปัจจุบันมีบริษัทต่างๆเข้าร่วมในโครงการมากกว่า 1 พันแห่ง, มีเจ้าหน้าที่ประจำมากกว่า 20,000 คน และมีมูลค่ากว่า 6.5 พันล้านริงกิต (ประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท)
เอ็มเอสซีตั้งอยู่ใน ไซเบอร์จายา มีบทบาทเป็นศูนย์กลางสินค้าและบริการด้านมัลติมีเดีย และเป็นผลงานการสร้างสรรค์ของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ที่ต้องการเปลี่ยนมาเลเซียให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2020
[b]วัตถุประสงค์ของเฟสแรกคือ การดึงดูดบริษัทไอทีต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศมาเลเซีย และกระตุ้นอุตสาหกรรมการพัฒนาซอฟต์แวร์[/b]
"ก้าวต่อไป" ของเอ็มเอสซี คือช่วงปี 2004-2010 จะมุ่งที่การจัดตั้งศูนย์ไฮเทคลักษณะเดียวกับไซเบอร์จายา ตลอดทั่วประเทศมาเลเซีย อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าว
"สิ่งนี้จะทำให้เศรษฐกิจของมาเลเซียดีขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจในชนบทหรือรากหญ้า รวมถึงกระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่างๆทั่วประเทศมีความคึกคักมากขึ้น" เขากล่าวและว่า "สิ่งนี้ยังช่วยลดปัญหาดิจิตอลดีไวด์ที่เกิดขึ้นในประเทศของเราด้วย"
ในเบื้องต้น รัฐบาลมาเลเซียจะตั้ง "มินิเอ็มเอสซี" ขึ้นในบายานลีบาส, ปีนัง และเขตอุตสาหกรรมคูลิมในเคดาห์ ส่วนไซเบอร์ซิตี้และไซเบอร์เซ็นเตอร์อื่นๆ จะมีการประกาศออกมาในภายหลัง
"สุดท้าย ไซเบอร์ซิตี้และไซเบอร์เซ็นเตอร์ทั้งหมดจะถูกเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย มีการทำงานร่วมกัน เป็นการซินเนอจี โดยมีไซเบอร์จายาเป็นศูนย์กลาง" บาดาวีกล่าว
[b]เฟสที่ 2 จะมีการเชื่อมเมืองและเขตต่างๆนอกไซเบอร์จายาเข้าด้วยกันเป็นโครงข่าย โดยเฉพาะสถานอนามัยและโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถใช้โปรแกรมการรักษาทางไทล "เทเลเฮลธ์" (tele-health) ได้[/b]
การตรวจเลือด, เอ็กซ์เรย์ และกิจกรรมทางการแพทย์อื่นๆ จะสามารถส่งข้อมูลเบื้องต้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อวิเคราะห์และรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า, เร็วกว่า และดีกว่า
"ด้วยแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ เราสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความสำคัญของเทคโนโลยี พวกเขาจะเข้าใจว่าแท้จริงแล้วเอ็มเอสซีคืออะไร และทำไมรัฐบาลถึงสนับสนุนอย่างที่สุดให้ใช้คอมพิวเตอร์และไอซีที" บาดาวีกล่าว
สำหรับโครงการ "สมาร์ทสคูล" (smart school) มีการเปลี่ยนแผนเล็กน้อยเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนไฮเทคที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บแอพพลิเคชั่นเป็นสื่อการเรียนการสอน จากการก่อสร้างใหม่ทั้งหมดมาเป็นการอัพเกรดโรงเรียนที่มีอยู่แล้วกว่า 10,000 แห่งให้กลายเป็น "สมาร์ทสคูล" ภายในปี 2005
"การสร้างโรงเรียนใหม่ต้องใช้งบกว่า 30 ล้านริงกิต (ประมาณ 321 ล้านบาท) ซึ่งจะถูกกว่า หากเปลี่ยนเป็นวิธีอัพเกรดโรงเรียนที่มีอยู่แล้วด้วยไอซีทีให้กลายเป็นสมาร์ทสคูล"
ปัจจุบันมีโรงเรียนอยู่ 87 แห่งที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างภายใต้โครงการสมาร์ทสคูล ซึ่งบาดาวีกล่าวว่า ทั้ง 87 แห่งจะยังดำเนินต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ
เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวกับเอเอฟพีว่า เฟส 2 ของเอ็มเอสซีจะทำให้ชาวมาเลเซียเข้าใจว่าไอซีทีให้ประโยชน์อะไรกับชีวิตประจำวันของพวกเขาได้บ้าง
"ชาวเมเลเซียจำนวนมากมองเอ็มเอสซีว่าเป็นโครงการเพื่อกลุ่มไฮโซ ซึ่งรัฐบาลต้องการทำความเข้าใจและแสดงให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิด เอ็มเอสซีเพื่อทุกคน"
ตั้งแต่ก่อตั้งมา เอ็มเอสซีจดสิทธิบัตรใหม่แล้วกว่า 151 ชิ้น, ดีไซน์ 41 ชิ้น และเครื่องหมายการค้าอีก 188 ชิ้น จามาลัดดิน จาร์จิส (Jamaluddin Jarjis) รมว.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ประเทศมาเลเซีย กล่าวและว่า ปัจจุบันเมเลเซียมีบัณฑิตใหม่สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และการสื่อสารเกิดขึ้นกว่า 40,000 คนในแต่ละปี
เอ็มเอสซีมีตำแหน่งงาน 19,000 ตำแหน่ง, ส่งออกด้านไอซีที 1.2 พันล้านริงกิต (ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท) และมีงบประมาณสำหรับงานอาร์แอนด์ดี (research and development) 419 ล้านริงกิต (ประมาณ 4.5 พันล้านบาท)