ไมโครซอฟท์ แนวร่วมปฏิรูปเมนเฟรม

โดย ผู้จัดการออนไลน์

  [b]ไมโครซอฟท์ (Microsoft) พุ่งเป้าเมนเฟรม (Mainframe) ประกาศจับมือผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ภาษา COBOL ชั้นนำ ไมโครโฟกัส อินเตอร์เนชันเนล (Micro Focus International) ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชันทางธุรกิจบนเครื่องเมนเฟรมให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถย้ายมารันบนแพลตฟอร์มของวินโดวส์ (Windows) ได้ หวังใช้เป็นจุดเด่นเรื่องความประหยัด เพราะไม่ต้องเสียไปกับการซื้อเมนเฟรมเพื่อมาใช้รันเมนเฟรมซอฟต์แวร์[/b]
   
   เพราะความที่ผู้ใช้งานเมนเฟรมส่วนใหญ่ต่างต้องหมดเงินจำนวนมากไปกับระบบ เพื่อต้องการให้ระบบสามารถประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นานวันเข้าพวกเขาจึงคิดอยากลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ด้วยการย้ายแอปพลิเคชันทั้งหมดไปยังแพลตฟอร์มใหม่ๆ
   
   หลายบริษัทที่ใช้เทคโนโลยี .NET ของไมโครซอฟท์ สามารถย้ายเวิร์กโหลด (workload) จากเครื่องเมนเฟรมไปยังแพลตฟอร์มของฮาร์ดแวร์ตัวอื่นๆ หรือแพลตฟอร์มของ วินโดว์ เซิร์ฟเวอร์ ที่ราคาถูกกว่าเมนเฟรมได้
   
   ดั้งนั้นการเปลี่ยนแปลงในตัวแอปพลิเคชันบนเครื่องเมนเฟรมครั้งนี้ จึงเป็นการปรับให้สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น และยังสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ตามการยืนยันของไมโครโฟกัสฯ 
   
   ลาน อาร์ชเบล (Ian Archbell) รองประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ของไมโครโฟกัสฯ ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงบนเมนเฟรมว่า "จริงๆแล้ว เมนเฟรมเป็นแพลตฟอร์มที่ดีและนิยมใช้กันมานาน ข้อมูลกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลกถูกเก็บไว้ในเมนเฟรม แต่ข้อเสียของเมนเฟรมอยู่ตรงที่ราคาแพง แถมยังค่อนข้างยุ่งยากในการจัดการข้อมูล"
   
   สิ่งที่ทั้งไมโครซอฟท์และไมโครโฟกัสฯ ทำครั้งนี้นั้น จะทำให้ธุรกิจทั้งหลายสามารถโยกย้ายแอปพลิเคชันไปรันในฮาร์ดแวร์ที่ราคาต่ำลงได้โดยไม่ต้องปิดระบบที่เชื่อมต่ออยู่กับเมนเฟรมเลยด้วยซ้ำ 
   
   อาร์ชเบลกล่าวว่า "เรากำลังพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้แอปพลิเคชันบนเมนเฟรมสามารถรันบนแพลตฟอร์มฮาร์ดแวร์ที่ไมโครซอฟท์ร่วมกันพัฒนากับอินเทล (Intel) ได้ พร้อมๆกับการพัฒนาแอปพลิเคชันช่วยย้ายระบบ (server migration applications)" 
   
   [b]ปรับประสิทธิภาพให้เมนเฟรม[/b] 
   
   ประชาสัมพันธ์ของไมโครโฟกัสฯ เกลนน์ โบเยท (Glenn Boyet) เน้นย้ำว่า เป้าหมายสำคัญไม่ใช่การยุให้ธุรกิจตัดขาดเมนเฟรม แม้ว่าเขาจะบอกว่าการใช้งานเมนเฟรมเสี่ยงต่อการเคลื่อนย้ายเพราะความแตกต่างกันในเรื่องคอร์โปรเซสเซอร์ก็ตาม 
   
   โบเยทกล่าวกับนิวส์แฟคเตอร์ (NewsFactor) ว่า "เราต้องการเพิ่มประสิทธิภาพให้เมนเฟรมในเรื่องความยืดหยุ่น ให้แอปพลิเคชันที่มีอยู่นั้นสามารถใช้งานร่วมกันได้โดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโค้ด และสามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปยังแพลตฟอร์มที่ราคาถูกกว่าเมนเฟรมได้" 
   
   เหล่านี้จะทำให้บริษัททั้งหลายสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนฮาร์ดแวร์ลงได้ โดยที่สามารถสร้างระบบจัดการฐานข้อมูลของธุรกิจที่มีประสิทธิภาพได้ดีขึ้นกว่าเดิม "เรามองเห็นกลุ่มตลาดที่ใหญ่พอสมควร กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ต้องการจะยกมาตรฐานการทำงานของแอปพลิเคชันเดิม" 
   
   [b]ขยายฐานธุรกิจ[/b]
   
   ไมโครโฟกัสฯ นั้นทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์การจัดการทางธุรกิจของเครื่องเมนเฟรม ผลงานที่ผ่านๆมามีการพัฒนาแอปพลิเคชันภาษา CICS/COBOL ให้สามารถรันบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แน่นอนว่าหากการพัฒนาครั้งนี้สำเร็จ ไมโครโฟกัสฯจะสามารถขยายฐานกิจการออกไปถึง .NET Framework และ SQL Server 2000 ไม่เว้นโปรแกรมภาษา XML หรือแม้แต่บริการ Web services ทั้งหลาย 
   
   หลายๆฝ่ายมองว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของไมโครซอฟท์ เป็นแผนการขยายฐานไปยังกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ หลังจากที่ส่ง Advanced Server ออกมาเขย่าตลาดได้สำเร็จ และครั้งนี้จะเป็นอีกกลยุทธ์ที่ไมโครซอฟท์งัดออกมาต่อกรกับลินุกซ์ (Linux) 
   
   [b]เมนเฟรมยังคงสำคัญ[/b]
   
   อย่างไรก็ตาม เมนเฟรมจะยังคงเป็นแกนหลักในศูนย์กลางการประมวลผลข้อมูลต่อไป แม้แนวคิด grid และ cluster computing จะมาแรงมากในขณะนี้ก็ตาม 
   
   ล่าสุดไอบีเอ็ม (IBM) ก็เพิ่งเปิดตัว [b]eServer zSeries 890[/b] เป็นเมนเฟรมที่ออกแบบมาสำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ส่วนบริษัทอย่าง Compuware ก็พัฒนาซอฟต์แวร์ที่รองรับเมนเฟรมออกมาอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้ทำให้แน่ใจได้ว่า เมนเฟรมจะไม่สูญพันธ์ง่ายๆแน่นอน
   
   แม้นักวิเคราะห์บางรายจะไม่คิดว่า การเชื่อมต่อระหว่างเมนเฟรมกับวินโดวส์นั้นจะเป็นผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงของเมนเฟรมในอนาคตข้างหน้า และยังมีบางรายที่คิดว่า การเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันไปมา อาจจะสร้างความยุ่งยากให้กับธุรกิจก็เป็นได้