"บรอดแบนด์"ล้านพอร์ตเหลว เอกชน-รัฐเชื่อนโยบายไม่ถึงฝั่ง
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 มิถุนายน 2547
[b]นโยบายบรอดแบนด์ล้านพอร์ตภายในปีนี้ของกระทรวงไอซีทีแนวโน้มเหลว ทั้งเอกชนและรัฐเชื่อโอกาสเป็นไปได้ยาก เต็มที่ได้แค่แสนพอร์ต[/b] ขณะที่การให้บริการผ่านเครือข่ายของการไฟฟ้ายังไม่ได้ข้อสรุป เผยทางเลือกคือต้องใช้คลื่นความถี่แต่ยังเป็นทางตัน เพราะกทช.ยังไม่เกิด ด้านเคเอสซีประกาศนโยบายจับกลุ่มพรีเมี่ยม ไม่แข่งราคา
จากนโยบายของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ที่จะผลักดันให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ทั้งบริการของภาครัฐและเอกชนรวมกันให้ได้ 1 ล้านพอร์ตภายในปีนี้ แนวโน้มมีความเป็นไปได้อยาก [b]เพราะจนถึงขณะนี้การดำเนินการของภาครัฐยังไปไม่ถึงไหน[/b]
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.) กระทรวงไอซีทีได้มีการหารือกับกสท โทรคมนาคม ทศท คอร์ปอเรชั่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อหาข้อสรุปในการเช่าใช้เครือข่ายไฟเบอร์ออปติกในการให้บริการบรอดแบนด์ เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการลงทุน โดยมีน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีกระทรวงไอซีทีเป็นประธาน แต่การหารือยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากอัตราค่าเช่าของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน โดยกฟผ.คิด 1,900 บาทต่อคอลล์ต่อกิโลเมตรต่อเดือน กฟภ.คิด 1,500 บาทต่อคอลล์ต่อกิโลเมตรต่อเดือน กฟน.คิด 3,000 บาทต่อคอลล์ต่อกิโลเมตรต่อเดือน
น.พ.สุรพงษ์เห็นว่าเมื่อค่าเช่ามีความแตกต่างกัน ควรจะต้องมีราคากลางเพื่อความเหมาะสม และจะมีการหารือเพื่อหาข้อสรุปอีกครั้งประมาณปลายเดือนมิ.ย.นี้
นอกจากแนวทางการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านเครือข่ายของการไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวเดินหน้าไปได้เร็ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแล้ว ยังไม่มีแนวทางอื่นที่จะผลักดันนโบบายบรอดแบนด์ล้านพอร์ตไปถึงเป้าหมาย
[b]"ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการบรอดแบนด์โดยรวมประมาณ 4 หมื่นราย ถ้าจะติดตั้งจริงๆ ให้ได้ล้านพอร์ตต้องติดตั้งวันละ 3 หมื่นพอร์ต ในความเห็นส่วนตัวแล้วสิ้นปีนี้ถ้าโตได้ 2-3 เท่าก็น่าพอใจแล้ว"[/b] นายต่อบุญ พ่วงมหา รองประธานฝ่ายบรอดแบนด์ บริษัท เค เอส ซี คอมเมอร์เชียล อินเตอร์เนต จำกัด กล่าว
[b]มีทางเลือกแต่ยังเป็นทางตัน[/b]
นายสมพล จันทร์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกลยุทธ์องค์กร กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า นโยบายบรอดแบนด์ล้านพอร์ตทางกระทรวงไอซีทีก็พยายามผลักดันเต็มที่ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ยังไม่แน่ใจ [b]เพราะนโยบายดังกล่าวต้องการให้เอกชนดำเนินการเพียง 2 แสนพอร์ต ที่เหลือรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่หากจะทำให้ตรงนี้บรรลุเป้าหมาย ก็ต้องติดตั้งให้ได้วันละ 3 หมื่นพอร์ต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย[/b] ทางกระทรวงไอซีทีจึงพยายามหาแนวทางอื่นที่จะทำให้การดำเนินการเดินหน้าไปได้เร็ว
