ทรูเทคโอเวอร์’ยูบีซี-อินเตอร์เน็ตเคเอสซี’
7 พฤศจิกายน 2548 15:24 น.
ทรูเทคโอเวอร์’ยูบีซี-อินเทอร์เน็ตเคเอสซี’ ลดความทับซ้อนและขัดแย้งกันในกลุ่มธุรกิจ เตรียมนำยูบีซีออกจากตลาดหลักทรัพย์ต้นปีหน้า
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ทรูได้เข้าซื้อหุ้นของยูบีซี จากบริษัท เอ็มไอเอช (MIH) ที่ถืออยู่ 30% และจะจัดทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ เพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 30% ในเดือนมกราคม 2549 ในราคา 26.50 บาทต่อหุ้น เพื่อทำให้ทรูเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของยูบีซี
จากเดิมที่ทรูมีหุ้นในยูบีซีอยู่แล้ว 40% โดยจะใช้เงินในการซื้อหุ้นครั้งนี้ 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินกู้จากดอยช์แบงก์ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินสด 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นจะถอนยูบีซีออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในไตรมาสแรกปี 2549
นอกจากนี้ ทรูยังซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอ็มเคเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท อินเทอร์เน็ตเคเอสซี จำกัด ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ในไทย โดยใช้เงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อจากบริษัท เอ็มไอเอช ผู้ถือหุ้นใหญ่เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เอ็มไอเอช บริษัทสัญชาติแอฟริกาใต้เหลือเพียงธุรกิจให้บริการข้อมูลผ่านบริษัท เอ็มเว็บ เท่านั้น
สำหรับสาเหตุการซื้อหุ้นและเทคโอเวอร์ยูบีซีเคเอสซีครั้งนี้ นายศุภชัย กล่าวว่า เนื่องจากทรูต้องการลดความทับซ้อนและขัดแย้งกันในกลุ่มธุรกิจ อีกทั้งยังสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจทั้งกลุ่ม โดยเฉพาะบริการบอร์ดแบนทีวีที่ทับซ้อนกับยูบีซี หากทรูเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งหมดจะทำให้การเจรจาธุรกิจและบริหารตุ้นทุนได้ง ่าย โดยเฉพาะการซื้อข้อมูลเพื่อนำมาให้บริการ
ส่วนอินเทอร์เน็ตเคเอสซี และทรู อินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้งคู่ จะต้องเหลือเพียงชื่อเดียวในอนาคต โดยปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเคเอสซีมีความแข็งแกร่งในตลาดต่างจังหวัด ขณะที่ทรูอินเทอร์เน็ตแข็งแกร่งในกรุงเทพฯ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ยืนยันว่าการเข้าซื้อหุ้นทั้ง 2 บริษัทครั้งนี้จะไม่ทำให้ทรูประสบปัญหาทางการเงินแน่นอน แม้ว่าขณะนี้สถานะของทรูจะยังมีสัดส่วนหุ้นอยู่สูงก็ตาม ส่วนยูบีซีถือเป็นธุรกิจที่ไม่มีหนี้สิน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องแจ้งให้บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้สัมปทานรับทราบต่อไป แต่มั่นใจว่า อสมท จะเห็นด้วยอย่างแน่นอน
ทรูเริ่มเจรจากับเอ็มไอเอชมาตั้งแต่กลางปี และยืนยันว่าเจรจาซื้อขายหุ้นกันได้ด้วยดี ที่ความพึงพอใจของราคาหุ้น ส่วนสาเหตุที่ทรูไม่ซื้อเอ็มเว็บซึ่งเป็นธุรกิจบริการข้อมูลมาด้วย เพราะทรูมุ่งไปเป็นผู้ให้บริการเข้าถึงเครือข่ายมากกว่า ทรูจะไม่ทำข้อมูลทั้งหมด นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า การเทคโอเวอร์ครั้งนี้ถือเป็นการคอนเวอร์เจนท์ธุรกิจตามทิศทางกระแสโลก ซึ่งทรูต้องการคอนเวอร์เจนท์ธุรกิจสื่อสารและและธุรกิจมีเดียเข้าด้วยกัน และยังต้องการปรับยุทธศาสตร์ของกลุ่มให้ครอบคลุมทุกธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม โดยยังเหลือธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 หรือ 3 จี พร้อมไวร์-แม็กซ์ ซึ่งเป็นบริการสื่อสารไร้สาย และธุรกิจเกตเวย์ ที่ทรูต้องการขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อไป
ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/2005/11/07/w…p?news_id=50266