โต้คลื่นอี-คอมเมิร์ซรอบใหม่ เน้นการต่อยอดธุรกิจ

โต้คลื่นอี-คอมเมิร์ซรอบใหม่ เน้นการต่อยอดธุรกิจ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 31 พฤษภาคม 2547 18:01 น.

   [b]คนวงการไอทีเชื่อการกลับมาของอี-คอมเมิร์ซรอบใหม่ทั้งไทยและเทศ มั่นใจสิ้นปีนี้คึกคักแน่[/b] เพราะผู้ประกอบการได้เรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต และนำมาปรับใช้ โดยเน้นการทำธุรกิจแบบต่อยอดเป็นหลัก ขณะเดียวกันมีบรอดแบนด์และเครือข่ายที่มีศักยภาพมากขึ้นเป็นตัวหนุน 
   
   นายยอดชาย แก้วเพ็ญศรี ที่ปรึกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ด้านอี-คอมเมิร์ซ และอดีตรองประธาน บริษัท บีสไดเมนชั่น จำกัด ผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-มาร์เก็ตเพลส เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซว่า ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซทั่วโลกขณะนี้กระเตื้องขึ้นมาก รวมทั้งเรื่องโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตก็เริ่มทำกันมากขึ้นด้วย
   
   ส่วนที่เป็นเว็บไซต์ประเภทเสิร์ชเอนจิ้นอย่างกูเกิล ยาฮูที่สามารถทำรายได้เลี้ยงตัวเองมาได้ พอมีคนเข้าไปใช้จำนวนมาก เว็บไซต์เหล่านี้ก็เริ่มต่อยอดธุรกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองมากขึ้น ขณะที่การให้บริการแบบเสิร์ชเอนจิ้นก็ยังเลี้ยงตัวเองได้เหมือนเดิม
   
   [b]"ขณะนี้ผู้ประกอบการที่ทำมาหากินกับดอทคอมกำลังพัฒนาธุรกิจให้เป็นอินเทอร์เน็ต มาร์เก็ตติ้ง ที่มีการทำตลาดอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่พวกเสิร์ชเอนจิ้นจะได้เปรียบผู้ให้บริการในรูปแบบอื่น เพราะมีข้อมูลมากอยู่แล้ว แค่เรียบเรียงให้ดีเท่านั้น นอกจากนี้ พอมีคนใช้มากก็เริ่มมีการเก็บค่าสมาชิก ทำให้มีรายได้เพิ่มอีกทางด้วย"[/b]
   
   อย่างไรก็ตาม ภาพโดยรวมแล้ว ธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตเริ่มจะกลับมา อย่างรอบปีนี้มีผู้สำรวจตลาดแล้วพบว่า การทำโฆษณาผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 23 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องฮือฮาอีกรอบ 
   
   [b]ขณะเดียวกันก็มีเรื่องของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์เข้ามาเป็นตัวเสริม อย่างยุโรป ญี่ปุ่น หรือเกาหลีจะเห็นได้ชัดเจนว่าสื่อที่เป็นบรอดแบนด์ได้เข้าไปเสริมธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้มีศักยภาพมากกว่าการทำอี-คอมเมิร์ซในอดีตที่ความเร็วค่อนข้างช้า[/b]
   
   "คนที่จะเข้ามาทำอี-คอมเมิร์ซรอบไม่ ก็จะมองโมเดลที่กว้างขึ้น จากเดิมที่หวังแค่โฆษณาประเภทแบนเนอร์ หรือคอนเทนต์ก็จะเน้นการทำธุรกิจแบบต่อยอดหรือเป็นออนไลน์เซอร์วิส"
   
   [b]อี-คอมเมิร์ซไทยตามต่างชาติติดๆ[/b] 
   
   สำหรับประเทศไทยในสายตาของยอดชายเชื่อว่า คงตามแนวโน้มต่างประเทศไปติดๆ เพราะจะเห็นได้จากการให้บริการบรอดแบนด์ซึ่งจะเป็นตัวเสริมการทำอี-คอมเมิร์ซในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 300% เนื่องจากค่าบริการที่ถูกลง เพราะกระทรวงไอซีทีมีนโยบายให้ทศท คอร์ปอเรชั่นให้บริการในราคาที่ต่ำกว่า 1,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการเอกชนต้องทำราคาต่ำลงด้วย เช่น 500 บาทต่อเดือน หรือ 900 บาทต่อเดือนเป็นต้น ขณะที่ผู้ใช้พอใจที่จะใช้ และมีกำลังที่พอจะจ่ายได้
   
   "ผู้ที่ทำอี-คอมเมิร์ซในไทยได้มีการเรียนรู้จากประสบการณ์และความ ผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา ที่ล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว ซึ่งทำให้เริ่มรู้ทางว่าจะทำอย่างไร เชื่อว่าอี-คอมเมิร์ซไทยคงคึกคักตามเขาไปด้วย"
   
   นายยอดชายกล่าวว่า ผู้ประกอบการอย่างทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ให้บริการบรอดแบนด์ ขณะนี้เริ่มมีการร่วมมือกับพันธมิตรหลายๆ ฝ่าย โดยเฉพาะผู้ให้บริการเนื้อหาสาระหรือคอนเทนต์ ที่มีการพัฒนาเนื้อหาสเพื่อให้บริการผ่านบรอดแบนด์มากขึ้น
   
   "ขณะนี้เรื่องของอินเทอร์เน็ตหรือออนไลน์เริ่มมีสีสันมากขึ้น ประมาณปลายปีนี้คงมีผู้ให้บริการใหม่ๆ ให้เราเป็นตัวเลือกมากขึ้น" เขากล่าวและว่า [b]อี-คอมเมิร์ซคงกลับมาสู่การเริ่มใหม่ แต่ไม่ใช่นับหนึ่งใหม่ เพราะผู้ประกอบการมีประสบการณ์มาแล้ว ทั้งที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว และไม่ประสบความสำเร็จ[/b] นอกจากนี้ ตลาดก็เริ่มมีความพร้อมเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต และเครือข่ายก็มีศักยภาพมากขึ้น เพราะขณะนี้ทุกตำบลมีอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่บางองค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต.ที่โทรศัพท์ยังไปไม่ถึง ภายในปีหน้าทุกหมู่บ้านต้อมีอินเทอร์เน็ตใช้ เนื่องจากทศทมีนโยบายที่จะขยายเลขหมายโทรศัพท์ในโครงการ 5.6 ล้านเลขหมาย
   
   [b]"ในอนาคตการต่อสายโทรศัพท์ไม่ใช่แค่พูดคุยกันอย่างเดียว ต้องใช้เครือข่ายให้คุ้มค่ามากขึ้น เพราะกลุ่มผู้ใช้ก็มีหลากหลายขึ้น ซึ่งตรงนี้อาจจะทำอี-มาร์เก็ตเพลสได้ด้วย และต่อไปอาจจะเรียกว่าเป็นการให้บริการผ่านเครือข่ายแทนบริการโทรศัพท์"[/b]