"ถ้าหากนับเป็นพอร์ตจริงๆ ผมว่าปีนี้คงได้ประมาณแสนกว่าพอร์ต" นายสมพลกล่าวและว่า อีกทางหนึ่งที่จะทำให้บรอดแบนด์ให้บริการได้เร็วคือการใช้คลื่นความถี่ โดยการติดตั้งระบบไร้สาย แต่ความถี่ที่เหมาะสมกับการให้บริการประเภทนี้คือ ย่าน 2.4 กิกะเฮิรตซ์ กับ 3-5 กิกะเฮิรตซ์ แต่ย่านความถี่ 2.4 กิกะเฮิรตซ์ บริษัท รูเริ่ล เทเลโฟนได้สิทธิ์ในการนำไปให้บริการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท หรือทีดีเอ็มเอแล้ว ส่วนย่านความถี่ที่เหลือยังอยู่ที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ ต้องรอให้คณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกทช.เกิดก่อน เพราะถือเป็นบริการใหม่
[b]ทิศทางบรอดแบนด์แนวโน้มโตเร็ว[/b]
นายต่อบุญกล่าวถึงทิศทางบรอดแบนด์ในไทยว่า ภาพรวมค่อนข้างจะโตเร็ว และขณะนี้ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเริ่มให้ความสนใจมาก นอกจากนี้ กระทรวงไอซีทีก็ให้ความสำคัญ ซึ่งจะเห็นได้จากนโยบายที่จะให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีของไทย ที่จะทำให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี หรือสิงคโปร์
นอกจากนี้ ตลาดเริ่มมีการตอบรับที่ดี แต่เครือข่ายต้องมีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ให้บริการที่ผ่านสายเคเบิลคือกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ทีทีแอนด์ทีให้บริการในต่างจังหวัด และทศทให้บริการทั่วประเทศ
อีกปัจจัยที่ทำให้บรอดแบนด์โตเร็วคือเรื่องของราคาที่ลดลง เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายเริ่มใช้กลยุทธ์ราคาในการแข่งขัน
[b]"การแข่งขันของตลาดโดยรวมยังมีความรุนแรง เพราะผู้ให้บริการแต่ละรายต้องการที่จะให้มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น กลยุทธ์สำคัญก็คือเรื่องของราคา จนทำให้เกิด Price War ขึ้น แต่เคเอสซีจะไม่แข่งเรื่องราคา"[/b]
[b]เคเอสซีโฟกัสกลุ่มพรีเมี่ยม [/b]
[b]สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ของเคเอสซีจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลักคือ 1.ความเป็นพรีเมี่ยม ซึ่งประกอบด้วยความน่าเชื่อถือ และความเร็วหรือไฮสปีด ความสะดวกสบายในการใช้งาน และคุณภาพของการบริการหลังการขาย 2.คุณค่าหรือแวลูที่ให้กับลูกค้า แต่ไม่ใช่เรื่องของราคา จะเน้นในเรื่องของความคุ้มค่าเป็นหลัก 3.กลยุทธ์ด้านราคา ซึ่งเป็นกลยุทธ์สุดท้ายที่จะใช้[/b]
ส่วนกลุ่มเป้าหมายมีด้วยกัน 4 กลุ่มคือ 1.ลูกค้าต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการใช้ไม่ว่าจะเป็นอีเมล วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ซึ่งคนเหล่านี้ไม่สนใจเรื่องราคาว่าจะถูกหรือแพง เพียงแต่ให้ตอบสนองความต้องการได้เท่านั้น 2.กลุ่มผู้บริหารระดับสูง ที่มีการเข้าระบบออนไลน์เป็นประจำ และเข้าใจเรื่องอินเทอร์เน็ตเป็นอย่างดี 3.กลุ่มคนทั่วไปที่เป็นครอบครัวที่ต้องการคุณภาพจริงๆ และไม่เน้นเรื่องราคา 4.กลุ่มสมอล ออฟฟิศ และโฮม ออฟฟิศหรือโซโฮ และเอสเอ็มอี เพราะเป็นอีกกลุ่มหนี่งที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ สิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้เลือกคือคุณภาพที่ได้ตามความต้องการ